วิทยาเขตสีเขียวกินได้ @ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ครั้งแรกที่มีโอกาสรู้จักอาจารย์พาสินีหรือรศ.พาสินี สุนากร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็คือการรู้จักผ่านผลงานแผ่นปลูกพืชบนหลังคา ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ยังเน้นใช้ไม้ประดับทั่วไปเป็นหลัก จนอาจารย์เริ่มหันมาสนใจเรื่องการปลูกพืชผักกินได้บนดาดฟ้า และได้เป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง ที่ได้รับทุนเมื่อปี 2555 ตอนนั้นอาจารย์ทำโครงการสวนผักบนหลังคา ใช้พื้นที่บนดาดฟ้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาทำสวนผัก มีนักศึกษาและเจ้าหน้าที่มาช่วยกันทำ ยังจำได้ว่า วันนั้นที่ขึ้นไปยืนบนดาดฟ้ากับอาจารย์ รู้สึกประทับใจในความเติบโตของพืชผักที่งอกงามอยู่บนตึกเป็นอย่างมาก ที่สำคัญสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ ยังมีการออกแบบและนำนวัตกรรมทั้งเรื่องแผ่นปลูกพืชบนหลังคา และการทำสวนผักแนวตั้งมาใช้ แถมยังมีการวางระบบน้ำที่หมุนเวียนน้ำฝน และน้ำจากเครื่องปรับอากาศ มารดน้ำผักอีกด้วย

มาวันนี้ แม้ว่าจะหมดงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสวนผักคนเมือง อาจารย์พาสินีไม่เพียงยังคงทำสวนผักบนหลังคาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่อาจารย์ยังชวนเพื่อนร่วมงานที่สนใจ อย่างผศ.มล.ดร.วุฒิพงษ์ ทวีวงษ์ และ Dr.Sigit Arifwidodo มาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองในมหาวิทยาลัยต่อ โดยอาจารย์และทีม ได้ช่วยกันทำโครงการการสร้างวิทยาเขตสีเขียวกินได้ : การวิจัยเพื่อจัดทำแนวทางการทำเกษตรในเมืองภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ขึ้น

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 58 ที่ผ่าน มีโอกาสได้ไปร่วมฟังอาจารย์พาสินีเล่าให้ฟังถึงโครงการที่ทำ ในงานสัมมนาวิชาการปลูกบ้าน ปลูกเมือง ปลูกชีวิต ที่โครงการการสร้างวิทยาเขตสีเขียวกินได้จัดขึ้น ก็รู้สึกชื่นชมในสิ่งที่ทั้งอาจารย์และทีมได้ช่วยกันทำเป็นอย่างมาก

อาจารย์พาสินีได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการให้ฟังว่า โครงการนี้ตั้งใจจะทำเพื่อศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ว่างของมหาวิทยาลัยสำหรับการทำเกษตรในเมือง ถ่ายทอด เผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านการทำเกษตรในเมืองให้คนในมหาวิทยาลัย และช่วยกันสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบในการทำเกษตรในเมืองให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งหวังว่าประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรทำจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปขยายผล หรือประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆได้ต่อไป

สิ่งที่โครงการทำก็มีตั้งแต่การทบทวนเอกสาร กรณีศึกษา มีการสำรวจพื้นที่ว่างที่มีศักยภาพในการทำเกษตรในเมือง มีการสัมภาษณ์ข้อมูลจากนิสิต อาจารย์ บุคลากรในมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องความนิยมในการบริโภคผัก ชนิดผักที่ชอบ ความต้องการเชิงปริมาณ รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับโครงการผักอินทรีย์ปลอดสารพิษที่ปลูกและขายในมหาวิทยาลัย เมื่อทำการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ก็มีการคัดเลือกพื้นที่ที่จะทำโครงการนำร่อง และช่วยกันพัฒนาสวนผัก ตลอดจนมีการจัดกิจกรรม จัดอบรมเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ที่สนใจ

จากพื้นที่สวนผักบนหลังคา ดาดฟ้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตอนนี้หากใครไปเยือนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ก็จะพบว่าพื้นที่สีเขียวกินได้นี้ ได้เติบโตและงอกงามขึ้นตามจุดต่างๆของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณระเบียงอาคารและโรงอาหาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ,บริเวณอาคารจอดรถยนต์งามวงศ์วาน 1-2 ซึ่งทำเป็นผนังสีเขียวไม้เลื้อยกินได้ ,บริเวณซุ้มทางเดินริมถนนจันทรสถิตย์ ,บริเวณสำนักหอสมุด ดาดฟ้าชั้น 4 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ ,บนอาคารสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม แต่ละที่ก็มีนักออกแบบ อย่างภูมิสถาปนิก ช่วยออกแบบสวนผักให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่  มีการเลือกพืชผักที่ปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการ เหมาะสมกับพื้นที่ กับการดูแลรักษา โดยสวนผักแต่ละจุด ก็มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน บางที่อย่างบริเวณสำนักหอสมุด ก็มีการแบ่งแปลงให้บุคลากรแต่ละแผนกดูแล ผลผลิตก็แบ่งปันกัน บางส่วนเหลือก็นำมาขาย หรือบางที่ก็มีแม่บ้านมาช่วยดูแล

บริเวณสำนักหอสมุด ดาดฟ้าชั้น 4 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ

อาคารจอดรถยนต์งามวงศ์วาน 2 ซึ่งทำเป็นผนังสีเขียวไม้เลื้อยกินได้

บนอาคารสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

บริเวณที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ซึ่งตอนแรกเริ่มต้นทำด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของนิสิต และอาจารย์ แต่ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ไม่สามารถดูแลสวนผักได้อย่างต่อเนื่องนัก อาจารย์พาสินีจึงใช้วิธีจ้างแม่บ้านให้ช่วยดูแลแทน แต่ด้วยความสนใจของแม่บ้าน และเจ้าหน้าที่อาคาร พวกเขาจึงร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันใช้เวลาว่างที่เหลือจากการทำหน้าที่หลัก มาช่วยกันดูแลแปลงผักโดยไม่รับเงินค่าจ้างพิเศษใดๆ เพียงขอนำผลผลิตที่ได้ไปแบ่งขายให้กับอาจารย์ บุคลากร หรือโรงอาหารในมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้คนในมหาวิทยาลัยมีอาหารดีที่ปลอดภัยจากสารเคมีกินกัน

สวนผักดาดฟ้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สวนผักบริเวณระเบียงอาคารและโรงอาหาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ผลผลิตเเบ่งปัน จำหน่าย เเละทำกระเช้า

อาจารย์พาสินีกล่าวให้ฟังถึงประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวกินได้ว่าการปลูกพืชผักบนอาคารมีส่วนช่วยลดความร้อนทั้งภายในและภายนอกอาคาร ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ ช่วยหน่วงน้ำและบำบัดน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชในระบบนิเวศ เป็นพื้นที่ที่ช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด และที่สำคัญคือเป็นแหล่งอาหารและสร้างความร่วมมือกันในสังคม

แม้ว่าโครงการการสร้างวิทยาเขตสีเขียวกินได้ จะประสบปัญหาระหว่างทางอยู่บ้าง แต่ความมุ่งมั่น พยายามช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองให้เติบโต งอกงามขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความเชื่อเรื่องศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ ก็นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าบทเรียน ประสบการณ์ แนวทางต่างๆที่โครงการนี้ทำก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ของมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงาน องค์กรอื่นๆต่อไป

สำหรับตัวเองเมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกนึกถึงหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทต่างๆ ที่มีพื้นที่ดาดฟ้า หรือพื้นที่ว่างเหลืออยู่จำนวนมาก บางทีหากเราเจอแม่บ้าน เจ้าหน้าที่อาคารที่มีใจรัก สนใจเรื่องการเกษตร พวกเขาก็อาจเป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวกินได้ได้ โดยเป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ที่เป็นทั้งพื้นที่อาหารปลอดภัย ที่ทำให้ทั้งคนปลูกซึ่งมีรายได้ไม่มากนัก และพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ในองค์กร เข้าถึงอาหารดีมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีได้อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ที่ช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมองค์กรดีขึ้น ทำให้มีพื้นที่ผ่อนคลายมากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับแม่บ้าน เจ้าหน้าที่อาคาร แถมยังช่วยให้พวกเขาได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบ คลายจากความเครียดได้ด้วย  เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน หน้าที่ใด เงินเดือนมากน้อยขนาดไหน ได้อย่างเท่าเทียม

ใครสนใจลองนำไปประยุกต์ปรับใช้กันดูนะคะ บางทีคุณอาจเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองให้เติบโต เพื่อชีวิตที่งอกงามของใครหลายคน อย่างที่อาจารย์พาสินี และทีมงานชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนช่วยกันทำก็ได้ค่ะ

ขอบคุณรูปภาพจากfb KU Urban Agriculture นะคะ ใครสนใจติดตามผลงานของโครงการนี้เพิ่มเติมได้ใน facebook นี้เลยค่ะ