บทบาทเกษตรในเมืองในการเพิ่มความยืดหยุ่นของเมือง เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก

เกษตรในเมืองกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศเกี่ยวข้องกันอย่างไร หากเราร่วมด้วยช่วยกันปลูกผักผลไม้กินได้ในเมืองจะช่วยโลกได้อย่างไรบ้าง เชิญร่วมค้นหาคำตอบที่นี่ค่ะ

โดย ปิยะพงษ์ บุษบงก์

ภายหลังวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ บ้านเราจะต้องหันมาใส่ใจประเด็นเรื่องเมืองที่ยืดหยุ่น (Resilient city) ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก (Adaptation to climate change) มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ในระดับนานาชาติถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา คำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เราปรับตัวอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศที่วิปลาสขึ้นทุกวันถูกตั้งขึ้นในเวทีการประชุมวิชาการและเชิงปฏิบัติการต่างๆ กลายเป็นคำถามสำคัญสำหรับการวิจัยและการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งโดยองค์กรรัฐ องค์กรพัฒนาหรือแม้แต่ตัวชุมชนต่างๆ เอง

ทั้งนี้ หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง เมื่อการสรุปบทเรียนของ RUAF องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านเกษตรในเมืองและความมั่นคงทางอาหารในระดับนานาชาติมามากกว่า 10 ปี และมีเครือข่ายทั่วโลกเมื่อกลางปี 2554 ที่ผ่านมา มีข้อค้นพบจากการสังเคราะห์ผลการปฏิบัติงานในที่ต่างๆ ที่น่าสนใจคือบทบาทของเกษตรในเมืองเป็นคำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้ในการเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน บทความนี้ ขอนำผลจากรายงานการสรุปบทเรียนผ่านการประชุมนานาชาติดังกล่าวรวมถึงเรื่องราวจากบทความที่เกี่ยวข้องและการขอความเห็นจากเลขาธิการและกรรมการของ RUAF มาเล่าสู่กันฟังว่าทำไมและอย่างไร พร้อมกับนำเสนอตัวอย่างของความพยายามในเรื่องนี้ในประเทศต่างๆ

ภาพจาก www.climate-changedavidgregory.org

ก่อนอื่นคงต้องเท้าความให้เห็นความเกี่ยวพันระหว่างเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิก่อน จากการประชุมนานาชาติจัดโดย UN-Habitat ในปี 2009 มีไฮไลท์คือข้อสรุปที่ว่า “การเกิดขึ้นของปัญหาความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ นับว่าเมืองเป็นส่วนหลักในการก่อปัญหา และเมืองอีกเช่นกันที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมืองควรแสดงบทบาทหลักในการแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหา” เสริมด้วยข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2010 สะท้อนว่าเมืองได้ก่อก๊าซเรือนกระจกประมาณ 70% ของทั้งหมด และเมืองมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมักจะฝันหาการพัฒนาในแบบเมืองเป็นพิเศษ โดยมีการพยากรณ์กันว่า 60% ของประชากรทั้งหมดของโลกจะกลายเป็นคนเมืองภายในปี 2030 (ถ้าโลกไม่แตกไปเสียก่อน ^^) ทั้งนี้ การเกิดน้ำท่วมที่บ้านเรารวมถึงในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นเคราะห์กรรมของเราทั้งหลาย แต่คำเตือนในเรื่องนี้มีมาตั้งนานแล้ว และถ้าจะเป็นเคราะห์กรรมก็คงจะเป็นกรรมของมนุษยชาติก็ว่าได้ เพราะในรายงานในปีเดียวกันของ UN-Habitat วิเคราะห์ว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกจะนำไปสู่ความเสี่ยงหลายประการรวมถึงน้ำท่วม โดยมีเมืองใหญ่มากถึง 3,351 แห่ง เผชิญกับความเสี่ยงนี้ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงเมืองใหญ่ในบ้านเรา ทั้งนี้ เมืองที่มีความเสี่ยงนี้มีประชากรรวมกัน 10% ของประชากรทั้งหมดของโลก โดย 64% อยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิยังนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารในเมืองเป็นพิเศษด้วย จากที่ปริมาณการผลิตในภาคชนบทมีแนวโน้มแปรปรวนตามการแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ โดยมีโอกาสลดลงมากกว่าจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่การขนส่งก็จะมีอุปสรรคจากสภาพดินฟ้าอากาศเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ คนจนเมืองจะได้รับผลพวงมากที่สุด จากที่อาหารแม้จะยังหาได้ แต่อาจจะราคาสูงเกินกำลัง โดยที่ตัวเลขสำรวจในระดับนานาชาติสะท้อนว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นค่าใช้จ่ายหลักของคนจนเมือง กล่าวคือ คนจนเมืองใช้จ่าย 60% ไปกับค่าอาหาร เมื่ออาหารแพงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็นับเป็นปัญหาหนักสำหรับคนจนเมือง การขาดความมั่นคงทางอาหารในที่นี้จึงไม่ใช่เรื่องของการไม่มีอยู่ของอาหาร (food available) แต่เป็นเรื่องความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ดังนั้น คนจนเมืองรวมถึงกลุ่มคนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองจะเปราะบางที่สุด โดยนอกจากเรื่องการตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่สุ่มเสี่ยงและโครงสร้างบ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงแล้วยังมีเรื่องของการเข้าถึงอาหารผนวกเข้ามาอีก อย่างที่ได้อธิบายข้างต้น

สำหรับบทบาทของการเกษตรในเมืองในการช่วยให้เมืองปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิมีอยู่หลายแง่มุม โดยในรายงานและบทความที่เกี่ยวข้องของ RUAF สรุปไว้ดังนี้

1) ลดความเปราะบางของคนจนเมืองและยกระดับความสามารถในการจัดการ

  • ช่วยให้มีอาหารสำรองที่มีโภชนาการยามฉุกเฉินสำหรับครัวเรือนและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง
  • เพิ่มการเข้าถึงอาหารสำหรับครัวเรือนและชุมชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรงแต่อยู่ในละแวกเดียวกัน เป็นการลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการกระจายอาหารจากชนบทและการเพิ่มขึ้นของราคา ด้วยการมีช่องทางทางเลือกของการกระจายตัวของอาหารในยามวิกฤตจากแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้
  • เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นข่ายความปลอดภัย (safety net) จากวิกฤตเศรษฐกิจครัวเรือนที่มักจะเกิดขึ้นตามมาจากวิกฤติภัยพิบัติ
  • ยกระดับศักยภาพชุมชน โดยแปลงเกษตรที่เกิดขึ้นนับเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งนวัตกรรมเพื่อการปรับตัว และพื้นที่แห่งการจุดประกายที่ไม่ตายตัวและไม่สิ้นสุด

2) ลดผลกระทบจากน้ำไหลบ่าจากที่สูงลงมา

  • พื้นที่เกษตรจะช่วยกักน้ำหรือเป็นกันชนน้ำท่วม (flood buffer) ซึ่งชะลอน้ำที่อาจไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนอย่างรวดเร็วและรุนแรง
  • การปลูกไม้ผลนอกจากจะทำให้เมืองมีสีเขียวมากขึ้น ซึ่งช่วยปรับอุณหภูมิของเมือง ช่วยให้ร่มเงา ช่วยเพิ่มออกซิเจน และช่วยดักฝุ่นและควันแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากดินถล่มได้

3) ลดการใช้พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  • การผลิตอาหารสดในเมือง จะช่วยลดพลังงานจากการขนส่งอาหาร การอุ่น การเก็บรักษา และการหีบห่อหรือบรรจุถุง
  • เอื้อต่อการจัดการของเสียในเมือง โดยมีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีส่วนช่วยลดมีเทนจากการฝังกลบและลดพลังงานจากการย่อยสลาย
  • ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างเกิดคุณค่าสูงสุด โดยมีการนำเอาน้ำเสียกลับมาใช้ เป็นการช่วยลดมลภาวะจากการบำบัดน้ำเสียได้อย่างดี

หากถามว่ามีตัวอย่างที่ดีที่สุดของโลกในเรื่องนี้ให้เรียนรู้หรือไม่ คำตอบต่อคำถามนี้จากการขอความเห็นจากเลขาธิการและกรรมการของ RUAF คือ Marielle Dubbeling และ Yves Cabannes ซึ่งรวบรวมกรณีต่างๆ จากทุกมุมโลก คือ ยังไม่มีกรณีที่เด่นที่สุด เรื่องนี้จึงเป็นภารกิจของโลกที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน และเขาก็จับตาดูเรื่องราวของบ้านเราอยู่เช่นเดียวกันในการรับมือกับประเด็นอาหารในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม Marielle ได้พูดถึงกรณีของ Toronto (Canada), Amman (Jordan), Freetown (Sierra Leone – West Africa), Trinidad (Bolivia), Durban (South Africa), Brisbane (Australia), Makati City (The Philippines), และ Casablanca (Morocco) ว่าน่าจะเป็นแบบอย่างของความพยายามที่ดีในการเชื่อมโยงเรื่องการผลิตและกระจายอาหารในเมืองกับการเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก และได้ยื่นรายงานและบทความมาให้อ่าน ซึ่งผมขอประมวลและนำมาเล่าให้ฟังโดยสังเขปจากสี่เมืองในสี่ประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นในตอนต่อไป รอติดตามอ่านกันนะครับ