สวนผักดาดฟ้า แหล่งอาหารกับการจัดการน้ำฝนของคนเมือง

สำหรับทางเลือกในการจัดการน้ำฝนในพื้นที่เมืองที่น่าสนใจทางเลือกหนึ่งก็คือการทำหลังคาสีเขียว ซึ่งมีการศึกษาพบว่ามีประโยชน์ด้านต่างๆอีกมากมาย จนหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้กำหนดเป็นนโยบายและออกกฎหมายข้อบังคับให้มีการใช้หลังคาสีเขียวมากขึ้นเลยทีเดียว

แม้ว่าอุทกภัยจะถือเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายนั้นมากจากการใช้ที่ดินผิดประเภทอย่างไร้ทิศทาง เช่น ในพื้นที่ต้นน้ำทางภาคเหนือ อันที่จริงควรจะเป็นเสมือนฟองน้ำหรืออ่างเก็บน้ำธรรมชาติ เพื่อดูดซับน้ำฝนและอุ้มน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นพื้นที่ที่นายทุนเข้าไปปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์มากมาย หรืออย่างการสร้างอาคารบ้านเรือน หรือนิคมอุตสาหกรรม ในเขตที่เป็นทางน้ำไหล อีกทั้งยังมีการก่อสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่เคยเป็นห้วย หนอง คลอง บึงมาก่อน ซึ่งแนวทางแก้ไขที่รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้แนะนำไว้ก็คือการจัดผังเมืองใหม่ โดยควรมีการจัดแบ่งสัดส่วน มีการกำหนดพื้นที่เกษตร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงกำหนดพื้นที่ที่สามารถสร้างบ้านเรือนหรือทำเป็นย่านธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความสามารถในการรองรับภัยธรรมชาติได้ในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม การวางผังเมืองใหม่อาจฟังดูเป็นเรื่องใหญ่และยากสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะในเมืองกรุงเทพมหานคร ที่นับวันพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียว จะลดลงและถูกแทนที่ด้วยอาคารบ้านเรือน รวมถึงตึกสูงมากมาย  ซึ่งนั่นก็หมายความว่าพื้นที่ในเมืองนั้นมีพื้นที่รับน้ำบนผิวดินลดลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายโดยเฉพาะในยามฝนตกหนักนั่นเอง

สำหรับทางเลือกในการจัดการน้ำฝนในพื้นที่เมืองที่น่าสนใจทางเลือกหนึ่งก็คือการทำหลังคาสีเขียว ซึ่งมีการศึกษาพบว่ามีประโยชน์ด้านต่างๆอีกมากมาย จนหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้กำหนดเป็นนโยบายและออกกฎหมายข้อบังคับให้มีการใช้หลังคาสีเขียวมากขึ้นเลยทีเดียว

รู้จักหลังคาสีเขียว

หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยนักกับคำว่าหลังคาสีเขียว หรือ green roof  จึงอยากจะขอแนะนำให้รู้จักความหมายและประเภทของหลังคาสีเขียวที่ใช้กันในปัจจุบันเสียก่อน

สำหรับความหมายของหลังคาสีเขียวนั้น อาจหมายถึงในแง่ของการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมก็ได้ หรือหมายถึงหลังคาสีเขียวที่มีการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆปกคลุมอย่างด้านบนก็ได้  ซึ่งก็สามารถแบ่งประเภทออกได้อีกเป็น

  1. หลังคาสีเขียวประเภทปล่อย (Extensive) เป็นหลังคาสีเขียวที่ใช้พืชประเภทหญ้าเกือบทั้งหมดปลูกปกคลุมบนหลังคา โดยที่แทบจะไม่ต้องขึ้นไปดูแล จะมีบ้างก็เพียงการขึ้นไปตัดแต่งปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น โดยวัตถุประสงค์หลักของหลังคาประเภทนี้ก็คือเพื่อเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ และปลดปล่อยออกซิเจนเป็นหลัก
  2. หลังคาสีเขียวกึ่งดูแล (Semiintensive) ส่วนใหญ่เป็นหลังคาที่ปลูกไม้ดอกหรือปลูกหญ้าที่ตัดเรียบ คล้ายกับแบบปล่อย แต่อาจต้องการการดูแลรักษามากกว่า และให้ความสวยงามมากกว่า
  3. หลังคาสีเขียวประเภทดูแลมาก (intensive) เป็นหลังคาสีเขียวที่ให้ทั้งความสวยงามและสามารถขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารของคนเมือง
หลังคาสีเขียวกับการจัดการน้ำฝน

ถามว่าหลังคาสีเขียวเกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำฝน ซึ่งมีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำฝนได้อย่างไรนั้น ก็คงต้องบอกว่าโดยทั่วไป ถ้าเป็นที่พื้นที่ธรรมชาติที่มีต้นไม้หนาแน่น น้ำฝนที่ตกลงมาจะซึมลงดินร้อยละ 60 โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นน้ำใต้ดิน ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งต้นไม้และพืชพันธุ์ต่างๆก็จะดูไปใช้ ส่วนน้ำอีกร้อยละ 40 จะระเหยกลับสู่บรรยากาศโดยผ่านกระบวนการคายน้ำของพืช ดังนั้นเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีน้ำไหลบนผิวดิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม การกัดเซาะหน้าดิน หรือดินถล่มได้

แต่ในพื้นที่เมืองซึ่งเต็มไปด้วยอาคาร  ตึกรามบ้านช่องมากมายนั้น น้ำฝนจะสามารถซึมผ่านดินไปได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น อีกร้อยละ 15 จะระเหยผ่านพืชพันธุ์ต่างๆ ในขณะที่น้ำอีกร้อยละ 75 จะอยู่บนผิวดิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในยามที่ฝนตกหนักได้นั่นเอง ดังนั้นในเมืองพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นตึกรามบ้านช่อง หลังคาจึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนสำคัญ (หลังคาสีเขียว ทางเลือกเพื่อการจัดการน้ำฝน อาจารย์กนกวลี สุธีธร) ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าหลังคาสีเขียวที่มีพืชพันธุ์ปกคลุมอยู่ และมีชั้นดินรวมถึงวัสดุปลูกหนาประมาณ 20 เซนติเมตรขึ้นไป จะสามารถดูดซับน้ำฝนเอาไว้ได้อย่างดี โดยสามารถ อุ้มน้ำฝนในช่วง 15 นาทีแรกได้ถึงร้อยละ 93.2 , 76.6, 64.4 และ 54.4 ของปริมาณฝน 25, 50 ,75, และ 100 ม.ม. ตามลำดับ (www.greengridroofs.com อ้างในหลังคาเขียวกับภาวะโลกร้อน ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ) ส่วนน้ำฝนที่เหลือก็จะไหลออกไปอย่างช้าๆ ลดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน อีกทั้งยังผ่านการกรองฝุ่นและมลพิษที่ปนเปื้อนในอากาศจากพืชพันธุ์ต่างๆด้วย ทำให้น้ำที่ไหลออกสู่สภาพแวดล้อมมีคุณภาพดีขึ้นด้วย

ประโยชน์ด้านอื่นๆของหลังคาสีเขียว

นอกจากหลังคาสีเขียวจะสามารถช่วยจัดการน้ำฝน ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนักได้แล้ว หลังคาสีเขียวยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆอีกมากมาย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. หลังคาสีเขียวช่วยลดโลกร้อน: ประโยชน์เรื่องการช่วยลดโลกร้อนถือเป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศสนใจเรื่องหลังคาสีเขียว โดยการระเหยของน้ำจากดินปลูกและจากการคายน้ำของพืชพรรณต่างๆที่ปลูกนั้นจะช่วยทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศและในตัวอาคารลดลง ซึ่งก็มีส่วนช่วยทำให้เครื่องปรับทำงานหนักน้อยลง สิ้นเปลืองพลังงานลดลงตามมาด้วย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการตัดความร้อนทางหลังคาสามารถช่วยประหยัดพลังงานในอาคารปรับอากาศได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว  โดยหากดาดฟ้าและหลังคาอาคารต่างๆในกรุงโตเกียวเป็นหลังคาสีเขียวร้อยละ 50 ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณวันละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ที่สำคัญนอกจากช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโลกร้อนได้อย่างมากอีกด้วย
  2. หลังคาสีเขียวช่วยลดมลภาวะทางอากาศ: พืชพรรณนานาชนิดที่ปลูกบนหลังคานั้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างออกซิเจนให้กับเมืองได้อย่างดี ที่สำคัญยังสามารถช่วยกรองฝุ่นละออง รวมถึงมลพิษต่างๆในอากาศได้อีกด้วย
  3. หลังคาสีเขียวช่วยกรองเสียงรบกวน: สำหรับในเมืองปัญหามลภาวะทางเสียงนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเผชิญ และพืชต่างๆรวมถึงดินปลูก และวัสดุปลูกที่ใช้ในการทำหลังคาสีเขียวนั้นสามารถทำหน้าที่เป็นเสมือนฉนวนกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้อย่างดี
  4. หลังคาสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำเป็นสวนหลังคาที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้นั้น ยังถือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจรวมถึงสามารถพัฒนาเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับคนเมืองได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าขนส่ง แก้ไขปัญหาโลกร้อน รวมถึงช่วยจัดการขยะของเสียในเมืองได้อย่างดีทีเดียว ยังไม่นับเรื่องการมีส่วนช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการกลายเป็นสถานที่ให้การศึกษาเรียนรู้เรื่องพืชพรรณและการเกษตรสำหรับคนเมือง ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่รู้จักที่มาของอาหาร โดยเฉพาะพืชพันธุ์พื้นบ้านต่างๆกันแล้วนะคะ

สวนเกษตรดาดฟ้า สำนักงานเขตหลักสี่

สวนผักดาดฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

สวนผักดาดฟ้า โรงเเรมออลซีซั่นโกลด์ออร์คิด

สวนผักดาดฟ้า โรงเเรมพระนครนอนเล่น

ประโยชน์ของหลังคาสีเขียวมีมากขนาดนี้ เห็นทีน่าจะถึงเวลาที่เราตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันสร้างสรรค์ ทั้งออกแบบและทำให้หลังคาสีเขียวเกิดขึ้นจริงกันมากขึ้นกว่าทีเป็นอยู่เสียที แม้จะยังไม่มีกฎหมายข้อบังคับออกมาเป็นทางการ แต่ถ้าเราร่วมกันคนละไม้ละมือ เริ่มจากแปลงดาดฟ้าที่เคยถูกทิ้งร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแปลงผักกินได้นานาชนิด เชื่อว่าก็สามารถช่วยทั้งจัดการน้ำฝนและลดปัญหาโลกร้อน และลดมลพิษต่างๆที่เกิดขึ้นในเมืองได้ไม่น้อยทีเดียว แถมยังมีผักปลอดภัยไร้สารพิษไว้บริโภคกันอีกด้วย

ที่สำคัญจากประสบการณ์การทำโครงการสวนผักคนเมืองที่ผ่านมา ยังพบว่าสวนผักดาดฟ้าของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท มหาวิทยาลัย หรือโรงแรม ได้กลายเป็นแหล่งพบปะพูดคุย ผ่อนคลายความเครียดและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในหน่วยงานได้อย่างดีทีเดียว

ขอบคุณรูปภาพจาก