สร้างเมือง Barcelona ให้ยั่งยืนด้วย Land Sharing ตอนที่ 2 : ร่องรอยการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่เกษตรเมือง

จากตอนที่แล้วได้กล่าวถึงพัฒนาการของพื้นที่เกษตรเมืองใน Barcelona ซึ่งเป็นผลมาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และฟองสบู่แตกของอสังหาริมทรัพย์ เกษตรในเมืองจึงถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ซึ่งเคยหายไปเกือบหมดจากการพัฒนาและขยายตัวของเมือง สวนเกษตรหลายแห่งได้พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบการแบ่งปันที่ดิน (Land sharing) ใน 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ สวนผักชุมชน (Community garden) ซึ่งเกิดจากการผลักดันของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเอง และสวนผักในพื้นที่สาธารณะ (Public garden) ซึ่งรัฐแบ่งพื้นที่ส่วนกลาง อาทิ สวนสาธารณะ พื้นที่ทิ้งขยะ หรือพื้นที่ว่างริมฟุตบาทให้แก่คนเมืองที่อยากปลูกผัก มักถูกเรียกว่า Allotment

การทำเกษตรในเมืองของที่นี้ก็ให้แง่คิดได้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤต การรับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ การเป็นแหล่งด้านนิเวศบริการของเมือง การธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายและขยายองค์ความรู้ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การอยู่ร่วมกันกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และการสร้างความกลมเกลียวกันทางสังคม อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเกษตรในเมืองที่นี้เองก็สะท้อนร่องรอยการต่อสู้ของคนเมืองเพื่อให้ได้มาหรือรักษาพื้นที่เกษตรที่เกิดจากความขัดแย้งจากแผนการพัฒนาเมืองที่ผูกผลักดันโดยทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งก็เป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การรับรู้ทางสังคมในรุ่นถัดไป

ความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมเมือง

นักปลูกหลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวเลยว่า พื้นที่สวนผักถูกหลักดันจากกระบวนการทางสังคม ไม่ได้ถูกผลักดันโดยหน่วยงานรัฐ หรือจาก “ล่าง ขึ้น บน” ซึ่งการขับเคลื่อนไปได้ด้วยความยากลำบากกว่าปัญหาจะเข้าที่เข้าทาง ยกตัวอย่างเช่น สวนผักชุมชน El Forat de la Vergonya หรือ “the Hole of Shame” ตัวอย่างสวนผักที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานเทศบาลและคนในชุมชน ซึ่งเกิดจากเทศบาลมีแผนจะทุบอาคารหลายเพื่อเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่จอดรถส่วนบุคคลและสร้างที่อยู่อาศัยของชนชั้นสูง คนเมืองและนักกิจกรรมในท้องที่จึงพยายามหยุดยังไม่ให้มีการทุบอาคารเพิ่มเติม และสร้างสวนผักชุมชนดังกล่าว เพื่อแสดงให้ทางเทศบาลเห็นว่า พวกเขามีความต้องการพื้นที่สาธารณะ (Public space) เพื่อทำกิจกรรมและพบปะกันระหว่างเพื่อนบ้านในพื้นที่สวนผักแห่งนี้ จากการเกิดขึ้นของสวนผักชุมชนแห่งนี้ จึงเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ นำไปใช้ในพื้นที่ของพวกเขาเอง ทำให้แผนพัฒนาเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกชุมชน กรณีศึกษานี้จึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการจับมือกันระหว่างคนในชุมชนและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธ์ที่คนในชุมชนเองควรได้รับ

อีกกรณีศึกษาหนึ่ง คือ หมู่บ้าน Can Masdeu ที่มีศูนย์การเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนด้านสังคมวัฒนธรรมและเป็นสวนผักชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับคนในชุมชน นักพัฒนาเหล่านี้พยายามสร้างหมู่บ้านสำหรับคนเกษียณที่หรูหราในพื้นที่ชุมชน ซึ่งคนในชุมชนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และเรียกร้องการอนุรักษ์วัฒนาธรรมดั่งเดิมภายในหมู่บ้านให้สามารถดำรงอยู่ให้ได้ ซึ่งคนในท้องถิ่นแห่งนี้ประกอบอาชีพทำเกษตรดั่งเดิมเป็นหลักตั้งแต่บรรพบุรุษ คนท้องถิ่นจึงจัดตั้งสวนผักของชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในปี 2014 เพื่อที่จะหยุดยั้งโครงการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จนสำเร็จ ซึ่งกิจกรรมที่สวนการเรียนรู้แห่งนี้มีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเชิงนิเวศแบบวิถีดั่งเดิม การเผาถ่าน การใช้สัมผัสธรรมชาติ การทำอาหารแบบพื้นบ้านที่ไม่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ที่สวนเกษตรในเมือง Hort Vallcarca เองก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของอาคารและเกิดโครงการรีโนเวทพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาโดยภาคธุรกิจและเทศบาล เพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนานี้ คนในชุมชนและนักกิจกรรมจึงทำพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ขึ้นจากพื้นที่ว่างเปล่าที่ถูกทิ้งร้างในชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการทางสังคมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับระบบผูกขาดโดยระบบทุนนิยมผ่านตลาดและสถาบันทางการเงิน

การพัฒนานโยบาย

การขับเคลื่อนเกษตรในเมืองที่ Barcelona ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์กันมากขึ้นผ่านการต่อสู้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและแผนพัฒนาจากภาครัฐเพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงที่ดินการทำเกษตรมากขึ้น อย่างเช่น สวนผัก Xarxa d’ Horts Urbans ที่ทางเทศบาลได้ยกพื้นที่ให้คนในชุมชนที่เกษียณอายุและคนถูกสังคมรังเกียจ เช่น นักโทษ เข้ามาทำเกษตรเป็นระยะเวลา 5 ปี ที่สวนผัก Pla Buits เองก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เทศบาลยกพื้นที่ว่างเปล่าให้คนในชุมชนเข้ามาทำเกษตรได้ 3 ปี โดยให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรแปลงปลูกด้วยตนเอง โดยพื้นที่ที่ทางเทศบาลยกให้นั้นเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งหากหมดสัญญาการใช้พื้นที่แล้ว เจ้าของที่ดินก็อาจขอเวรที่คืนได้ในอนาคต แต่ที่ต่างจาก Xarxa คือ พื้นที่เป็นที่ดินของทางเทศบาลเอง  แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การขับเคลื่อนข้างต้นเพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงที่ดินได้นั้นต้องทำอยู่ภายใต้เงื่อนไขการได้ประโยชน์ทุกฝ่าย หรือ win-win ทุกฝ่าย และหน่วยงานที่จัดการก็ต้องเป็นองค์กรที่ต้องไม่ขึ้นกับเทศบาลโดยตรงเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐและสูญเสียความเป็นเอกภาพในการจัดการตนเอง

สวนผักที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง

อย่างที่กล่าวไปสวนผักชุมชนและพื้นที่สาธารณะที่จากการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชนเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่เกษตร แต่ละสวนมีระบบการจัดการเป็นของตนเอง และมีการรวมกลุ่มของผู้ทำเกษตรในเมืองเพื่อระดมความคิดเห็นและช่วยกันตัดสินในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ภูมิทัศน์ของสวน การจัดการอุปกรณ์ภายในสวน กฎและข้อบังคับในด้านการทำเกษตรอินทรีย์ การบำรุงรักษาพื้นที่สาธารณะ และการกระจายงาน สวนผักชุมชนหลายแห่งไม่มีความประสงค์ให้เทศบาลเข้ามาจัดการหรือติดตามอันเนื่องมาจากเป็นที่รู้กันดีในหมู่สมาชิกในกลุ่มว่ารัฐไม่ได้เข้ามาดูแลเลยตั้งแต่ต้น นักปลูกบางท่านจึงให้ความเห็นว่า พื้นที่ชุมชนต่างจากพื้นที่สาธารณะตรงที่ไม่มีคนนอกชุมชนเข้ามายุ่งเกี่ยว ไม่มีการแบ่งลำดับชั้นหรือสถานะทางสังคม

บทสรุป

การเกิดขึ้นของพื้นที่เกษตรในเมืองมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ได้ และช่วยให้คนจนยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ การมีพื้นที่เขียวช่วยให้เมืองมีความสะอาดและน่ามองมากขึ้นจากการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนเกษตร และเกื้อหนุนให้ระบบนิเวศเมืองมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น อาทิ การปลูกไม้ดอกเพื่อเป็นแหล่งน้ำหวานให้นก ผีเสื้อและแมลงต่างๆ การหมักปุ๋ยหรือปลูกพืชหมุนเวียนจากภูมิปัญญาดั่งเดิมซึ่งมีส่วนช่วยให้ดินมีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน อาทิ การขับเคลื่อนทางสังคม ผู้เชี่ยวชาญเกษตรจากเทศบาลและองค์กรที่เชียวชาญด้านเกษตรเชิงนิเวศ สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนะธรรมและความคิด และมีส่วนช่วยให้คนสามารถงานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นและอนุรักษ์ภูมิปัญญาต่างๆ ไม่ให้จางหายไปผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันกันหลายภาคส่วนนั้นเอง

และปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีส่วนร่วมทางสังคมเองก็ทำให้สวนผักใน Barcelona เกิดการขยาดตัว รวมทั้งสวนผักจากพื้นที่แบ่งปันจากชุมชน หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ถูกฟื้นฟูให้กลับมาอีกครั้งก็เป็นมาจากภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจนทำให้เกิดพื้นที่ร้างเป็นจำนวนมาก การมีอยู่ของสวนผักชุมชนทำให้ความขัดแย้งด้านการพัฒนาเมืองถูกตีแผ่ให้สังคมรับรู้กันมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มกันเหนี่ยวแน่นของชุมชนที่สามารถป้องกันการแทรกแซงจากหน่วยงานรัฐและเอกชนได้ สวนผักในพื้นที่ชุมชนจึงเป็นโครงสร้างสีเขียวที่ขาดไม่ได้ต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

References