สร้างเมือง Barcelona ให้ยั่งยืนด้วย Land Sharing ตอนที่ 1 : สวนเกษตรในเมืองกับคุณค่าทางสังคม

Barcelona เป็นชื่อเมืองที่คุ้นหูให้หมู่คนทั่วไปและแฟนบอล และเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสเปน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่อยู่ด้วยอาชีพเกษตรกรรม และพื้นที่เกษตรใน Barcelona ก็หายไปเกือบทั้งหมดจากการขยายตัวของเมืองนั้นเอง เช่นเดียวกับหลายเมืองทั่วโลกที่การขยายตัวของเกษตรในเมืองเป็นผลมาจากการเกิดภาวะวิกฤต ตัวอย่างเช่นอังกฤษที่แปลงผักแบ่งปันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจาก 600,000 แปลง เป็น 1,500,000 แปลง เนื่องจากเกิดการขาดแคลนอาหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งแปลงผักได้ขยายตัวไปทั่วพื้นที่ของเมืองลอนดอน เช่น พื้นที่สวนสาธารณะ สนามกีฬา ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่สนามหญ้าภายในพระราชวัง Buckingham

เกษตรในเมือง Barcelona เองก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะวิกฤตเช่นกัน ในช่วงปี 2008 สเปนเองก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และถูกซ้ำเติมด้วยภาวะฟองสบู่แตกจากการเก็งกำไรในบ้านและที่อยู่อาศัย ทำให้กลุ่มคนวัยทำงานตกงานมากถึง 27% ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก สวัสดิการต่างๆ จากรัฐก็ถูกตัดหลายรายการ คนสเปนจึงเผชิญกับความยากจนอย่างรวดเร็ว จากวิกฤตดังกล่าวก็ทำให้คนเมืองเกิดความตื่นตัวในด้านเกษตรในเมืองมากขึ้น และเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่ามาเป็นสวนผักเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ซึ่งการขยายคัวเกษตรในเมืองส่วนมากในยุโรปก็มักจะเกิดขึ้นเป็นแบบ Bottom-up นั้นคือ ประชาชนเป็นผู้ผลักดันเพื่อให้ได้สิทธ์ในการใช้ที่ดินและการจัดการพื้นที่ภายใต้การเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความกลมเกลียวกันทางสังคม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแบ่งปันที่ดิน (Land sharing) เป็นหัวใจสำคัญของพัฒนาการเกษตรในเมืองของ Barcelona โดยทั่วไปการแบ่งปันที่ดินสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ สวนผักชุมชน (Community garden) ซึ่งเกิดจากการผลักดันของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ องค์กรและนักกิจกรรมภายในชุมชนเอง ต่างจากสวนผักในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ของรัฐ (Public garden) ซึ่งถูกผลักดันและจัดการโดยหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐจะแบ่งพื้นที่สวนกลางให้แก่คนเมืองที่อยากปลูกผัก แปลงผักที่ถูกจัดสรรในพื้นที่ของรัฐ เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่ทิ้งขยะ หรือพื้นที่ฟุตบาท มักถูกเรียกว่า Allotment นั้นเอง

จากงานวิจัยโดยคุณ Marta Camps-Calvet และทีมงาน ที่เข้าสัมภาษณ์นักปลูก 44 ท่าน จากทั้งสวนผักชุมชน 13 แห่ง และสวนผักในพื้นที่สาธารณะ 14 แห่ง ซึ่งจากศึกษาให้แง่มุมหลักอยู่ 2 มิติ ได้แก่ สวนผักในเมืองมีส่วนช่วยให้เกิดการพึ่งพาตนเองในเมือง และ พื้นที่เกษตรในเมืองสะท้อนถึงการต่อสู่เพื่อสิทธิของคนในชุมชน

สวนผักในเมืองมีส่วนช่วยให้เกิดการพึ่งพาตนเองในเมือง

การเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤต นักปลูกรุ่นเก่าอย่างปู่ ย่า ตา ยายหลายท่านคงฝ่าฟันกับวิกฤตมาเยอะมากกว่าคนใหม่ นักปลูกรุ่นใหญ่เหล่านี้จึงพูดกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า การทำเกษตรสามารถช่วยให้เราสามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะวิกฤตต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือภาวะสงคราม เพราะอาหารคือปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต

การรับมือกับความไม่แน่นอน การที่ท้องถิ่นสามารถผลิตอาหารและบริโภคในท้องถิ่นได้เองมีส่วนช่วยให้เมืองสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ลดการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบจากนอกท้องถิ่น ลดระยะอาหารเมือง (Food mile) หรือระยะทางขนส่งสินค้าและลดการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งในภาวะที่น้ำมันมีราคาแพง

นิเวศบริการที่สวนเกษตรในเมืองมอบให้แก่สังคม

แหล่งด้านนิเวศบริการของเมือง นักปลูกหลายท่านเห็นคุณค่าทางนิเวศวิทยาจากทำสวนเกษตรในเมือง เช่น การผสมเกสร การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน การปลูกพืชให้มีความหลากหลายจนเป็นที่อยู่ให้แก่สัตว์ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ หากสวนผักมีความหลากหลายทางชีวภาพมากก็จะมีส่วนช่วยให้สวนผักให้นิเวศบริการได้มากขึ้น อีกทั้งนักปลูกส่วนใหญ่ของที่นี้เองก็มีหัวใจรักธรรมชาติอยู่แล้วด้วย

การธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การทำเกษตรในเมืองใน Barcelona ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด สวนเกษตรในเมืองถือเป็นจุดนัดพบของนักปลูกหลากหลายอายุและพื้นฐานชีวิต อีกทั้งมีความคิด ความสนใจ จุดมุ่งหมายและสิ่งที่อยากจะทำในอนาคตที่ต่างกันออกไป สวนเกษตรจึงเป็นแหล่งนัดพบที่มีปราศจากชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยนักปลูกเองมีตั้งแต่คนที่เกษียณอายุแล้วและนำคนครอบครัวมาร่วมกันปลูกผักด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ญาติและลูกหลาน ลูกจ้างในหน่วยงานเทศบาลที่ดูแลสวนเกษตรและพื้นที่สีเขียวเองก็มาทำเกษตรด้วย ส่วนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ เด็กนักเรียนประถมและครูที่เข้ามาทำเกษตรเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวขาจร ไปจนถึงนักโทษในเรือนจำก็เข้ามาปลูกผักเช่นกัน

แหล่งองค์ความรู้ที่หลากหลาย จากการสำรวจทำให้เรารู้ในหลายแง่มุม ชุดความรู้การทำเกษตรในเมืองของที่นี้มาจากหลายแหล่ง ไล่ไปตั้งแต่การทำเกษตรในท้องถิ่นและภูมิปัญญาการทำเกษตรแบบดั่งเดิมจากเกษตรกรรุ่นเก่า ไปจนถึงความรู้ที่เกิดจากการทดลองและลองผิดลองถูกจากคนรุ่นใหม่ โดยทั่วไปแล้วภูมิความรู้ด้านการทำเกษตรเชิงนิเวศเองก็มาจากการทำเกษตรในท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน อย่างเช่น การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินตามธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องไปใส่ปุ๋ยแต่อย่างใด ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ก็มีอยู่ในสายเลือดของเกษตรกรรุ่นใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้เองก็ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้นักปลูกรุ่นหลังได้อย่างเต็มที่ แต่บางกรณีก็ถ่ายทอดไปไม่หมดทุกแง่มุม ทำให้ความรู้เหล่านี้ก็กำลังหายไปเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้เริ่มหมดอายุขัยลงจนทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ขาดหายไป นักปลูกรุ่นใหม่จึงต้องอาศัยการลองผิดลองถูกและใช้การหยั่งรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และนำความรู้มาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ

การสร้างองค์ความรู้ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สืบเนื่องจากปัญหาด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งแหล่งความรู้เหล่านี้ทั้งจากคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ก็มาจากจัด workshop ในพื้นที่เกษตรเหล่านั้นเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันนั้นเอง ดังนั้น วิทยากรที่จะถ่ายทอดและสื่อสารองค์ความรู้ให้แก่นักปลูกรุ่นใหม่ นั้นคือ นักปลูกในสวนเกษตรนั้นเอง ซึ่งกิจกรรมไม่ได้มีแค่การถ่ายทอดเทคนิคการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สวนเกษตรในเมืองจึงมีส่วนช่วยให้องค์ความรู้ขยายไปในสวนเกษตรในเมืองรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สวนครัวหลังบ้าน สวนผักบนอาคาร และสวนเกษตรชุมชนในพื้นที่อื่น

การอยู่ร่วมกันกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ จากแนวโน้มในปัจจุบัน คนเมืองถูกตัดขาดจากธรรมชาติมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความโหยหาที่อยากเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น การทำเกษตรจึงถูกฟื้นฟูและถูกนำกลับมาใช้ในเมืองอีกครั้งอันเนื่องมาจากกระแสความโหยหาธรรมชาติในหมู่คนเมืองมีมากขึ้น ซึ่งก็มีบางแง่มุมที่น่าสนใจ เช่น คนเมืองไม่ควรลืมรากเงาของตนเองเพราะการเป็นคนเมือง ซึ่งมันไม่ใช้รากเงาของความเป็นมนุษย์ ที่จริงเราสร้างเมืองเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของเราเท่านั้น และมันไม่ได้ให้สุขภาพที่ดีให้แก่เรา การทำสวนเกษตรเองจึงมีส่วนช่วยให้คนเมืองอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เช่น การปลูกและทานผักผลไม้ตามฤดูกาล เช่นเดียวกับเมืองไทยที่เด็กรุ่นหลังเองก็ได้ขาดความรู้การทำเกษตรไป การมีสวนเกษตรในเมืองจึงตอบโจทย์กับปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี

การสร้างความกลมเกลียวกันทางสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายเมืองทั่วโลกก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน นอกจากคนเมืองจะตัดขาดจากธรรมชาติแล้ว ก็มีการตัดขาดระหว่างกันในหมู่คนเมืองเองอันเนื่องมาจากการแข่งขัน การตอบสนองความต้องการของตนเอง และเกิดแนวโน้มต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้นในสังคมเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คนเมืองต้องอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น การมีพื้นที่เกษตรในแหล่งชุมชนมีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้คนเมืองเข้ามาพบปะพูดคุยกัน เกิดมิตรภาพใหม่ๆให้คนทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เกษตรในเมือง Barcelona ก็สะท้อนคุณประโยชน์ทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเกษตรในเมืองของที่นี้เองก็สะท้อนร่องรอยการต่อสู้ของคนเมืองเพื่อให้ได้มาหรือรักษาพื้นที่เกษตรจากความขัดแย้งจากแผนการพัฒนาเมืองที่ผูกผลักดันโดยทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งสามารถอ่านได้ในตอนถัดไป

References