การปลูกและการดูแลพืชผักในฤดูร้อน

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคมเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูร้อนของเมืองไทย ซึ่งเป็นฤดูที่เกษตรกรอาจปลูกผักได้ไม่งามนักเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและอบอ้าว ดังนั้น การรดน้ำและการรักษาความชื้นในแปลงผักจึงมีความสำคัญมากในการปลูกผักในฤดูร้อน

การรักษาความชื้นในดิน

เริ่มตั้งแต่การพรวนดินให้มีความโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และมีช่องว่างให้น้ำสามารถแทรกตัวไปตามช่องว่างในชั้นดินได้ลึกขึ้น วิธีการตรวจดูว่า ดินที่จะใช้ปลูกนั้นได้รับน้ำเพียงพอแล้วหรือยัง ก็สามารถจับดินขึ้นมาดู หากชั้นดินที่ลึกจากผิวดินชัก 10-20 เซนติเมตร ยังมีความแห้งอยู่ แสดงว่าดินยังไม่โปร่งและน้ำยังซึมลงไปไม่ลึกเพียงพอ ก็ต้องแก้ไขด้วยการพรวนดินให้ลึกขึ้นอีก และจากนั้นรดน้ำลงไปเพื่อให้มั่นใจได้ว่าชั้นดินที่อยู่ใต้ผิวดินมีความชื้นเพียงพอให้รากพืชสามารถดูดขึ้นมาใช้ได้ เพราะหน้าร้อนพืชต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ จึงมีความจำเป็นที่ดินต้องเก็บความชื้นไว้ที่ใต้ดินมากเป็นพิเศษ

ข้อควรรู้ก่อนการลงมือพรวนดิน

  • เลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม โดยทั่วไปเราจะใช้คลาดเหล็กหรือส้อมพรวนมาใช้ในการพรวนดิน เนื่องการช่วยดินแยกตัวเป็นก้อนได้ดี ไม่งัดหน้าดินและผ่อนแรงมากกว่าการใช้จอบ
  • ซึ่งหากใช้จอบในการพรวนดิน ควรใช้จอบสับหน้าดินเพื่อให้ดินแตกตัวออกมา ไม่ควรใช้จอบสับลงไปที่ดินจนลึกและงัดดินชั้นล่างขึ้นมาบนหน้าดิน เพราะจะใช้หน้าดินสูญเสียธาตุอาหารได้

เมื่อดินมีความร่วนและชื้นเพียงพอแล้วก็นำฟางข้าวหรือหญ้าแห้งมาคลุมต้นกล้าและดินรอบแปลงปลูกเพื่อรักษาความชื้นในดิน และการใช้ระบบน้ำหยดจะช่วยให้พืชได้รับน้ำมากกว่าปกติและลดการสิ้นเปลืองน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะหน้าร้อน น้ำจะระเหยและซึมลงดินเร็วมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ หากผักได้รับน้ำไม่เพียงพอหรือถูกแสงแดดจัดตลอดทั้งวันอาจทำให้ผักเหี่ยวเฉาและตายอย่างง่ายดาย การปลูกผักในฤดูร้อนจึงต้องตรวจดินในแปลงปลูกอยู่บ่อยครั้ง หากดินเริ่มแห้ง ก็ต้องรดน้ำทันที

และการพรางแสงด้วยสแลนก็อีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างร่มเงาและให้แก่ผัก รดความร้อนและรักษาความชื้นในอากาศ หากในกรณีที่เราไม่ได้พรางแสงด้วยสแลน หรือ ไม่ได้ปลูกผักในพื้นที่กลางแจ้งที่ต้องโดนแดดจัดตลอดทั้งวัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องรดน้ำให้ถี่ขึ้น เช่น จากเดิมรดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง เป็นวันละ 4-5 ครั้ง

หากสถานที่ปลูกผักเป็นดาดฟ้าหรือพื้นปูน ซึ่งจะมีความร้อนสูงกว่าแปลงปลูกลงดินอย่างต่ำ 2 องศาเซลเซียส แปลงผักจึงควรลองพื้นแปลงปลูกด้วยกาบหรือขุยมะพร้าวให้หนาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความลึกแปลง เพื่อลดความร้อนที่ระบายออกจากพื้นปูนและช่วยรักษาความชื้นไม่ให้ระเหยได้เร็วกว่าปกติ

เช่นเดียวกับแปลงผักบนพื้นปูน กระถางเองก็ควรรองก้นกระถางด้วยแกลบหรือขุยมะพร้าวในสัดส่วน 1 ใน 3 ของความลึกเช่นกัน ส่วนจะใช้กระถางแบบพลาสติกหรือดินเผานั้น ก็ขึ้นกับพื้นที่ปลูกเป็นหลัก หากพื้นที่ปลูกอยู่ใต้ต้นไม้ที่เรือนยอดพรางแสงและได้รับแสงแดดไม่มากแล้ว การใช้กระถางดินเผาจึงมีความเหมาะสม เพราะจะรักษาความชื้นได้ดีในพื้นที่ที่มีร่มเงาเกือบตลอดทั้งวัน หากใช้กระถางดินเผาในพื้นที่กลางแจ้งที่ถูกแดดเกือบตลอดทั้งวัน (โดยเฉพาะแดดในช่วงบ่าย) น้ำในกระถางดินเผาระเหยได้ง่ายกว่ากระถางพลาสติก การใช้กระถางพลาสติกจึงเหมาะสมกับพื้นที่ดาดฟ้ามากกว่ากระถางดินเผา

พื้นที่แปลงปลูกผัก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ในช่วงฤดูหนาว

การเลือกชนิดผักที่นำมาปลูก

ไม่ใช้ผักทุกชนิดจะสามารถปลูกได้ดีในทุกฤดูกาล โดยทั่วไปผักพื้นบ้าน เช่น ตำลึง กะเพรา โหระพา แมงลัก ถั่วพู ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ พริก ผักเหล่านี้เป็นผักที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องดูแลมาก ทนทานโรคและแมลง แต่หากเป็นผักจีน เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ก็สามารถปลูกได้ในฤดูร้อน แต่อาจดูแลและเอาใจใส่มากกว่าผักพื้นบ้าน ซึ่งต้องหมั่นรดน้ำเพื่อป้องกันอาการเหี่ยวเฉา ส่วนผักอื่นๆ เช่น แตงกวา บวบ ชะอม ดอกแค ผักกาดหอมก็สามารถปลูกในฤดูร้อนได้เช่นกัน

References