สวนเกษตรเสรีชน ‘สวนเกษตร เสรีภาพ และการแบ่งปัน’

ในทุกๆปี โครงการสวนผักคนเมือง จะสนับสนุนทุนโครงการขนาดเล็ก ให้กับกลุ่ม ชุมชน องค์กรต่างๆ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมือง สร้างพื้นที่รูปธรรม และสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับประเด็นการพัฒนาต่างๆ อาทิ สวนผักกับความมั่นคงทางอาหาร  สวนผักกับการบำบัดเยียวยา สวนผักกับการการสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม และสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดพื้นที่รูปธรรมขึ้นมากกว่า 200 แห่ง

และในปีที่ผ่านมา โครงการสวนผักคนเมือง ได้ทดลองพัฒนาโมเดล Land Sharing ‘แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต’ ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมือง มาพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัยให้กับเมือง โดยมีโครงการสวนผักคนเมืองทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่าง ‘เจ้าของที่ดิน’ ซึ่งมีที่ดินว่างเปล่า ที่ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ มาแปรเปลี่ยนความว่างเปล่านั้นให้เกิดคุณประโยชน์ผ่านการเพาะปลูก การทำเกษตรในเมือง  โดยการแบ่งปันการทำประโยชน์บนผืนดินเหล่านั้นให้กับ ‘คนปลูกผักในเมือง’ ซึ่งอยากทำเกษตร อยากสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยให้กับตนเองและคนรอบข้าง แต่อาจจะติดขัดตรงที่ไม่มีพื้นที่สำหรับการลงมือทำเกษตรอย่างจริงจัง หรือบางคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ ก็สามารถเข้ามาแบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันความรู้ ความคิด แรงกาย & แรงใจ กับเพื่อนๆ คนอื่นที่มีความสนใจ ความฝันเดียวกันบนผืนดินที่ทุกคนได้รับโอกาสให้ใช้ประโยชน์นั้นๆ

นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้เชื่อมประสาน ‘เครือข่ายสนับสนุน’ ซึ่งเป็นวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรในเมือง ทั้งจากศูนย์อบรม และเครือข่ายสมาชิกในปีอื่นๆ ของโครงการ ที่จะคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนแนวคิด ความรู้ เทคนิค นวัตกรรมต่างๆ เพื่อจะช่วยพลิกฟื้นผืนดินเหล่านั้นให้กลายเป็นแหล่งอาหารของทุกคนอีกด้วย

สวนเกษตรเสรีชน @ คลองเจ็ด ธัญบุรี  เป็นอีกพื้นที่รูปธรรมของโครงการสวนผักคนเมือง ในโมเดล Land Sharing ‘แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต’ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างผืนดิน มนุษย์ และธรรมชาติ ว่าได้ร่วมสร้างการเติบโตและความงอกงามมากมายบนผืนดินนี้ กลุ่มเสรีชน เกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษา ที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำงานอาสาพัฒนา ในนาม ‘ค่ายอาสาพัฒนาเสรีชน ม.รามคำแหง’ ซึ่งหลายคนก็เป็นรุ่นพี่จบการศึกษาไปแล้ว อีกส่วนก็เป็นน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ พวกเขาจะรวมกลุ่มกันทำค่ายอาสาปีละ 2 – 3 ครั้ง

แต่ด้วยความคิด ความสนใจของกลุ่มที่อยากจะมีพื้นที่รวมตัวกันของสมาชิก ซึ่งนอกจากจะได้มาพบปะกันแล้ว หากจะเป็นพื้นที่ที่ให้น้องๆ ได้พัฒนาทักษะ ฝึกอาชีพ และสร้างให้เกิดรายได้ระหว่างการเรียนก็น่าจะดีกว่าพบปะกันเฉยๆ  การทำเกษตรก็กลายเป็นความสนใจแรกที่กลุ่มนี้เลือกขึ้นมา เพราะพวกเขาก็ล้วนแต่เป็นลูกหลานของเกษตรกรทั้งนั้น แต่ไม่เคยได้ลงมือทำเกษตรอย่างจริงจังเสียที ความฝันของสมาชิกในกลุ่มมองไปไกลถึงขนาดว่า การได้พาน้องๆ และคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้การทำเกษตร ได้ฝึกทักษะอย่างจริงจัง จนสามารถสร้างสวนเกษตรของตนเองได้จริง ในอนาคต ‘อาชีพเกษตรกร’ ก็น่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และกลับไปสืบทอดอาชีพนั้นต่อจากพ่อแม่

พวกเขาลงมือทำเกษตรที่เริ่มจากความไม่รู้อะไรเลย แม้ว่าจะเป็นลูกหลานของเกษตรกร อย่างไรก็ตามคงต้องขอบคุณ อาจารย์เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี และเหล่าลูกศิษย์ของอาจารย์ ที่ลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง เคยช่วยแนะนำ ทั้งความรู้ เทคนิค รวมไปจนถึงช่วยลงแรงพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินผืนนี้ร่วมกับน้องๆ กลุ่มเสรีชนตั้งแต่เริ่มต้น มาจนถึงตอนนี้ก็ยังคงร่วมกันคิด ร่วมกันทำอย่างไม่หยุดนิ่ง

ทุกครั้งที่เรามีโอกาสลงไปเยี่ยม และร่วมกิจกรรมของกลุ่มเสรีชน เราสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของน้องๆ ที่ได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติติการอย่างจริงจัง ที่จะทำแปลงผัก สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย จากเดิมที่ผืนดินถูกทิ้งว่างเปล่า

พวกเราลงแรงช่วยกันไถพรวน….. ทำความรู้จักกับผืนดินของตนเอง………….

ปรับปรุง บำรุงผืนดินนั้นให้สมบูรณ์ พร้อมสำหรับการเพาะปลูก ให้พืชพรรณต่างๆ ได้เจริญงอกงาม

จาก หนึ่งแปลง เป็นสองแปลง สามแปลง …….จนถึงตอนนี้  เมื่อพวกเขาเชื่อมั่นว่า……

มีทักษะ สามารถผลิตอาหาร(ผัก) ได้แล้ว ก็ยังไม่หยุดนิ่ง  เริ่มหันมาสร้างแหล่งอาหารอื่นๆ

ที่จำเป็นสำหรับการบริโภค การพึ่งตนเองในกลุ่ม เช่น ปลา หมู ไก่ เป็ด รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาลเพิ่มมากขึ้น

น้องๆ ที่ได้เข้ามาเพาะปลูกในพื้นที่แห่งนี้  นอกจากจะมีบทบาทในสร้างและดูแลแปลงผัก และปศุสัตว์ต่างๆ ในส่วนกลางร่วมกันแล้ว พวกเขายังมีพื้นที่ทดลองเล็กๆ ของตนเอง ที่จะเปิดโอกาสให้ได้ลงมือทำ หรือทดลองการทำเกษตรตามรูปแบบที่ตนเองสนใจอีกด้วย มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พวกเขาจะนิยามสวนเกษตรแห่งนี้ว่า ‘สวนแห่งเสรีภาพ’  ที่ทุกคนจะได้ร่วมแรง ร่วมใจเพื่อทำความฝันของกลุ่ม และความฝันของตนเองไปพร้อมๆ กัน

ปัจจุบัน ผลผลิตที่ได้จากผืนดินแห่งนี้ นอกจากจะเพียงพอสำหรับการบริโภคในกลุ่มแล้ว พวกเขายังเชื่อมโยงผลผลิตบางส่วนไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเล็กๆ ย่านรามคำแพง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่รู้จักมักคุ้นกัน  ได้มีโอกาสกินอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย รู้ที่มาอีกด้วย

แบ่งปัน สู่ การแบ่งปัน สวนเกษตรเสรีชน ไม่เพียงมุ่งมั่นสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง แต่พวกเขายังนำความรู้ ประสบการณ์ และทักษะด้านเกษตรที่ได้เรียนรู้และลงมือทำ แบ่งปันไปช่วยเหลือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่มีโอกาสได้ไปทำค่าอาสา ก็ถือโอกาสสร้างแปลงผัก สร้างพื้นที่อาหารให้กับน้องๆ อีกด้วย นอกจากนั้นยังมาช่วยลงแรงฟื้นฟูแปลงผักให้กับพื้นที่เรียนรู้ความมั่นคงทางอาหาร ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนอีกด้วย

Land Sharing ‘แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต’ ตามนัยยะของโครงการสวนผักคนเมือง จึงไม่ใช่เพียงการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างในเมืองเพื่อผลิตอาหารเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการหันกลับมาให้ความสำคัญ เห็นคุณค่าของผืนดิน ดูแลรักษาให้ผืนดินนั้นสะอาด ปลอดภัย และเป็นแหล่งเพาะปลูกอาหาร ความรัก ความเอาใจใส่ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน  เปิดพื้นที่ให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผืนดิน มนุษย์ และธรรมชาติ ผ่านการทำเกษตรในเมือง ผลผลิตที่เกิดขึ้นบนผืนดินจึงไม่ใช่แค่อาหาร หรือพืชผักเท่านั้น แต่หากเป็นความรัก ความเอาใจใส่ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันทั้งในเมือง ระหว่างคนเมืองกับชนบทและทรัพยากรธรรมชาติต่างหากที่เราต้องการ เพื่อรักษาโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป