City farm @Shenzhen

ในอดีต เมืองเซินเจิ้นที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงพื้นที่ทำเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากรัฐบาลจีนประกาศให้เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่แต่เดิมได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างแทน เนื่องจากคนเมืองได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอย่างหนาแน่นและมีแนวโน้มที่จะมีคนเข้ามาอาศัยในเมืองกันมากขึ้น รัฐบาลจีนเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญและสนับสนุนให้เมืองสามารถพึ่งพาตนเองในด้านอาหารได้มากขึ้น และเกษตรในเมืองก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และพึ่งพาตนเองมากขึ้นได้ ในบทความนี้จะมีแปลงผักในเซินเจิ้นอยู่ 2 ตัวอย่าง ได้แก่ Value Farm และ Landgrab City ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้รับการผลักดันโดยมูลนิธิ Biennale สำนักงานเซินเจิ้นและฮ่องกง ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนงานด้านศิลปะ การออกแบบและสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างให้เมืองมีความน่าอยู่ น่าเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

มาเริ่มที่ Value Farm เป็นโครงการเกษตรในเมืองจีนที่น่าสนใจ พื้นที่เกษตรแห่งนี้ริเริ่มโดยคุณ Thomas Chung ที่เปลี่ยนพื้นที่โรงงานมาเป็นแปลงเกษตรแบบผสมผสานที่มีขนาด  2,100 ตารางเมตร ความโดนเด่นของพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ คือ สวนผักที่ทำมาจากพื้นที่โรงงานเดิมที่ถูกทิ้งร่าง กำแพงห้องเก่าๆ ของโรงงานก็เปลี่ยนเป็นแปลงปลูกผัก อิฐที่เหลือจากอาคารก็นำมาก่อให้เป็นแปลงปลูกผัก โดยแปลงปลูกผักแต่ละแปลงจะมีความสูงที่แตกต่างกันเพื่อสร้างความลึกของชั้นดินให้แตกต่างกันเพื่อให้สวนผักแห่งนี้ดูมีมิติและชวนให้คนเมืองอยากเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ ผักที่ปลูกในพื้นที่แห่งนี้จึงมีความหลากหลายเป็นพิเศษ ระบบน้ำในโรงงานก็นำมาดัดแปลงเป็นระบบให้น้ำในฟาร์ม อย่างเช่น ท่อน้ำประปาของโรงงานก็ถูกวางอยู่ใต้ดินและปรับเป็นระบบให้น้ำแบบสปริงเกอร์ เป็นต้น

การมี Value Farm ในพื้นที่ช่วยให้พื้นที่เมืองที่เต็มไปด้วยอาคารและสิ่งปลูกสร้างมีชีวิตชีวามากขึ้น นอกจากการเป็นแหล่งอาหารแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเปิดให้คนเมืองเข้ามาใช้ประโยชน์และเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ Value Farm ยังช่วยให้คนเมืองเข้ามาพบปะและทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ การปลูกผัก ชิมอาหาร กิจกรรมพบปะพูดคุยร่วมกัน หรือการจัดงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนเมืองเข้ามาพบปะและสร้างปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

เช่นเดียวกับ Value Farm ก็มี Landgrab City ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Bi-city Biennale เช่นกัน พื้นที่เกษตรแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเซินเจิ้นที่เป็นแหล่งซ๊อปปิ้ง และเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของผู้คนมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองนี้ พื้นที่สีเขียวแห่งนี้ได้ถูกออกแบบโดยสถาปนิก Joseph Grima, Jeffrey Johnson และ Jose Esparza โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำเกษตรให้แก่คนเมือง โดย Landgrab City สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แผนที่ย่านดาวน์ทาวน์ที่แสดงความหนาแน่นของอาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่อยู่ของคนเมืองถึง 4.5 ล้านคน  ส่วนที่สองคือ สวนผักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของเมือง โดยแบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆ โดยแบ่งตามชนิดของอาหารการกิน อาทิ ผัก ผลไม้ ซีเรียล และปศุสัตว์ ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนจีนต้องกินอยู่เป็นกิจวัตร

ปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการออกแบบพื้นที่นี้ คือ ศักยภาพการผลิตอาหารต่อพื้นที่ โดยใช้แปลงผักแห่งนี้จำลองว่าให้ผลผลิต(ผัก)ต่อพื้นที่ได้เท่าไร สามารถป้อนผลผลิตให้คนเมืองเซินเจิ้นได้กี่คน และถ้าหากต้องการป้อนผลผลิตให้คนเซินเจิ้นทั้งหมด 4.5 ล้านคน จะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเท่าไร ซึ่งสถาปนิกยังได้ออกแบบภาพปริมาณพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงคนเมืองในอนาคตไปอีก 10 ปีข้างหน้า นิทรรศการนี้ทำขึ้นเพื่อสื่อสารให้คนเมืองรับรู้และตระหนักถึงปัญหาระบบการผลิตอาหารในเมืองที่ไม่สมดุลกับประชากรในเมือง ซึ่งเมืองหลายแห่งไม่เพียงเฉพาะเซินเจิ้น ต่างต้องพึ่งพาผลผลิตทางเกษตรจากพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ห่างไกลจากเมือง ทำให้ค่าอาหารของคนเมืองมีราคาแพงจากค่าขนส่งจากฟาร์มในพื้นที่ชนบทนั้นเอง การฉายภาพพื้นที่เกษตรในเมืองในอนาคตจึงช่วยให้คนเมืองหันกลับมาฉุดคิดและตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรในเมืองกันมากขึ้น เพื่อให้เมืองลดการพึ่งพาแหล่งอาหารจากพื้นที่ชนบทลง ซึ่งรูปแบบการสื่อสารของ Landgrab City ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายพื้นที่ ไม่เพียงเฉพาะในจีน แต่ยังได้ขยายไปสู่แอฟริกา ลาตินอเมริกา ไปจนถึงยุโรปตะวันออก ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ตั้งของประเทศกำลังพัฒนา และหลายเมืองของประเทศเหล่านี้ก็กำลังเผชิญปัญหาคล้ายกับที่เซินเจิ้นกำลังเผชิญอยู่นั้นเอง

นอกจากการเป็นพื้นที่ต้นแบบการพึ่งพาตนเองในด้านอาหารแล้ว ที่ Landgrab City เองก็เป็นพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาพบปะและมาทำกิจกรรมของครอบครัวร่วมกันในพื้นที่ ทุกๆ เดือน พืชผัก เช่น มะเขือยาว พริก ข้าวโพด และผักชนิดอื่นๆ ก็จะออกผลผลิตให้พ่อแม่นำลูกหลานมาเก็บผลผลิตร่วมกัน วิธีการเก็บเกี่ยวก็จะได้รับการสอนโดยทีมงานของมูลนิธิ Biennale ซึ่งเด็กๆ ก็จะได้รับประสบการณ์จากการทำสวนผักกลับไป หากเด็กๆ สามารถตอบคำถามของทีมงานได้ถูกต้องก็จะได้รับผักสดจากแปลงผักที่พวกเขาเก็บเกี่ยวกลับไปทำอาหารที่บ้านอีกด้วย

การเติบโตของเมืองและการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมดังเดิมลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และทำให้คนเมืองมีวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่และตัดขาดจากพื้นที่ชนบทโดยสิ้นเชิง การมีสวนผักในใจกลางเมืองจึงช่วยเมืองสามารถพึ่งพาตนเองในด้านอาหารมากขึ้น เข้ามาพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ดังนั้น สวนผักในเมืองจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวที่ไม่สามารถละเลยได้ ในปัจจุบัน พื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่รกร้างของเมืองในหลายแห่งเองก็ยังไม่ถูกทำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ และหากนำพื้นที่เหล่านี้มาพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรในเมืองเช่น Value Farm และ Landgrab City ก็จะช่วยให้เมืองกลับมีชีวิตชีวาได้มากขึ้น

References