ปลุกพลัง นักปลูกเมือง ตอนที่ 8 : เดินชมเมือง

ปัจจุบัน พวกเราเดินบนทางเท้าน้อยลงมาก เวลาเราเดินทางไปสวนสาธารณะใกล้บ้านก็นิยมใช้พาหนะสวนตัว เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ จักรยาน เป็นต้น หรือใช้บริการรถ taxi หรือรถประจำทางในการเดินทาง ด้วยวิถีชีวิตที่เป็นไปอย่างเร่งรีบในเมืองก็ยิ่งทำให้คนเมืองตัดสินใจเดินบนทางเท้าได้ยากขึ้นไปอีก แต่หากไม่มีข้อจำกัดในแง่ของความเร่งรีบและความสะดวกสบายในการเดินทาง การเดินก็ถือเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่งที่หลายคนละเลยไป นอกจากนั้นการเดินเองนั้นก็ช่วยเราพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักที่อยู่ตามทางเดินกันมากขึ้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำได้ยากหากใช้ยานพาหนะในการเดินทาง อีกทั้งหากเราเดินทางด้วยยานพาหนะก็อาจพลาดมุมดีๆ ของเมืองไปอย่างน่าเสียดาย

ในกิจกรรมปลุกพลัง นักปลูกเมืองครั้งนี้ เราได้ทำกิจกรรมเดินไปตามทางเท้าของ ถ.นาคนิวาส (ลาดพร้าว 71) โดยสถานที่แรกที่เราแวะไป คือ ร้าน Farm To You โดยคุณชุมพล พิพัฒน์เมฆินทร์ (พ่อกุ๊ก) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ Farm To School จากความคิดริเริ่มที่อยากพัฒนาคุณภาพทางโภชนาการที่ดีให้แก่ลูกและเด็กๆ ในโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบัน ผักและผลไม้ที่นำมาทำเป็นอาหารกลางวันมีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนสารเคมี และโรงเรียนหลายแห่งเข้าถึงอาหารอินทรีย์ได้ยากอันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านราคาที่สูงและการจัดการวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารให้เหมาะสมต่อภาวะโภชนาการ โดยดำเนินการด้วยการนำผักและผลไม้อินทรีย์จากเกษตรกรมาส่งที่โรงอาหารของโรงเรียนโดยตรง (ไม่ซื้อสินค้าจากตลาดหรือพ่อค้าคนกลาง) ทำให้ค่าอาหารอินทรีย์ถูกลง และส่งเสริมให้โรงเรียนปลูกผักในพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อช่วยให้เด็กๆ เห็นคุณค่าจากการปลูกทานเองและลดการพึ่งพาผักจากนอกพื้นที่ให้มากที่สุด

เพื่อดูว่าคนในชุมชนรอบข้างมีความตื่นตัวต่อการบริโภคอาหารปลอดภัยมากน้อยเพียงใด พ่อกุ๊กจึงเปิดร้าน Farm To You ขึ้นเพื่อดูการตอบรับจากชุมชน สินค้าที่วางขายในร้านก็มีความหลายหลากตั้งแต่สินค้าอินทรีย์ สินค้ากึ่งอินทรีย์ และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากสินค้าที่ไม่ผลิตแบบอินทรีย์ 100% ก็บอกกับลูกค้าตามตรง ซึ่งทุกๆ เดือน พ่อกุ๊กจะไปเยี่ยมฟาร์มเกษตรที่นำสินค้ามาขายที่ร้าน เพื่อให้ทราบแหล่งที่มา กระบวนการผลิตสินค้าและนำมาสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างตรงไปตรงมา จากการเปิดร้าน ก็ทำให้ทราบว่าช่องทางการขายหลักมาจากอินเทอร์เน็ต

จากการเปิดร้าน Farm To You และ Farm To School พ่อกุ๊กจึงเกิดแนวคิดการจัดตั้งสหกรณ์ผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะมีเกษตรกรที่ผลิตสินค้าอินทรีย์กันมากขึ้นในปัจจุบัน แต่สินค้าอินทรีย์ส่วนใหญ่ถูกส่งไปขายตามห้างโมเดิร์นเทรดแบบรวมศูนย์ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้จักเกษตรกรผู้ผลิต ไม่ทราบที่มาของสินค้าอินทรีย์ และทำให้อำนาจต่อรองในการซื้อ-ขายสินค้าเกษตรถูกผูกขาดที่พ่อค้ากลางตามเดิม อีกทั้งก็เป็นเรื่องแปลกคนในท้องถิ่นไม่ได้กินสินค้าในพื้นที่ เช่น คนเพชรบูรณ์กลับต้องกินข้าวที่ผลิตจากอีสาน ทั้งๆ ที่เพชรบูรณ์เองก็ผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีอยู่หลายชนิด การมีสหกรณ์จะช่วยรวบรวมผลผลิตในพื้นที่และส่งมอบให้ผู้บริโภคในพื้นที่โดยตรง แต่สหกรณ์ผู้บริโภคจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องเกิดจากความตื่นตัวของผู้บริโภคเอง หากผู้บริโภคยังชื้อสินค้าจากความสะดวกสบายเป็นหลักและซื้อสินค้าทั้งที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งอาหาร สหกรณ์ผู้บริโภคก็เป็นการยากที่จะเกิดอย่างเป็นรูปธรรมได้ การตื่นตัวของผู้บริโภคก็เกิดจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน อย่างกรณีคนญี่ปุ่นเกิดความตื่นตัวเรื่องการกินอาหารอย่างเข้มแข็ง เพราะในอดีตเผชิญวิกฤตความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แถบจะไม่มีอาหารให้กินเลย แต่ในประเทศไทย การเผชิญโรคร้ายแรงและภาวะสุขภาพที่ไม่ดีจากการทานอาหารไม่ปลอดภัยจะสร้างการตื่นตัวของผู้บริโภคได้มากขึ้น

เมื่อเดินมาจนเหนื่อย ก็แวะมาพักที่ร้าน Organic Supply โดยดำเนินธุรกิจร้าน Café และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเกิดจากกลุ่มคนที่สนใจบริโภคสินค้าอินทรีย์และไม่สามารถหาร้านสินค้าอินทรีย์ได้ในพื้นที่ ที่ Organic Supply จะเน้นหลักการ Reduce Reuse Recycle เพื่อสร้างขยะออกร้านให้ออกไปน้อยที่สุด อาทิ ไม่ใช้ภาชนะพลาสติก ส่งเสริมให้ลูกค้าใช้ถุงผ้า เศษผักผลไม้ที่เหลือก็จะนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก และนำปุ๋ยหมักมาเป็นดินเพาะปลูกพืช สินค้าที่เป็นที่นิยมในร้านมีตั้งแต่อาหาร ขนมและเครื่องสำอาง โดยสินค้ายอดนิยมใน Café ของที่นี้ คือ เค้ก ที่ไม่ใช้แป้งเป็นวัตถุดิบเลย โดยใช้ ซุกินี  (Zucchini) ซึ่งผักตระกูลแตงมาใช้แทนแป้ง ทำให้เนื้อของเค้กมีความแน่นและดีต่อสุขภาพของผู้ทาน

หลังจากการเดินเมืองเราจะพบการเปลี่ยนแปลงของเมืองและความเป็นเอกลักษณ์ในชุมชน หากพื้นที่ใดเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านส่วนบุคคลก็จะไม่มีการสร้างคอนโดในพื้นที่ และหากพื้นที่ใดเกิดคอนโดเป็นจำนวนมาก ก็แสดงว่าเจ้าของที่ดินครอบครองพื้นที่แปลงใหญ่นั้นเอง อีกทั้งเมืองของเราเองก็ไม่ถูกออกแบบให้รู้สึกถึงความน่าเดินมากนัก เพราะทางเท้ามีต้นไม้ใหญ่ปลูกน้อยมาก หลายต้นถูกตัดแต่งอย่างไม่ถูกหลัก ทำให้ไม่เกิดร่มเงาตามทางเดิน เวลาเดินจึงรู้สึกร้อน อีกทั้งทางเท้าก็มีระดับพื้นที่ไม่ราบเรียบ ทำให้เวลาเดินบนทางเท้าต้องระวังต่อการสะดุลล้มอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งต่างจากเมืองในบางประเทศ ที่ทางข้ามถนนจะอยู่ระดับเดียวกับทางเท้า ทำให้รถต้องชะลอความเร็ว และไม่จำเป็นต้องมีสะพานลอยซึ่งสร้างความไม่สะดวกต่อคนที่สัญจรบนทางเท้า

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ คลองส่วนใหญ่ในกรุงเทพได้ตายไปแล้วจากการใช้ถนนเป็นช่องทางในการสัญจรหลัก ในอดีตคนในชุมชนใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก หากสังเกตให้ดีก็จะพบอีกว่า หน้าวัดเก่าแก่ในอดีตจะหันหน้าไปที่คลอง แต่ปัจจุบันหน้าวัดได้หันไปที่ถนนแทน คลองเองมีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นเส้นทางสัญจรให้แก่คนเมืองได้เพราะสามารถเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัดตามท้องถนนได้ แต่ปัญหาน้ำเน่าเสียก็ทำให้คนเมืองไม่นิยมใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจร อีกทั้งนโยบายการพัฒนาคลองจากหน่วยงานรัฐที่มองว่าคลองเป็นพื้นที่สำหรับการจัดการน้ำเพียงอย่างเดียว ก็เป็นการยากที่จะทำให้คลองกลับมาชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ปัจจุบันคนเมืองใช้ทางเท้าในการสัญจรน้อยลง ทำให้การพัฒนาพื้นที่ทางเท้าในกรุงเทพถูกละเลยไป ซึ่งหากเราหันมาใช้ทางเดินเท้ากันมากขึ้น ก็จะช่วยให้เมืองเกิดพื้นที่สีเขียวตามท้องถนนมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างทางเดินให้มีความราบเรียบ สะดวกสบายต่อการเดินทาง ข้ามถนนโดยใช้ทางม้าลาย ไม่ใช้สะพานลอยเป็นทางข้ามเช่นปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่คนเมืองทุกท่านนั้นเอง ดังประโยคเด็ดที่ว่า หากอยากเปลี่ยนแปลงเมืองกรุงเทพให้เปลี่ยนที่ตัวเรา ส่วนการเปลี่ยนเมืองให้เป็นหน้าที่ของท่านผู้ว่าฯ นั้นเอง