วิจัยพบ การปลูกผักช่วยผู้ติดเชื้อ HIV ลดความทุกข์ทรมานใจอย่างรุนแรง (distress) และทำให้สุขภาพดีขึ้น

“ปลูกผักให้อะไรมากกว่าที่คิด” เชื่อว่าหลายคนที่ลองลงมือปลูกผักด้วยตัวเองจริงๆ ก็คงจะเข้าใจ หรือรู้ซึ้งถึงคำกล่าวที่ว่านี้กันดี ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เจ็บป่วยอยู่หรือไม่ก็ตาม

ในบ้านเรามีการนำเรื่องปลูกผัก ไปประยุกต์ใช้กับหลายเรื่องด้วยกัน และหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ และพบว่าได้ผลดีก็คือเรื่องของสวนผักบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรื่องของสวนผักกับการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช ผู้ติดยาเสพติด หรือใช้เรื่องของสวนผักเพื่อช่วยฟื้นฟูศักยภาพทางสังคมและจิตใจ ของผู้ป่วยจิตเวช แต่ผลที่ได้ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปของเรื่องเล่า ประสบการณ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ยังไม่มีใครทำวิจัยอย่างจริงจังนัก

ในต่างประเทศ เรื่องของการทำสวนผักชุมชนได้รับความสนใจอย่างมาก และพบว่ามีประโยชน์มากมายเกิดขึ้น จึงได้มีการทดลองศึกษาวิจัย โดยได้ลองนำเรื่องสวนผักชุมชน มาเชื่อมโยงกับเรื่องการช่วยบำบัดเยียวยาทางจิตใจและทางสังคมของผู้ติดเชื้อ HIVโดยเน้นในกลุ่มที่ตกงาน และมีปัญหาเรื่องซึมเศร้า เป็นหลัก

การวิจัยที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ได้รับทุนจากNational Center for Research Resources ในกระบวนการวิจัยนั้น ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัยจะมาทำงานในสวนผักชุมชนเป็นเวลา 2 วันต่อสัปดาห์ และทำติดต่อกัน 8 สัปดาห์ แต่ละครั้งก็จะได้รับเงินค่าตอบแทนเล็กน้อย เวลาทำงานก็เริ่มตั้งแต่ 7.30-11.30 น. โดยงานก็มีตั้งแต่การรดน้ำ ถอนหญ้า ปลูกผัก ถอนหญ้า และเก็บเกี่ยว ก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละวัน ก็จะมีการให้ความรู้ต่างๆก่อน เช่นเรื่องพืชผัก เรื่องระบบอาหาร หรือเรื่องแมลงต่างๆ ส่วนตอนท้ายกิจกรรม ก็จะมีการนั่งล้อมวง แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ และความรู้สึกนึกคิดร่วมกัน รวมถึงการเขียนบันทึกส่วนตัวด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมเสริมอื่นๆในสวน เช่นการทำงานร่วมกับอาสาสมัครที่มาทำงานในสวน การจัดดอกไม้ หรือการทำน้ำส้มสมุนไพรต่างๆ

งานนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมด 11 คน แต่มีเพียง 6 คนที่เข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพบว่าระดับของความซึมเศร้า และความวิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะลดลง แม้ว่าตัวเลขทางสถิติจะไม่มีนัยสำคัญก็ตาม คือจากระดับคะแนนความซึมเศร้าก่อนร่วมทำสวนผักอยู่ที่ 12.7 หลังร่วมอยู่ที่ 11.3 และระดับคะแนนความวิตกกังวลจาก11.2 เป็น 7.7  นอกจากนี้ยังพบว่าการมาร่วมทำสวนผักชุมชน ยังมีส่วนช่วยทำให้สุขภาพทางกายดีขึ้น และทำให้หันไปพึ่งยาเสพติดน้อยลงด้วย ที่สำคัญยังพบว่าผู้ป่วยกินผักและผลไม้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย

เสียงสะท้อนจากผู้ติดเชื้อ HIV เกี่ยวกับการทำมาสวนผักชุมชน มีตั้งแต่ว่า

เขารู้สึกว่าตื่นเช้ามาแล้วมีที่ไป    

การมาทำสวนทำให้เขาไม่หมกมุ่นจมอยู่ในความคิดที่เป็นทุกข์

การทำสวนผัก ทำให้อารมณ์ดี มีสมาธิมากขึ้น แล้วก็ทำให้มีแรงบันดาลใจ

การทำสวนผักทำให้เขาจดจ่ออยู่แต่กับเรื่องดีงาม

การทำสวนผักทำให้ความโกรธ ความเกลียดลดน้อยลง

การทำสวนผักทำให้เขาเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง หรือทำอะไรเองที่บ้านได้ และหลายคนก็วางแผนว่าจะกลับไปปลูกผัก ปลูกดอกไม้เองที่บ้านด้วย

ที่น่าสนใจคือ พบว่าการทำสวนผักนี้ทำให้พวกเขารู้สึก อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น อยากจะสอน และชวนผู้อื่นทำสวนผักในชุมชนตัวเองมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ก็มีเสียงสะท้อนเรื่องการที่ได้เรียนรู้การทำงานแบบเป็นทีมมากขึ้น อีกทั้งยังได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย

แม้ว่าถ้าวัดการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ ตัวเลขจะไม่มีนัยสำคัญนัก แต่เรื่องราว ประสบการณ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น และที่ผู้ป่วยได้สะท้อนออกมา ก็ถือเป็นข้อค้นพบที่แสดงถึงแนวโน้มที่ดี ของการนำเรื่องสวนผักชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบำบัดเยียวยาผู้ติดเชื้อ HIV ช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานทางใจ และทำให้สุขภาพทางกายดีขึ้นได้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะนำไปสู่การวิจัยเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนมากขึ้นต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21986870

ขอบคุณรูปภาพจาก  FB Gateway Greening สวนผักซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ไปทำงาน