กระถางประสิทธิภาพสูง 7 วันรดน้ำ 1 ครั้ง

หนึ่งในนวัตกรรม หรือรูปแบบการปลูกผักที่ได้รับความสนใจไม่น้อยที่เครือข่ายสวนผักคนเมืองได้ทดลองและนำมาแบ่งปันกัน ในลานสวนผักคนเมือง งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา ก็คือ กระถางประสิทธิภาพสูง ที่เขาว่าประหยัดน้ำ ประหยัดปุ๋ย พืชโตไว 

คงต้องบอกว่ากระถางนี้นอกจากจะเหมาะเป็นพิเศษสำหรับคนไม่ค่อยมีเวลารดน้ำแล้ว ยังเหมาะกับสภาพปัญหาปัจจุบันที่เรามักจะเผชิญภัยแล้ง เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก พี่สุธนวิทยากรที่มาแบ่งปันความรู้นี้ให้เราบอกว่า จากการเก็บข้อมูล เขาพบว่าถ้าปลูกผักกระถางขนาด 1 ฟุต เรารดน้ำครั้งหนึ่งใช้น้ำประมาณ 3 ลิตร ถ้ารดวันละ 2 ครั้ง ก็ใช้น้ำประมาณ 6 ลิตร ในขณะที่กระถางประสิทธิภาพสูงนี้รดน้ำครั้งเดียว อยู่ได้ถึง 7 วันเลยทีเดียว ที่สำคัญเราสามารถทำกระถางที่ว่านี้ใช้เองได้ง่ายๆด้วย ทำอย่างไร ลองมาดูกันนะคะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้คือ

  1. ถังที่ไม่มีรูรั่ว สามารถเก็บน้ำได้
  2. ท่อพีวีซี
  3. ตะกร้าขนาดที่สามารถคว่ำลงแล้วพอดีกับก้นถัง
  4. ที่เจาะหัวแร้ง หรือเหล็กแหลม

วิธีทำคือ

  1. เจาะรูด้านข้างตะกร้า เพื่อให้สอดท่อพีวีซีเข้าไปได้ทะลุทั้งสองด้าน
  2. เจาะรูที่ท่อพีวีซี บริเวณความยาวช่วงที่อยู่ภายในตะกร้า เพื่อระบายอากาศ
  3. เจาะรูที่ถังด้านข้างทั้งสองข้าง โดยวัดระดับให้สามารถวางตะกร้า สอดท่อพีวีซีทะลุด้านข้างได้ และบริเวณพื้นที่ด้านล่างของถังสามารถเก็บกักน้ำได้

หลักการทำงานของกระถางนี้ก็คือ เมื่อเรารดน้ำลงไป น้ำก็จะเก็บกักอยู่ด้านล่าง ส่วนบริเวณด้านบนของตะกร้าก็จะเป็นวัสดุปลูกและดินที่ใช้ปลูกพืช รากของพืชก็จะสามารถลงไปดูดน้ำที่กักเก็บไว้ได้ โดยที่เราไม่ต้องรดน้ำ และเมื่อเรารดน้ำครั้งต่อไป เราก็สามารถกะปริมาณน้ำให้พอเหมาะได้ โดยสังเกตที่ท่อพีวีซีที่ยื่นออกมาจากถัง หากรดจนน้ำล้นออกมาจากท่อแล้ว ก็ถือว่าปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว และสามารถที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นกับดินและพืชต่อได้อีกประมาณ 7 วันโดยไม่ต้องรดน้ำ

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ กระถางนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการมีระบบอากาศที่สามารถระบายถ่ายเทได้ดี ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีขึ้นด้วย โดยอากาศนี้ก็จะเข้าผ่านทางท่อพีวีซี และระบายผ่านรูที่เจาะไว้ขึ้นไปด้านบน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระถางประสิทธิภาพสูงไว้ใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือการปรุงดินให้ดี และใส่ใจดูแลพืชที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย พืชที่เราปลูกถึงจะเติบโตงอกงาม เป็นอาหารที่ดีให้เรากินได้ต่อไปนะคะ

 

ขอบคุณพี่สุธน  แสงตันเจริญ ที่มาเเบ่งปันความรู้ค่ะ