Sensory Garden – สวนเพื่อการสัมผัส

 

ไม่ว่าจะไปตามอาคาร โรงเรียน โรงพยาบาลหรือสำนักงานต่างๆ ในเมือง เกือบทุกอาคารต้องมีสวนไว้ประดับตกแต่งสถานที่และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้แก่ผู้มาพบเห็น โดยเฉพาะโรงเรียน เรามักพบว่าหลายโรงเรียนเริ่มหันมาทำสวนผักเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน และช่วยให้เด็กเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นประเทศในกลุ่มยุโรป ก็มีสวนผักรูปแบบหนึ่ง คือ Sensory garden หรือแปลเป็นไทยได้ว่า สวนเพื่อการสัมผัส ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่ช่วยให้ผู้ชมสนุกกันการใช้สัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และผิวสัมผัส ส่วนจะเน้นการพัฒนาสัมผัสด้านไหนนั้นก็ขึ้นกับการออกแบบสวนแต่ละแห่ง

สวนเพื่อการสัมผัสช่วยให้เด็กๆ มีพื้นที่ในการสนุกกับการสัมผัสพรรณไม้ในรูปของกลิ่นหอม ผิวสัมผัส และสีสัน นอกจากการพรรณไม้ที่ถูกนำมาปลูกในสวนแล้ว เด็กๆ ยังสามารถสนุกกับเสียงของกระดิ่ง ถุงลม หรือธงจากการพลิ้วไหวของลม หรืองานศิลปะของเด็กๆ สามารถนำมาประดับภายในสวน โดยทั่วไป สวนเพื่อการสัมผัสจะทำกันเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ทางเดินเท้า (sensory pathways) และ คีย์โฮล (keyhole garden) การทำสวนเพื่อการสัมผัสสามารถทำได้ตั้งแต่พื้นที่ริมหน้าต่างไปจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ ส่วนจะใช้พื้นที่มากเท่าไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการให้เด็กๆ มีพื้นที่เรียนรู้มากแค่ไหน ดังนั้น จึงไม่มีโรงเรียนใดที่ทำสวนไม่ได้ การออกแบบพื้นที่สวนก็สามารถทำได้หลากหลายซึ่งขึ้นอยู่กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเช่นกัน หากโรงเรียนไม่มีเด็กพิการที่นั่งรถเข็น เราก็สามารถออกแบบสวนให้มีต้นไม้แน่นเต็มพื้นที่ได้

ทำไมเด็กต้องเรียนรู้และสัมผัสกับพืชพรรณในสวน

สวนเพื่อการสัมผัสเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ในการค้นหาสัมผัสและความรู้สึกจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เด็กพิการยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการสัมผัสเนื่องจากช่วยบำบัดโรคและมีปลอดภัยในเวลาทำกิจกรรม นอกจากการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสแล้ว การได้เห็นนก แมลง ผีเสื้อ ดอกไม้นานาพันธุ์ก็มีส่วนช่วยให้เด็กซึมซับธรรมชาติและเรียนรู้ชีววิทยาวิทยาไปในตัวเช่นกัน อีกทั้งความร่มรื่นของสวนก็เป็นพื้นที่ให้เด็กเข้ามาทำกิจกรรมยามว่างหรือมาผ่อนคลายจิตใจได้เช่นกัน

สวนควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

รูปสัมผัสจากทิวทัศน์

วิวทิวทัศน์มีผลต่อความน่ามองของสวนโดยตรง สวนจึงควรมีความสวยงามและเชิญชวนให้เด็กๆ อยากเข้ามาสนุกกับการเรียนรู้ภายในสวน โดยทั่วไปเรามักออกแบบสวนให้มีสีเขียวเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้แก่จิตใจและความเพลิดเพลินกับความร่มรื่นของพรรณไม้ สิ่งที่ขาดไม่ได้นี้ คือ ไม้ยืนต้น ที่จะสร้างร่มเงาให้เด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่สวนได้ หากต้นไม้เขียวตลอดทั้งปีก็จะเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ใช้ได้ทุกโอกาส

การเลือกดอกไม้ที่นำมาปลูกในสวนก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เช่นกัน เพราะสวนจะน่ามองก็ต้องมีสีสันของดอกไม้ เลือกช่วงเวลาในการออกดอกของต้นไม้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะพืชแต่ละชนิดออกดอกในฤดูกาลที่ต่างกัน ซึ่งสีของดอกไม้ควรตัดกับโทนสีของต้นไม้ในสวน เช่น สีชมพู สีส้ม สีขาว สีฟ้า เป็นต้น

ผิวสัมผัสจากวัสดุธรรมชาติ

พืชแต่ละพันธุ์ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน อาทิ ความกว้าง ความแคบ รูปร่าง หรือขนของใบไม้ ผิวสัมผัสยังครอบคลุมไปถึงการใช้พื้นผิว เช่น กระเบื้อง โมเสค ก้อนกรวด ชิ้นแก้วขัด หรือไม้ โดยเฉพาะไม้ที่ให้ผิวสัมผัสของความหยาบ ความเรียบ ร่องตามเปลือก หรือพื้นไม้ปูระเบียง อีกทั้ง หินและอิฐก็ให้สัมผัสภายใต้ฝาเท้าของเด็กที่เข้ามาเล่นในสวนอีกด้วย

กลิ่นหอมจากพืชพรรณ

เพื่อให้สวนมีกลิ่นหอม เราจึงนิยมปลูกดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมไว้ในสวน อาทิ มะลิ จำปี จำปา หรือสายหยุด นอกจากดอกไม้แล้ว ไม้ที่มีกลิ่นหอมก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการนำมาปลูกในพื้นที่ ซึ่งกลิ่นหอมของไม้จะมากขึ้นเมื่อไม้แห้งมากขึ้น ไม้พุ่มดอก หรือ พืชสมุนไพรก็สามารถให้กลิ่นที่ชวนสงสัยให้แก่เด็กๆ เช่นกัน แถมได้เรียนรู้ประโยชน์ของการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคไปในตัว

เสียงสัมผัสแห่งชีวิต

สิ่งหนึ่งที่ยุ่งยากต่อการปิดบัง คือ เสียง แต่เราสามารถควบคุมด้วยการปลูกต้นไม้สูง หรือ ไผ่ สำหรับให้ลมที่พัดผ่าน เราสามารถผูกเชือกกับต้นไม้ไว้เป็นราวแล้วแขวนธง กระดิ่ง หรือถุงลมเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เด็กๆ ได้ สายน้ำจากน้ำพุหรือบ่อน้ำตกเองก็สามารถสร้างเสียงของสายน้ำให้แก่ผู้มาเยือนเช่นกัน หากมีพื้นที่เหลือ การทำพื้นที่แหล่งน้ำในสวนก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เสียงร้องของนกที่เข้ามาทำรังในพื้นที่สวนก็เป็นสิ่งชวนให้เด็กอยากพบ อยากเห็น และศึกษาพฤติกรรมของนกได้เช่นกัน

รสชาติของผักและผลไม้

ไม่มีพืชชนิดใดที่ให้รสสัมผัสได้ดีเท่าผักสวนครัวและผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย และหลายโรงเรียนก็นิยมปลูกผักไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาวะและโภชนาการให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียน การปลูกผักตามฤดูกาลจะช่วยลดภาระในดูแลสวนได้

การดูแลรักษาสวน

เช่นเดียวกับสวนผัก สวนเพื่อการสัมผัสก็ต้องมีการบำรุงรักษาเพื่อให้สวนมีความน่ามองและเชิญชวนให้เด็กๆ เข้ามาสนุกกับการเรียนรู้ ส่วนจะใช้วิธีการดูแลอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสถานที่และทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ หากสวนอยู่ในโรงเรียน คุณครูที่เป็นผู้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสื่อการสอนก็สามารถแบ่งเวรให้เด็กเข้ามาช่วยดูแลได้ หรือ หากเรามีคุณครูท่านอื่นที่ใช้พื้นที่สวนแห่งนี้เป็นสื่อการสอนได้เหมือนกัน และสามารถออกแบบหลักสูตรการสอนแบบบูรณาการร่วมกันได้ ในช่วงวันหยุดยาวหรือช่วงปิดเทอมของเด็กๆ ก็อาจมีปัญหาต่อการดูแลสวนได้ไม่น้อย เพราะผักหรือพืชก็ต้องการน้ำในการดำรงชีวิต หากไม่รดน้ำ 3-4 วันติดต่อกัน ก็อาจทำให้พืชตายได้ การแบ่งหน้าที่และช่วยกันดูแลสวนจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากไม่ต้องการปวดหัวกับการจัดการวัชพืชจะขึ้นรกในสวน ก็ต้องใช้”หญ้าเทียม”มาปูพื้นที่แทน ซึ่งผิวสัมผัสของหญ้าเทียม กับ หญ้าจริง ย่อมต่างกันมาก

ตัวอย่าง Sensory garden ใน Meath Green Junior School

เรามาดูตัวอย่างสวนเพื่อการสัมผัสของโรงเรียน Meath Green Junior School ที่ตั้งอยู่ย่าน Meath Green ชานเมือง London เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่จัดสวนให้เด็กเกิดความตื่นตาตื่นใจและอยากเข้ามาเรียนรู้ภายในสวน ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดสวนด้วยพรรณไม้หลากชนิดและสร้างพัฒนาการและจินตนาการให้แก่เด็กๆ ที่เข้ามาเรียนรู้ สวนแห่งนี้จัดไว้หลายรูปแบบ เช่น การทำซุ้ม Spider Pergola ซึ่งมีลักษณะคล้ายหลังคาใยแมงมุมเพื่อให้เด็กๆ เกิดจินตนาการว่ากำลังเดินอยู่ในใยแมงมุม รวมถึงสนุกกับซุ้มพันธุ์ไม้จากต่างถิ่น เป็นต้น

สวนแห่งนี้เด็กจะได้เรียนรู้ในหลากหลายมิติ อาทิชีววิทยา ที่ได้เห็นช่วงฤดูการออกดอกของพืชพรรณ กลิ่นหอมของดอกไม้ การผสมเกสรของผีเสื้อและแมลงต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในสวน ด้วยสวนที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม สวนแห่งนี้จึงสร้างสุนทรียภาพให้เด็กๆ เป็นอย่างดี สวนแห่งนี้จึงเป็นห้องเรียนส่วนหนึ่งของวิชาศิลปะเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เด็กจากโรงเรียนแห่งนี้จะมีประสาทสัมผัสที่ดีกว่าเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยตึกและอาคาร สวนเพื่อการสัมผัสจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในเขตเมืองได้อีกทางหนึ่ง เสริมสร้างพัฒนาการและฝึกทักษะการสังเกตุของเด็กวัยเรียน

References