If they grow it, they will eat it : ถ้าพวกเขาเป็นคนปลูก พวกเขาก็จะกิน

เด็กไม่กินผัก ดูจะเป็นปัญหาที่มีคนพูดถึงมานาน เเละยังคงเป็นปัญหาที่พบอยู่บ่อยๆในปัจจุบัน ไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น อีกหลายประเทศในโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน รวมถึงประเทศอเมริกา ซึ่งส่งผลให้เด็กๆมีเเนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคอ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด

ด้วยตระหนักถึงปัญหานี้ Alice Water ก็ได้ริเริ่มทำโครงการ Edible Schoolyard  ขึ้นที่นิวยอร์ก โดยเขาได้นำเรื่องของการปลูกผัก และการศึกษาเรื่องอาหารและโภชนาการต่างๆมาผนวกเข้ากับหลักสูตรในโรงเรียน เรียกว่านอกจากเด็กๆจะได้เรียนรู้เรื่องการปลูกผักในวิชาเกษตรแล้ว เด็กๆยังได้เรียนรู้เรื่องการปรุงอาหาร เรียนรู้เรื่องอาหารที่ดี มีคุณภาพว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงแปลงผักและการทำครัวเข้ากับวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  ภูมิศาสตร์หรือภาษาโดยมีจุดมุ่งหมายว่าอยากจะให้เด็กๆมีอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ และเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการกินอย่างทั่วถึง และทำให้เด็กๆตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาเรื่องโรคภัยต่างๆที่คุกคามลดน้อยลง

จากประสบการณ์การทำโครงการนี้ เขาพบว่านำเรื่องปลูกผักและทำครัวเข้ามาผนวกในหลักสูตรต่างๆของโรงเรียนนั้น ทำให้เด็กๆเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีทักษะการใช้ชีวิตมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกห้องมากขึ้น แทนที่จะนั่งอยู่แต่ในห้องหรือนั่งอยู่หน้าคอม อีกทั้งยังทำให้เด็กๆมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย ที่สำคัญของยังมีวิจัยพบว่า เด็กที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปกินผักและผลไม้มากขึ้น และมีความรู้เรื่องโภชนาการ สามารถที่จะเลือกกินอาหารที่มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพของตัวเองได้มากขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ได้ร่วมโครงการ

ไม่เพียงเท่านั้นเขายังพบว่าเด็กบางคนยังนำแนวคิด และเทคนิคเรื่องการปลูกผักกลับไปบอกให้ครอบครัว หรือชุมชนที่ตัวเองอยู่ทำด้วย ทำให้ทั้งที่บ้าน และชุมชนมีอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพไว้กินด้วยและด้วยตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวและชุมชนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็กๆ ไม่แพ้กัน ทางโครงการก็ยังมีกิจกรรมที่เชิญชวนให้ครอบครัวมาร่วมกันทำแปลงผักและทำอาหารร่วมกับเด็กๆที่โรงเรียนด้วย

ที่น่าสนใจคือ โครงการนี้ไม่ได้หยุดเพียงหลักสูตร และกิจกรรมที่เล่าให้ฟังเท่านั้น แต่เขายังทำงานต่อเรื่องอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนที่อยู่ในเขต Berkeley ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน Martin Luther King, Jr. Middle School โดยมีการจัดทำครัวกลางที่โรงเรียนเพื่อทำอาหารที่สด สะอาด ได้คุณภาพ ปรุงด้วยวัตถุดิบที่เป็นผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมด ทั้งที่ปลูกเองในแปลง และจากชุมชนรอบข้าง กระจายส่งให้โรงเรียนรวม 16 แห่งด้วยกัน เพื่อให้เด็กๆเรียนรู้ถึงรสชาติอาหารที่แท้จริง อีกทั้งยังมีการจัดบรรยากาศของที่รับประทานอาหารให้น่านั่ง รู้สึกผ่อนคลาย และมีการจัดระบบเรื่องการแยกขยะ และแยกเศษอาหารไว้สำหรับทำปุ๋ย เพื่อให้เด็กให้ความเชื่อมโยงของการหมุนเวียนเศษอาหารที่ตัวเองกินซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นปุ๋ยของพืชผักที่ปลูก และกลับมาเป็นอาหารให้คนกินได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ โครงการยังให้ความสำคัญกับการสร้างครูหรือนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องสวนผัก เรื่องอาหาร และเรื่องการทำครัว กับหลักสูตรการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กได้ จึงมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้ผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้จัดทำเวปไซต์เพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อนครูหรือนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่นำเรื่องการทำสวนผักและการทำครัวไปใช้ในหลักสูตรโรงเรียนด้วย ในเวปนี้นอกจากจะบอกว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหนแล้ว ยังมีฐานข้อมูลหลักสูตรมากมาย ทั้งเรื่องการทำสวนและการทำครัว ที่ครูสามารถเข้าไปเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้

ประเทศไทยเรา ตอนนี้ก็มีหลายโครงการที่พยายามทำงานเรื่องรณรงค์ส่งเสริมให้เด็กกินผักกันมากขึ้น บางโรงเรียนก็มีแปลงผัก ที่ชวนเด็กๆมาปลูก ซึ่งพวกเขาต่างก็พบว่า การที่เด็กๆได้ปลูกผักด้วยตัวเอง ได้รู้ที่มาของอาหาร ก็มีส่วนช่วยให้พวกเขาหันมากินผักกันมากขึ้น เเถมยังกินด้วยความภาคภูมิใจด้วย เพราะตัวเองได้มีส่วนในการช่วยลงมือทำ หากเราได้มีการช่วยกันคิดหลักสูตร ช่วยกันออกเเบบการเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยทั้งต่อเด็ก ครอบครัว ชุมชน รวมถึงคุณครูเองด้วย ว่ามั้ยคะ

คุณครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องท่านใดสนใจ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมว่าหลักสูตรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักที่โครงการนี้เขาทำกันเป็นอย่างไร ลองค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://edibleschoolyard.org/esy-berkeley 

ขอบคุณรูปภาพและเรื่องราวจาก

http://edibleschoolyard.org/esy-berkeley

http://www.examiner.com/article/could-your-child-benefit-from-participating-an-edible-schoolyard-curriculum

inhabitat.com