The Connected City

หลังจากเวทีเสวนา ”วิถีเมืองสุขภาวะ เมืองแห่งความสุข” ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ปลุกพลัง นักปลูกเมือง” ก็มีเกมที่มีชื่อว่า “The Connected City” คิดค้นโดย อาจารย์ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยเกมนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เล่นตระหนักถึงความสำคัญของการวางผังเมืองและรู้ถึงผลกระทบที่ตามมาจากการวางผังเมืองที่ไม่ถูกต้อง

โดยทั่วไป ที่ดินมักถูกใช้ตามกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของคนเมือง โดยเกมนี้จำลองการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 6 รูปแบบดังนี้ พื้นที่อยู่อาศัย (Residential) พื้นที่การค้า (Commercial) พื้นที่เกษตรกรรมหรือแหล่งผลิตอาหาร (Food) พื้นที่อุตสาหกรรม (Industiral) พื้นที่สีเขียว (Environment) และ ถนน (Road) นอกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้ง 6 รูปแบบแล้ว ก็ยังมีการจำลองกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินออกเป็น 6 รูปแบบ ได้แก่ การทุบตึก หรือ ทุบทิ้ง (Demolition) เขตอนุรักษ์ (Protection) การพัฒนา (Upgrade) การเวนคืนพื้นที่ (Expropriate) ช่องด่วนพิเศษ (Fast track) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ – Special Economic Zone) ดังนั้น การจะออกแบบเมืองให้ดี ผู้เล่นจะต้องเข้าใจรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมการพัฒนาที่ดินเป็นอย่างดี รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบต่างๆ

รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ในความเป็นจริง ที่ดินสามารถถูกใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่การค้า สถานที่ราชการ โรงงาน โรงไฟฟ้า พื้นที่สีเขียว ถนน ทางพิเศษ ทางรถไฟฟ้า ไร่นา สวนผัก สวนผลไม้ เป็นต้น แต่เกมนี้จะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 6 รูปแบบเพื่อให้เกมนี้ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการใช้ประโยชน์นั้นมีทั้งเป็นผลดี ผลเสียและไม่ได้ประโยชน์ อีกทั้งพื้นที่แต่ละรูปแบบเองก็ให้ประโยชน์แก่พื้นที่อื่นได้จำกัดเช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

พื้นที่อยู่อาศัย (Residential) ได้แก่ บ้านเดี่ยว ห้องแถว อพาร์ทเม้นท์ คอนโด หมู่บ้าน เป็นต้น โดยปกติพื้นที่อาศัยของเราควรใกล้แหล่งผลิตอาหาร (Food) เพื่อเราสามารถซื้ออาหารในราคาถูกในพื้นที่ เพราะหากแหล่งผลิตอาหารอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัย ราคาอาหารก็จะแพงขึ้นตามค่าขนส่งสินค้านั้นเอง นอกจากพื้นที่ผลิตอาหารแล้ว พื้นที่สีเขียวเองก็มีส่วนช่วยให้พื้นที่อาศัยเกิดความน่าอยู่มากขึ้น เพราะพื้นที่สีเขียวถือเป็นแหล่งพักผ่อนที่มีสภาพธรรมชาติแห่งเดียวในเขตเมือง ซึ่งมีข้อสังเกตว่าที่ดินที่ใกล้สวนสาธารณะมีราคาที่แพงกว่าที่ดินไกลจากสวนสาธารณะ ในทางตรงกันข้ามหากพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมก็เป็นโทษต่อผู้อยู่อาศัยเอง เพราะโรงงานมักเป็นแหล่งก่อมลพิษทั้งทางบก น้ำ อากาศและเสียง ดังนั้น ที่อยู่อาศัยไม่ควรอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม

พื้นที่ผลิตอาหาร (Food) อาทิพื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง เช่นเดียวกับแหล่งที่อยู่อาศัย หากพื้นที่แหล่งอาหารอยู่ใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่สีเขียว พื้นที่ผลิตอาหารที่จะได้รับการพัฒนามากขึ้น เพราะมีแรงงานหรือเกษตรกรสามารถมาทำเกษตรได้สะดวกนั้นเอง อีกทั้งหากพื้นที่เกษตรใกล้พื้นที่สีเขียวก็จะเอื้อประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรเช่นกัน เพราะพื้นที่สีเขียวเป็นแหล่งรวมตัวของพืชและสัตว์ที่หลากหลายซึ่งช่วยควบคุมโรคและศัตรูพืชที่เข้ามารุกรานพื้นที่เกษตร อีกทั้งปลอดภัยจากแหล่งมลพิษเช่น ในทางตรงกันข้าม หากพื้นที่เกษตรอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบสารพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานรุกล่ำมาที่พื้นที่เกษตร ทำให้ผลผลิตการเกษตรปนเปื่อนสารพิษจากโรงงานและส่งผลเสียทางสุขภาพต่อตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคที่ทานอาหารจากแหล่งผลิตนั้นเข้าไป

พื้นที่การค้า (Commercial) หรือแหล่งค้าขายสินค้นนั้นเอง เช่น ร้านค้า ตลาด ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น พื้นที่การค้าจึงควรอยู่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อให้มีลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อของ ผู้อาศัยเองก็มีความสะดวกสบายมากขึ้นจากการจับจ่ายซื้อของตามร้านค้าใกล้บ้าน นอกจากแหล่งที่อยู่อาศัยแล้ว พื้นที่การค้าก็ควรอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมเพื่อที่สามารถขนส่งสินค้าจากโรงงานได้รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า พื้นที่สีเขียวเองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้พื้นที่การค้าเกิดความน่ามาพักผ่อนมากขึ้น ซึ่งผู้คนที่เข้ามักพักผ่อนหรือทำกิจกรรมยามว่างในพื้นที่สีเขียวก็มักนิยมจับจ่ายซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้านไป

พื้นที่สีเขียว (Environment) โดยทั่วไปมักเป็นสวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ พื้นที่เกษตรในเมือง รวมทั้งมหาวิทยาลัย สำนักงาน สถานที่ราชการ หรือ โรงพยาบาล ซึ่งที่เนื้อที่สวนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้สีเขียวและผู้คนนิยมใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ โดยทั่วไปแล้วพื้นที่สีเขียวให้คุณประโยชน์แก่พื้นที่ที่อยู่รอบข้าง แต่พื้นที่สีเขียวไม่ได้รับประโยชน์หรือปัจจัยเกื้อหนุนอะไรเลยจากพื้นที่อื่นๆ เช่น ถนน ที่อยู่อาศัย ร้านค้า หรือพื้นที่เกษตร และอาจเกิดความเสื่อมโทรมได้หากตั้งอยู่ใกล้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เพราะคงไม่มีใครอยากจะมาพักผ่อนหรือออกกำลังกายเพื่อมาสูดหรือสัมผัสมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมแน่นอน

ถนน (Road) โดยทั่วไป ถนนเองไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลยแก่ผู้เป็นเจ้าของ แต่ถนนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการพัฒนาเมือง เพราะถ้าไม่มีถนนก็ไม่มีเมือง ถนนช่วยให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่ระหว่างกันได้สะดวก ดังนั้น การมีถนนจะช่วยให้ผู้คนและสินค้าเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น หากพื้นที่อาหารและพื้นที่อยู่อาศัยถูกเชื่อมระหว่างกันด้วยถนน พื้นที่ทั้ง 2 ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น จึงส่วนสำคัญต่อการวางผังเมืองและการจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นอย่างมาก

ตัวเลือกเสริมสำหรับการจัดการพื้นที่

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินในเกมนี้ ได้แก่ การทุบตึก หรือ ทุบทิ้ง (Demolition) เขตอนุรักษ์ (Protection) การพัฒนา (Upgrade) การเวนคืนพื้นที่ (Expropriate) ช่องด่วนพิเศษ (Fast track) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ – Special Economic Zone) ซึ่งจะเลือกใช้ตัวเลือกใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่เมืองและแผนการพัฒนาเมือง

การทุบทิ้ง (Demolition) เป็นการเลือกทำลายพื้นที่หรืออาคารของใครก็ได้ให้กลับไปเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเหมือนเดิม ส่วนจะใช้ในสถานการณ์ใด ก็แล้วแต่ผู้เข้าร่วมเกมต้องการพัฒนาพื้นที่เป็นแบบใด ยกตัวอย่างเช่น หากพื้นที่สีเขียว ที่อยู่อาศัย และพื้นที่เกษตรอยู๋ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลเสียต่อพื้นที่ข้างเคียงดังกล่าว เราก็สามารถเลือกทุบพื้นที่โรงงานทิ้ง และเปลี่ยนให้พื้นที่โรงงานเก่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวแทน

เขตอนุรักษ์ (Protection) เปรียบเสมือนการป้องกันพื้นที่ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ อาทิหากเราประกาศพื้นที่สีเขียวหรือที่อยู่อาศัยให้เป็นเขตอนุรักษ์ เมื่อมีพื้นที่อุตสาหกรรมเข้ามาตั้งใกล้พื้นที่สีเขียวหรือที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ พื้นที่สีเขียวหรือที่อยู่อาศัยก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากโรงงานนั้นเอง

การพัฒนา (Upgrade) ตัวเลือกนี้ช่วยลบความต้องการเดิมของพื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ หรือแปรอีกความหมายคือ การเพิ่มความสามารถในการลองรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยทั่วไปแล้วตัวพื้นที่ลองรับการใช้ประโยชน์ได้จำกัด ตัวอย่างเช่น พื้นที่เกษตรถูกพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรมใช้ประโยชน์ไปแล้ว พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรได้ แต่ถ้าพื้นที่แหล่งอาหารถูกพัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่อาหารได้

การเวนคืนพื้นที่ (Expropriate) ตัวเลือกนี้จะคลายกับการทุบทิ้ง โดยเลือกทำลายพื้นที่ของใครก็ได้ให้กลายพื้นที่ว่างเปล่าเหมือนเดิม แต่ต่างคือ ผู้ใช้ตัวเลือกนี้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่ถูกทำลายหรือถูกเวรขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเลือกเวนคืนพื้นที่อุตสาหกรรมให้เป็นพื้นที่ของเราและแปลงพื้นที่นั้นให้กลายเป็นพื้นที่ประเภทใดก็ได้

ช่องด่วนพิเศษ (Fast track) เป็นตัวเลือกที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถอ้างสิทธิในการใช้พื้นที่ก่อนผู้เล่นอื่นๆ จะอ้างสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ ในชีวิตจริง ตัวเลือกนี้จึงเปรียบเสมือนการได้รับสิทธิพิเศษให้เราได้ใช้พื้นที่ก่อนบุคคลอื่น

เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ – Special Economic Zone) เปรียบเสมือนส้มหล่นมาสู่เจ้าของพื้นที่ พื้นที่ที่รอบ SEZ ก็จะได้รับประโยชน์กันทั้งหมดเป็นวงกว้าง ดังนั้น ผู้ที่มีตัวเลือก SEZ หรือ เปรียบเสมียนรัฐบาลในชีวิตจริงจึงมีอำนาจในการต่อรองสูง

เราได้อะไรจากการเล่น The Connected City

เกมนี้จะช่วยให้ผู้เล่นรู้จักการวางแผนและคิดเชิงระบบ หากเกิดการต่างคนต่างเล่นเมืองที่ออกมาก็จะมีรูปร่างที่ไม่เป็นระเบียบ หรือผู้เล่นไม่เข้าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ก็ทำให้เมืองไม่เป็นระเบียบเช่นกัน และอาจเกิดเหตุการณ์ที่พื้นที่ข้างเคียงเสียประโยชน์จากใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น การตั้งพื้นที่อุตสาหกรรมข้างพื้นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่แห่งผลิตอาหาร เป็นต้น และเกิดความเลื่อมล้ำในการกระจายคะแนนในหมู่ผู้เล่น ในทางตรงกันข้าม หากเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวางแผนร่วมกันระหว่างผู้เล่น เราก็เห็นการวางแผนการใช้พื้นที่ หรือ Zoning อย่างเป็นระเบียบ และผู้เล่นจะได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายใกล้เคียงกันนั้นเอง ดังนั้น การพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลและวางแผนร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น