การทำอาหารกับการพัฒนาสุขภาพจิต

การที่ใครบางคนชอบขลุกอยู่ในครัว อาจจะเป็นเพราะว่า การเตรียมอาหารสำหรับมื้ออาหารในครอบครัวมันอาจจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสุขภาพจิตที่ดีก็เป็นได้นะคะ

ผลงานการศึกษาที่เผยแพร่ทาง Journal of Positive Psychology ได้ระบุว่า คนที่ร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ เช่น การเข้าครัวทำอาหาร จะมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น เหล่านักวิจัยได้ติดตามชีวิตคนจำนวน 658 คน เป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์ และได้พบว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การเข้าครัวทำอาหาร หรือ การทำขนม ช่วยให้พวกเขามีความกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะทำงานในวันถัดไป อีกหนึ่งงานวิจัยจากกลุ่มนักวิจัยของสหราชอาณาจักร ค้นพบว่า หลักสูตรการเรียนทำขนมช่วยกระตุ้นความมั่นใจและการมีสมาธิของผู้ป่วย 12 ราย ในคลินิกสุขภาพจิต (อ้างอิงจาก British Journal of Occupational Therapy)

นอกจากนี้ การทำอาหารยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสุขภาพทางจิตของเด็กๆ อีกด้วย เชฟชาวออสเตรเลีย Stephanie Alexander ได้ให้ข้อมูลกับเราว่า เด็กๆ ที่เข้าร่วมหลักสูตร Kitchen Garden Foundation กับเธอ รู้สึกตื่นเต้นและยังมีความผ่อนคลายระหว่างการทำอาหาร มันเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากสำหรับเธอที่ได้เห็นว่าการทำอาหารส่งผลดีอย่างไรต่อการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับเด็กๆ ที่ยังเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในสังคมของพวกเขา

นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา Vivienne Lewis ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของร่างกายและพฤติกรรมการกิน กล่าวกับเราว่า การทำอาหารสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาความกังวลและสภาวะจิตตก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำอาหารไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ โดยพยายามจะควบคุมสิ่งที่ตัวเองกิน เพราะระหว่างการทำอาหาร มีการดูสูตรการทำอาหาร และนั่นอาจจะเพิ่มความอยากอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะความเครียดกับผู้ป่วยที่พยายามควบคุมการกินอาหารของตนเอง แต่กิจกรรมการทำอาหารโดยทั่วไป ช่วยให้เราอยู่ในสภาวะปัจจุบัน จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และดื่มด่ำไปกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งพฤติกรรมการหยุดอยู่กับที่นี่ ณ ตอนนี้ ทำให้ความกังวลของเราลดลง ทำให้อารมณ์ของเราดีขึ้น และยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตอื่นๆ อีกมากมาย

Nenad Naumovski ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโภชนาการและวิชากำหนดอาหารจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบทางจิตวิทยาของอาหาร บอกกับเราว่า เราควรมองประโยชน์ของอาหารให้ไกลกว่าเรื่องของโภชนาการเพียงอย่างเดียว อาหารเป็นไม่ใช่แค่เรื่องของความต้องการทางโภชนาการหรือว่าการแก้ปัญหาความหิวโหย หากแต่มันยังรวมถึงประโยชน์ที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ได้แก่ การเก็บเกี่ยวอาหาร ขั้นตอนก่อนการเตรียมอาหาร และการเตรียมอาหาร เช่น การที่ชาเขียวสามารถกระตุ้นกระบวนการรับรู้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการทำอาหารกินเองนั้น ไม่เพียงมีส่วนช่วยทำให้เรารู้ที่มาของอาหาร เเละสามารถเลือกปรุงอาหารให้ดีต่อสุขภาพของเราเท่านั้น เเต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาจิตใจ ทำให้เรามีสมาธิ ผ่อนคลาย เเละมีความสุข พร้อมที่จะเริ่มต้นวันใหม่ได้อีกด้วยนะคะ

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ : http://thenewdaily.com.au/life/wellbeing/2017/08/13/cooking-improve-mental-health/