ปลุกพลัง นักปลูกเมือง ตอนที่ 4 : วิถีเมืองสุขภาวะ เมืองแห่งความสุข

ปัจจุบันเมืองเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนจากหลากหลายกลุ่มและหลายพื้นที่ เนื่องจากเมืองเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทั้งที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า การคมนาคมที่สะดวก และศูนย์กลางของสำนักงานและธุรกิจ ดังนั้น ผู้คนจากพื้นที่จึงต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ในอนาคตคาดว่า 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในเมือง การขยายตัวของเมืองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลเสียต่อความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก หากเมืองได้รับการวางแผนพัฒนาที่ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น การออกแบบผังเมืองและการใช้ประโยขน์พื้นที่เมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เมืองต้องการพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่

เป็นแนวคิดที่อาจารย์ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร จากกลุ่ม Big Trees ได้ถ่ายทอดในหลายเวที ในอดีตนักพัฒนาเมืองมักมองว่าต้นไม้ใหญ่ปลูกในเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เมือง ไม่ว่าเป็นเศษใบไม้ที่ตกตามทางเดินเท้าและถนนจนเป็นภาระต่อการทำความสะอาด รากต้นไม้ขยายใหญ่จนงัดพื้นปูนจนทางเดินเท้าไม่เรียบและเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เรือนยอดต้นไม้เองก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งกีดขวางต่อสิ่งก่อสร้างและสายไฟฟ้า หรือสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการโค่นล้มของต้นไม้ใหญ่ ทำให้ต้นไม้ใหญ่หายไปจากพื้นที่เมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งในความเป็นจริงต้นไม้เองก็ให้ประโยชน์แก่คนเมืองในหลายแง่มุม อาทิ ช่วยฟอกอากาศที่เป็นพิษในเมืองให้มีความบริสุทธิ์ขึ้น สร้างความร่มเงาตามทางเดินเท้า โดยลดอุณหภูมิได้ถึง 2 ถึง 3 องศ์เซลเซียส สร้างความรื่นรมให้จิตใจ และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นได้เปรียบเทียบการฟื้นตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และโรงพยาบาลที่ไม่มีต้นไม้หรือมีต้นไม้น้อยมาก ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยต้นไม้จะฟื้นตัวเร็วว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ไม่มีต้นไม้เลย การอาศัยอยู่ในพื้นที่ปูนเป็นกิจวัตร ไม่ค่อยได้แสงแดดและร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่มักมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ในบางรายถึงขึ้นต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 10 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อวิตามิน D ไว้ทานและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทั้งๆ ที่ร่างกายของเราก็สามารถสร้างได้เองอยู่แล้วจากการโดนแสงแดดในยามเช้า การอาศัยในพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมากจะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและแข็งแรงขึ้น

เพื่อให้เมืองกับต้นไม้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ต้นไม้เองก็ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ในพื้นที่กรุงเทพมักพบการดูแลต้นไม้ที่ไม่ถูกต้องอยู่บ่อยครั้ง เช่น การบั่นต้นไม้จนกุด ทำให้ต้นไม้แตกกิ่งมาเยอะเพื่อเอาชีวิตรอด การบั่นยอดจนกุดทำให้ต้นไม้มีสภาพเรือนยอดที่ไม่สวยและจัดการยากขึ้นกว่าเดิม หรือ การเทปูนจนปิดทับโคนต้นไม้จนมิดซึ่งทำให้น้ำซึมลงไปใต้ดินได้น้อยลง ทำให้ต้นไม้ได้รับน้ำไม่เพียงพอ รากต้นไม้จะไม่แผ่ขยายและหดลง และล้มลงเมื่อเผชิญกับฝนตกหนักและลมพัดแรง การตัดแต่งต้นไม้จนเกิดจากฉีก ผุพังหรือเกิดโพรงก็เป็นปัญหาที่ทำให้ต้นไม้ถูกรุกรานจากปลวกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน การตัดแต่งแต่งกิ่งที่ถูกต้องคือ การตัดให้ชิดข้อกิ่ง เพื่อให้แผลของต้นไม้ปิดได้เองตามธรรมชาติหรือตัดตอให้ชิดคอกิ่ง ซึ่งความรู้ในการตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องสามารถติดตามได้ที่กลุ่ม Big Trees ซึ่งจะจัดอบรมให้แก่ผู้สนใจที่จะเป็นรุกขกร (arborist) อย่างต่อเนื่อง

การกินอยู่อย่างยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวเรา

ท่านที่สนใจงานด้านเกษตรอินทรีย์หรือตลาดสีเขียว คงไม่มีใครไม่รู้จัก ”สามพรานโมเดล” ซึ่งริเริ่มโดยคุณโอ อรุษ นวราช ซึ่งเป็นคนที่เติบโตและทำงานในเมืองเป็นเวลาหลายปี โดยคุณโอเองเป็นคนชื่นชอบการทานผักผลไม้อินทรีย์ จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเองที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม แต่เนื่องจากคุณโอเป็นคนเมืองจึงไม่มีความรู้การเกษตร จึงใช้วิธีเชิญชวนเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้ามาทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเองและรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรรอบพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าตนเองจะมีรายได้แน่นอนจากการทำเกษตรอินทรีย์ สามพรานโมเดลเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนทางสังคม โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงแรมและร้านอาหารในกรุงเทพและพื้นที่นครปฐม โดนระบบการรับรองผลผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นแบบ PGS (Participatory Guarantee Systems) ซึ่งเป็นระบบการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยกลุ่มผู้ผลิตเอง บางกรณีผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการเอง และการตรวจรับรองไม่ได้ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระ ระบบ PGS จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบการตรวจรับรองมากกว่าระบบการตรวจรับรองแบบอื่น

ที่สามพรานจะพยายามให้เกษตรกรและผู้บริโภคเข้ามาพบกัน โดยจะเชิญลูกค้า เช่น โรงแรม หรือ ร้านอาหาร มาดูพื้นที่เกษตรอินทรีย์ มาพูดคุยและเปลี่ยนกับเกษตรกร เพื่อให้โรงแรมเข้าใจกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์และปัญหาที่เกษตรกรพบเจอระหว่างการเพาะปลูก สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถนำมาสื่อสารและทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ ดังนั้น โรงแรมหรือร้านอาหารที่รับซื้อผลผลิตอินทรีย์จะไม่ได้ทำเพียงแค่การส่งคำสั่งซื้อขายเพียงอย่างเดียว นอกจากระบบการค้าที่เป็นธรรมแล้ว ที่นี้ยังใช้การท่องเที่ยวมาช่วยในการเชื่อมโยงเกษตรกรและลูกค้าเข้ามาพบปะกัน เพื่อลดความเหลื่อยมล้ำในการกระจายรายได้ของเกษตรกรลง เพราะเป็นเรื่องแปลกที่ผู้บริโภคหรือลูกค้าไม่รู้จักเกษตรกรที่มีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของคนไทย และเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาซื้อ-ขายสินค้าเกษตรและควบคุมต้นทุนการผลิตได้เลย คุณโอได้ให้ความเห็นถึงการขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ไว้ว่า การขยายงานเกษตรอินทรีย์จะขับเคลื่อนได้จากผู้บริโภค เพราะถ้าพวกเราต้องการทานสินค้าอินทรีย์แล้วเกษตรกรก็จะผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้นนั้นเอง

เมืองน่าอยู่จากความคิดสร้างสรรค์

คุณนัด ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง จากเครือข่ายสถาปนิกชุมชนให้มุมมองของเมืองในหลายแง่มุม โดยทั่วไปสื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอด้านดีของการพัฒนาเมือง มักไม่ค่อยฉายภาพของความไม่น่าอยู่ของเมือง อย่างเช่น ชุมชนแออัด หรือ สลัม ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นปัญหาของการพัฒนาเมือง อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเมืองเกิดจากจินตนาการของผู้คนที่อยากเนรมิตเมืองให้เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีลักษณะที่เป็นวัฒนธรรมเชิงเดียว หรือ monoculture ซึ่งชุดความคิดหรือจิตนาการเป็นแบบเดียวกัน เราจึงเห็นว่า เมื่อเราเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ก็เห็นแต่ปลูกสร้างที่เป็นอาคารเหมือนๆ กัน มนุษย์จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ปัญหาหลายอย่างล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากเอเชียและแอฟริกา ซึ่งต่างจากยุโรปที่มีการวางผังเมืองและกฎหมายมาเป็นอย่างดี ดังนั้น การพัฒนาเมืองจึงต้องมีการวางแผน

การออกแบบเมืองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก คือ ความกลมกลืนกับธรรมชาติ องค์ประกอบของปัจเจกชน และอัตลักษณ์ ซึ่งหัวใจหลักเริ่มจาก “ชีวิต” น่าแปลกที่เซลล์สามารถสื่อสารกันเองได้เหมือนกับมีสมองเป็นของตนเองเพื่อการทำงานที่มีความซับซ้อนเป็นไปอย่างราบรื่น เมืองเองก็เช่นกันที่ผู้คนจากหลายพื้นที่หลายความคิดมาอาศัยอยู่รวมกัน ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นหัวใจสำคัญ ในอดีต การออกแบบเมืองเป็นรวมศูนย์ทำให้เกิดความผิดพลาดและความล้าช้าในการแก้ปัญหาเมืองอยู่บ่อยครั้ง จึงมีแนวคิดการสื่อสารเป็นแบบสายใย หรือ Network ที่ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและหาทางออกของปัญหาโดยผ่านการระดมความคิดเห็นร่วมกันและพึ่งพากัน เมืองก็จะถูกออกแบบมาลงตัวและเป็นที่ยอมรับโดยเสียงส่วนใหญ่ ดังนั้น การทำงานด้านการออกแบบนั้น การส่งต่อความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ