เกษตรธรรมชาติฉบับ MOA ตอนที่ 2

ดิน หัวใจหลักของเกษตรธรรมชาติ

หลักของเกษตรธรรมชาติ เราต้องดึงศักยภาพของดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งดินที่มีชีวิตจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับดินในพื้นที่ได้ และแนะนำให้เปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกลงดินนั้นๆ เพื่อให้พืชชนิดนั้นกับดินปรับตัวเข้าหากัน ความหนาของหน้าดินก็ส่งผลต่อจำนวนพืชที่ปลูกลงแปลงโดยตรง หากชั้นหน้าดินหนาหมายความว่ามีธาตุอาหารในดินมาก ก็สามารถปลูกผักใช้ชิดกันได้ ทางตรงข้าม หากชั้นหน้าดินบาง แสดงว่า ธาตุอาหารในดินน้อย ก็ควรผักให้ห่างกันเพื่อไม่ให้ผักแย้งชิงอาหารกัน หากทราบชีวิตการจัดการดินที่ดีแล้ว การใส่ปุ๋ยอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นก็ได้ แต่ถ้าหากโครงสร้างดินยังไม่ดี ธาตุอาหารน้อย อาจต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะแรก

ดินที่มีชีวิตจะชักชวนให้สัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินเข้ามาอยู่อาศัย โดยเฉพาะไส้เดือนที่ชอบอยู่ในดินที่ร่วนซุย มีความชื้นพอดี มูลของไส้เดือนช่วยทำให้ดินโปร่งและระบายอากาศได้มากขึ้น นอกจากไส้เดือนและแมลงในดินแล้ว จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินเองก็ทำหน้าที่ในการย่อยซากพืชซากสัตว์ได้เองอยู่แล้ว ซึ่งความจริงเราแทบไม่ต้องใส่น้ำหมักเพื่อช่วยในการหมักแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นเกษตรกรมือใหม่ก็ต้องเผชิญปัญหาดินเสื่อมโทรมและไม่เหมาะสมอยู่บ่อยครั้ง อาทิ ดินลูกรัง ดินถม ดินเหนียวเกินไป หรือ ดินทราย ซึ่งทำให้พืชผักที่ปลูกจึงให้ผลผลิตได้ไม่ดีนัก หากแปลงปลูกมีขนาดเล็ก ก็สามารถหาซื้อดินมาใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกได้ง่าย แต่ดินที่ขายตามร้านค้ามักเป็นดินแกลบเผาเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช้ดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก แต่หากพื้นที่เพาะปลูกมีขนาดใหญ่ การซื้อดินเข้ามาถมในพื้นที่อาจทำให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก การฟื้นฟูดินจึงเป็นสิ่งที่คนอยากทำเกษตรจำต้องเรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่

การฟื้นฟูดินเบื้องต้น

กรณีพื้นที่เพาะปลูกมีขนาดเล็ก

ปัญหาดินเหนี่ยวและจับตัวกันแน่นพบได้บ่อยในพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่ง เราสามารถปรับปรุงดินโดยเริ่มจากขุดหน้าดินให้เป็นร่องลึกประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร ใส่ใบไม้แห้งให้พร้อมเหยียบให้แน่น ทับถมใบไม้แห้งให้แน่นจนเกือบเต็มร่องดิน จากนั้นทำให้กลบใบไม้ด้วยดินที่ถูกขุดขึ้นมา แต่ไม่ต้องเหยียบดินที่กลบใบไม้ให้แน่น เนื่องจากเราต้องการให้ดินกลบจับตัวกันหลวมๆ เพื่อสร้างรูพรุนให้อากาศเข้าใบช่วยย่อยสลายใบไม้ที่ฝังตัวอยู่ใต้ดิน ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์จนใบไม้ย่อยสลาย ระหว่างการย่อยสลาย ต้องรดน้ำดินที่ฝังกลบให้ชุ่มชื้นทุกวัน เมื่อใบไม้ย่อยสลายจนหมด ก็สามารถปลูกผักบนพื้นที่นั้นได้เลย

วิธีนี้อาศัยการสร้างดินด้วยการหมักจากเศษใบไม้แห้ง ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลาในการปรับปรุงดินน้อย แต่อาจไม่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ เพราะสิ้นเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายและแรงงานในการปรับปรุงดิน

 

กรณีพื้นที่เพาะปลูกมีขนาดใหญ่

ขั้นตอนการฟื้นฟูดินเริ่มจากการยกแปลงให้สูง ส่วนความสูงของแปลงนั้นขึ้นอยู่กับว่าดินมีความเหนียวมากแค่ไหน หากดินในพื้นที่เป็นดินจากก้นบ่อน้ำ ซึ่งดินประเภทนี้มีความเหนียวมาก ดังนั้น ต้องยกแปลงให้สูงถึง 10-15 ซม. การยกแปลงให้สูงจะช่วยให้ดินถูกแสงแดดและลมมากขึ้นจนปริมาณน้ำหรือความชื้นในดินให้ลดลงและเม็ดดินจับตัวกันหลวมขึ้น ในกรณีที่พื้นที่ไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขังหรือปรับปรุงดินในฤดูร้อนอาจไม่จำเป็นต้องยกแปลงก็ได้ เมื่อยกแปลงเสร็จแล้วให้ทำการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดและตรึงไนโตรเจนจากอากาศเพื่อปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุยมากขึ้น เมื่อพืชตระกูลถั่วออกดอกจนเต็มพื้นที่แล้วให้ทำการตัดให้จนลำต้นติดดินและเหลือแต่รากพืชเหล่านั้นไว้ ต้นพืชที่ถูกตัดให้คลุมแปลงไว้ให้แห้งและย่อยสลายการเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ปล่อยรากพืชที่เหลือในดินให้ย่อยสลายจนเกิดเป็นโพรงในดิน จากนั้นสับหน้าดินให้แตกออก แต่ไม่ต้องสับดินให้ลึกมาก หลักจากนั้นเราก็สามารถนำกล้าผักมาลงในแปลงที่ผ่านการปรับปรุงได้ และนำฟางคลุมแปลงเพื่อป้องกันวัชพืช

แต่หากดินยังจับตัวกันแน่นและแข็งอยู่ ให้ปลูกพืชตระกูลซ้ำบนแปลงอีกครั้ง แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดินในฤดูฝน เนื่องจากเป็นฤดูที่ผักให้ผลผลิตต่ำและมักเสียหายจากน้ำท่วมหรือเม็ดฝนที่ตกกระทบจนผักเสียหาย พืชตระกูลถั่วที่ปลูกในฤดูฝนจะโตได้ดีในฤดูฝนและไม่มีปัญหาวัชพืชเข้ามารบกวน เนื่องจากพืชตระกูลถั่วโตจนวัชพืชไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงแหล่งอาหารได้ พืชตระกูลถั่วที่เหมาะต่อการปรับปรุงดิน ได้แก่ ปอเทือง โสน ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า ซึ่งก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่ หากพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม เช่น ภาคกลาง ปอเทือง โสน ถั่วพุ่มจะขึ้นได้ดี แต่หากเป็นภาคเหนืออาจต้องปลูกถั่วพร้าแทนเนื่องจากเป็นพื้นที่สูง หรือ เราอาจปลูกต้นกระเจี๊ยบเพื่อช่วยในพรวนดินให้ลึกขึ้นได้ เนื่องจากรากของกระเจี๊ยบแดงมีความแข็งแรงและลงดินได้ลึกกว่าปอเทือง ซึ่งรากกระเจี๊ยบแดงสามารถลงลึกได้ถึงชั้นดินดาน แต่รากจะย่อยสลายช้ากว่าปอเทือง หรืออาจปลูกถั่วมะแฮะแทนก็ได้ เพราะรากย่อยเร็วกว่ากระเจี๊ยบแดง

ระยะเวลาในการปรับปรุงดินและการใส่ปุ๋ย

เป็นคำถามที่พบบ่อยครั้งว่าต้องปรับปรุงดินถึงเมื่อไร หรือ ดูได้อย่างไรว่าธาตุอาหารในดินสมบูรณ์เพียงพอแล้ว จากหลักเกษตรธรรมชาติที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว การที่ดินมีธาตุอาหารมากเกินไปก็ส่งผลให้ผักถูกโรคและแมลงเข้ามารบกวน เราสามารถทราบข้อมูลเหล่านี้ได้การปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดินนั้นเอง

หากพบว่ารากผักลงไปได้ลึกและผักเองก็โตช้า (หากรากผักตื้นอาจแปลว่าดินอาจแข็งเกินไป แต่ธาตุอาหารมีเพียงพออยู่ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยพรวนดินให้ลึกขึ้น) หรือถอนรากพืชตระกูลถั่วมาดู แล้วพบว่ารากเกิดปมอยู่มาก แสดงว่า ดินยังมีธาตุอาหารน้อยอยู่ ต้นถั่วจึงต้องสร้างปมเพื่อหาอาหารเพิ่มขึ้นนั้นเอง และต้องทำการปลูกพืชตระกูลถั่วและไถกลบต่อไป

ในทางตรงกันข้าม หากเราพบว่าดินมีตะไคร่น้ำ หรือรากพืชตระกูลถั่วไม่เกิดปมหรือเกิดน้อยมาก แสดงว่า ดินมีธาตุอาหารสมบูรณ์พียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้นถั่วต้องมาสร้างปมเพื่อหาอาหารเพิ่มเติมนั้นเอง ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใส่ปุ๋ยลงไปเพิ่มเติม และการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดินในฤดูฝน นอกจากจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินแล้ว ยังสามารถตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารในดินได้อีกทางหนึ่ง

ในกรณีพื้นที่เป็นดินทรายหรือดินร่วนปนทราย อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูดินทรายที่นานกว่าแปลงปลูกที่เป็นดินเหนียว เนื่องจากดินทรายเป็นดินที่ไม่อุ้มน้ำและไม่รักษาความชื้น และมีอินทรียวัตถุปริมาณน้อย ส่วนการปรับปรุงดินให้ใช้วิธีเดียวกับพื้นที่อื่นๆ แต่ต้องปลูกพืชตระกูลถั่วและไถกลบเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน โดยทั่วไปใช้เวลาในการปรับปรุงดินทรายนานถึง 2-3 ปี

การหมักปุ๋ยจากเศษใบไม้

หากเราเดินเข้าไปในป่าเราจะพบว่าพืชหลายชนิดก็ขึ้นได้ดีทั้งๆ ที่ไม่มีการใส่ปุ๋ยบำรุงแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงคือ พืชในป่าก็ได้ปุ๋ยตามธรรมชาติอยู่แล้วจากเศษใบไม้ที่ทับถมและย่อยสลายจนกลายเป็นปุ๋ย เราจึงใช้กระบวนการธรรมชาตินี้มาปรับใช้ในการทำปุ๋ยหมักนั้นเอง ในความเป็นจริงเศษใบไม้สดหรือแห้งเองก็มีจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มูลสัตว์หรือน้ำหมักเข้ามาผสมเพื่อให้เกิดการย่อยแต่อย่างใด หากกองปุ๋ยมีเศษกิ่งไม้หรือก้านใบไม้ซึ่งย่อยสลายยากกว่าใบไม้ ให้แยกออกจากกองปุ๋ย เพราะจะทำให้การหมักปุ๋ยช้าลง และหากวัสดุเป็นใบไม้สด ให้ตากวัสดุให้แห้งก่อนนำมาหมักเพื่อป้องกันไม่ให้กองปุ๋ยเกิดการเน่าเสีย

หากต้องการให้เกิดการย่อยสลายเร็วขึ้นก็สามารถใส่ดินจากก่อไผ่หรือน้ำหมักจาดข้าวสุกหรือน้ำซาวข้าวก็ได้ ในเรื่องของการเลือกหัวเชื้อจุลินทรีย์ จุลินทรีย์ที่อยู่ในพื้นที่ของเราหรือละแวกใกล้เคียงถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยในพื้นที่และคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่มากที่สุด

สถานที่หมักปุ๋ยต้องไม่มีน้ำท่วมขัง ควรอยู่ในที่ร่ม เนื่องจาก หากกองปุ๋ยอยู่กลางแจ้งก็จะถูกแสงแดดเผาจนกองปุ๋ยแห้ง ทำให้ต้องรดน้ำเพื่อให้กองปุ๋ยชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมื่อสถานที่ทำกองปุ๋ยเสร็จแล้ว ให้นำเศษใบไม้มากองรวมกันพร้อมเหยียบให้แน่น และรดน้ำจนกองปุ๋ยมีความชุ่มชื้นพอเหมาะ ทิ้งกองปุ๋ยไว้ 2-3 เดือน จนกระบวนการหมักเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ควรกลับกองปุ๋ยอย่างน้อยเดือนล่ะ 1 ครั้ง เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์รับอากาศได้มากขึ้น และ ช่วยให้เศษใบไม้ย่อยสลายและหมักได้อย่างทั่วถึงทั่งกอง ทำให้กระบวนการหมักเกิดได้เร็วมากขึ้น ในกรณีสถานที่อยู่ในพื้นที่อากาศหนาว อาจต้องใช้เวลาในการหมักที่นานกว่าปกติ อย่างกรณีฟาร์มที่ญี่ปุ่น ต้องใช้เวลาในการหมักนานถึง 6 เดือน เทียนกับประเทศไทยอาจเวลาในการหมักเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น

หลักในการพิจารณาว่ากองปุ๋ยสามารถนำมาใช้ได้แล้ว สังเกตได้จากสีกองปุ๋ยนั้นเข้มขึ้น ส่วนมากจะเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ ความร้อนในกองปุ๋ยหมักจะใกล้เคียงกับความร้อนนอกกองปุ๋ย และมีกลิ่นคล้ายเหมือนดิน หรือเมื่อโดนน้ำก็จะมีกลิ่นไอฝนหรือไอดิน และไม่มีกลิ่นเหม็นจากก๊าซไข่เน่าหรือแอมโมเนีย หากกองปุ๋ยมีลักษณะดังที่กล่าวไว้ข้างต้นก็แสดงว่า เราสามารถนำปุ๋ยหมักนั้นมาใช้ได้แล้ว

การทำสวนผักบนพื้นปูน และ สวนผักดาดฟ้า

การปลูกผักในเมือง พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นปูนหรือพื้นที่ดาดฟ้า จึงเผชิญกับความร้อนจากพื้นปูนที่มากกว่าปกติ ทำให้การปลูกผักทำได้ยากมากขึ้น อีกทั้งพื้นที่ดาดฟ้าอาจรับน้ำหนักได้จำกัด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องออกแบบแปลงปลูกให้มีน้ำหนักที่ไม่มากจนเกินไปและระบายความร้อนได้ดี โดยใส่กาบมะพร้าวไว้รองพื้นแปลงปลูกและใส่ดินทับลงไปให้หนาอย่างน้อย 30 เซนติเมตร

เมื่อทำแปลงปลูกเสร็จแล้ว ก่อนทำการเพาะปลูกให้สับหญ้าแห้งให้เป็นชิ้นเล็กๆ มาคลุมแปลงปลูกและสามารถย่อยเป็นอินทรียวัตถุได้ จากนั้นก็ทำการลงกล้าผักหรือหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกพร้อมรดน้ำให้ชุ่มขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ปลูก อย่างไรตาม หากสวนผักอยู่บริเวณดาดฟ้า พื้นที่ต้องได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน เพราะหากถูกร่มเงาจากอาคารก็ส่งผลให้ผักรับแสงไม่เพียงพอและหยุดชะงักการเจริญเติบโตได้ หรืออาจเลือกปลูกผักที่ใช้แสงน้อย เช่น ผักชีฝรั่ง ขึ้นไช่ วอเตอร์เครส เป็นต้น

ในกรณีที่ปลูกผักลงกระถาง โดยทั่วไปสามารถปลูกผักได้ 3-4 รุ่น เนื่องจากธาตุอาหารจะเริ่มน้อยแล้ว เมื่อปลูกผักผ่านไปแล้ว 3-4 รุ่น ต้องนำดินในกระถางมาตากแดดให้แห้งเพื่อทำการฆ่าเชื้อโรค และผสมกับปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน

การจัดการวัชพืชตามหลักเกษตรธรรมชาติ

หญ้าอาจถือเป็นวัชพืชที่นักปลูกทุกท่านอยากจะถอนออกให้หมดแปลง แต่ตามหลักเกษตรธรรมชาติ หญ้าอาจเป็นคุณประโยชน์ให้สวนผัก เพราะหญ้าเป็นแหล่งที่อยู่ของตัวห้ำ เช่น แมลงปอ ด้วงเต่า มวน แมลงช้าง แมลงหางหนีบ ตะขาบ แมงมุม ซึ่งกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร และตัวเบียน เช่น แตนเบียน ที่จะเข้าไปวางไข่ในแมลงศัตรูพืช เราจึงไม่ถอนหญ้าออกจากแปลงและปล่อยให้หญ้าขึ้นตามขอบแปลงแทน

โดยทั่วไปแล้วตัวหญ้าเองอาจไม่ได้แย่งอาหารผักที่เราปลูกเสมอไป วัชพืชส่วนใหญ่รากจะตื้น หากผักของเรามีรากที่ลึกก็จะไม่มีปัญหาหารแย่งชิงอาหารกับหญ้า แต่ปัญหาของวัชพืชจริงๆ คือ การแข่งขันเพื่อแย่งแสงแดด ที่ผักเราไม่โตก็เป็นเพราะมาจากหญ้าบดบังแสงแดดจนผักนับแสงแดดไม่เพียงพอ เราจะไม่ตัดหญ้าให้ติดดิน เพราะจะกระตุ้นให้หญ้าแตกกอมากขึ้น วิธีการจัดการหญ้าคือ ตัดหญ้าให้เหลือตอไว้ 5 ถึง 10 ซม. ซึ่งจะทำให้หญ้าไม่แตกกอ และโตไม่ทันผักที่เราปลูก เมื่อผักที่เราปลูกสูงใหญ่กว่าหญ้าแล้ว หญ้าก็จะไม่เป็นปัญหาต่อผักอีกต่อไป และช่วยให้หญ้าที่เป็นประโยชน์เข้ามาในแปลงปลูกในอนาคต

ในกรณีที่วัชพืชเป็นเถาเลื้อย เช่น ผักบุ้ง ถ้าพื้นที่สวนเป็นไม้ผลหรือไม้ยืนต้น วัชพืชกลุ่มนี้จะช่วยพรวนดินให้กับไม้ยืนต้น และไม่แย่งอาหาร เพราะรากไม้ยืนต้นลงไปลึกกว่าวัชพืชมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องถอนวัชพืชออก แต่หากพื้นที่สวนเป็นแปลงผัก อาจต้องใช้วิธีวัชพืชถอนจากแปลงอย่างเดียว

บทสรุปเกษตรธรรมชาติ MOA

เกษตรธรรมขาติเป็นระบบการผลิตให้อาหารที่ปลอดภัยแก่นักปลูก นักปรุง และมีความยั่งยืนเหมาะกับทุกท้องถิ่น ซึ่งจะประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก คือ 1) ดินเป็นหัวใจหลักของการเพาะปลูก 2) เรียนรู้การทำเกษตรผ่านกระบวนการธรรมชาติ และนำมาปรับใช้กับการเพาะปลูก และ 3) นำหลักการเกษตรยั่งยืน หรือ เกษตรดังเดิมในท้องถิ่นมาปรับใช้ จนนำไปสู่การมีผลิตเกษตรที่มีความปลอดภัย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความสามัคคีในท้องถิ่นและชุมชน