ผักปลูกเด็ก จากวันนั้นถึงวันนี้ @ โรงเรียนบ้านเจียรดับ

นานแค่ไหนแล้วนะ ที่เราร่ำเรียนกันผ่านตำรา และการท่องจำ จนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งเราอาจจะยังไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราท่องจำในตำรานั้น หน้าตาของจริงเป็นอย่างไร หรือวิธีการต่างๆที่เราร่ำเรียนมานั้น หากจะลงมือปฏิบัติจริงนั้น ต้องทำอย่างไร 

อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่โชคดีของเด็กๆ โรงเรียนบ้านเจียรดับ ที่มีคุณครูคอมพิวเตอร์คนหนึ่ง ที่สนใจเรื่องการทำการเกษตร และลุกขึ้นมาลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยชักชวนเพื่อนๆครูบาอาจารย์ในโรงเรียนมาร่วมด้วยช่วยกันบูรณาการการเรียนการสอนแต่ละวิชา เข้ากับแปลงเกษตร

“ด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพ บ้านไม่มีที่ดินเลย เรียกว่าแมวตายยังไม่มีที่จะฝัง พอมีลูก ก็อยากหาสิ่งดีๆให้ลูก แต่แค่จะหาตำลึงปลอดสารให้ลูกกินยังไม่ได้เลย เราก็เลยสนใจไปเรียนปลูกผัก” ครูศิโรจน์  ชนันทวารีหรือครูอับดุลเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจของตัวเอง

หลังจากที่ครูอับดุล ได้เข้าร่วมอบรมในคอร์สปลูกง่ายๆสไตล์คนเมือง ที่บ้านคุณป้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์อบรมของโครงการสวนผักคนเมือง คราวนั้นเป็นคอร์สพิเศษที่คัดเลือกคนจำนวนจำกัด ไปเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4 ครั้ง ครูอับดุล ก็กลับมาลงมือทำ และด้วยความที่บ้านมีที่น้อย ครูอับดุลจึงคิดมาทำแปลงปลูกผักที่โรงเรียน ซึ่งเป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 จากครูสอนคอมพิวเตอร์ เลยกลายไปเป็นครูสอนเกษตรให้เด็กๆไปด้วยโดยปริยาย

จากวิชาเกษตรที่เคยอยู่ในตำราเรียนเพียงแค่ 1 บท และเด็กๆเคยเรียนผ่านตัวหนังสือ มาวันนี้นอกจากเด็กๆจะได้เรียนรู้ ลงมือการปลูกผักในแปลง ช่วยกันดูแลรดน้ำแล้ว ครูอับดุลก็มีกระถางผักให้เด็กๆปลูกวอเตอร์เครสเอากลับไปดูแลรดน้ำที่บ้านด้วย พร้อมกับเฝ้าสังเกต วัดการเจริญเติบโต และนำมาส่ง เป็นการฝึกความรับผิดชอบไปในตัวด้วย นอกจากนี้ก็มีการสอนให้เด็กเพาะถั่วงอก โดยแบ่งกลุ่ม 5 คน ให้ช่วยกันรับผิดชอบดูแลรดน้ำ แถมยังมีที่เลี้ยงไส้เดือนในลิ้นชักให้เด็กๆเรียนรู้ด้วย ครูอับดุลเล่าว่า เด็กๆสนใจ ตั้งใจดู และตื่นเต้นกันมาก 

  

ที่น่าสนใจคือ เมื่อตัดสินใจขอพื้นที่บริเวณข้างๆโรงอาหารของโรงเรียนมาทำสวนผัก ครูอับดุลไม่เพียงใช้พื้นที่สวนผักที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่เรียนรู้ของวิชาเกษตรเท่านั้น แต่ยังมีการประสาน พูดคุย ชักชวนให้คุณครูในแต่ละรายวิชา ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เเละการงานพื้นฐานอาชีพ มาใช้พื้นที่สวนผักเป็นที่เรียนรู้อย่างบูรณาการในแต่ละวิชาด้วย แม้จะรู้สึกเหนื่อยบ้างในการประสานงาน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ทั้งของตัวเอง ของครู และของเด็ก แต่ครูอับดุลก็ยินดีทำ และทำอย่างมีความสุข ในบางวิชา หลังจากที่ครูแต่ละวิชาออกแบบใบงานมาแล้ว ครูอับดุลยังเป็นผู้ที่อาสาช่วยพิมพ์ให้เองด้วย

ตัวอย่างการเรียนรู้ของเด็กๆในแต่ละรายวิชา ก็เช่น การเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ผ่านการวัดขนาดพื้นที่ของแปลง ขนาดก้อนฟาง ขนาดถัง  หรือ วิชาวิทยาศาสตร์ เด็กๆก็ได้เรียนรู้เรื่องใบเลี้ยงเดี่ยวใบเลี้ยงคู่ ผ่านของจริง ในวิชาภาษาอังกฤษ เด็กๆก็ได้เรียนรู้คำศัพท์จากของจริง มีการเล่นเกมส์ทายว่าดอกนี้เป็นดอกของผักชนิดไหน ผักนี้เรียกว่าอะไร ใครออกเสียงได้ถูกต้องและชัดที่สุด ก็จะได้รางวัล บางทีก็มีรางวัลเป็นการได้กินผัก ที่มีการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆสนใจกิน ด้วยการบอกว่ากินผักนี้แล้วจะมีพลัง ครูอับดุลเล่าว่า เด็กๆก็สนุก และแย่งกันกินผักมาก นอกจากนี้ในวิชาการงาน เด็กๆก็เรียนรู้ที่จะเอาผักมาทำเป็นสีผสมอาหารด้วย เช่นผักโขมเเดง ได้สีชมพู มาทำขนมต้ม เป็นต้น

“อันที่จริงเด็กๆจะมีเรียนวิชาเกษตรอยู่แล้ว แต่จะอยู่แค่ในหนังสือ และอยู่แค่ 1 บท เราคิดว่ามันน้อยไป เลยยกออกมาบูรณาการกับวิชาอื่นๆด้วย เพราะที่ผ่านมาเด็กๆเรียนผ่าน lab แห้งๆมาตลอด”ครูอับดุลกล่าว พร้อมกับเล่าเรื่องราวความสุข และความประทับใจที่เกิดขึ้นจากแปลงผักให้ฟังว่าพอเรามาทำแปลงผักที่โรงเรียน ก็เหมือนเกิดชุมชนใหม่ขึ้นมาด้วย ครูในโรงเรียน เมื่อก่อนไม่ค่อยได้คุยกัน ตอนนี้ก็มาคุยกันมากขึ้นเรื่องปลูกผัก แล้วก็มีครูในโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่กลับไปปลูกผักที่บ้าน ร้านขายของหน้าโรงเรียน ไม่เคยคุยกัน พอเห็นเราทำแปลง เขาก็มาช่วยตอกตะปู มาช่วยทำแปลง ผู้ปกครองก็มาเยี่ยมชมแปลง บางคนก็เอาพันธุ์ไส้เดือนมาให้ เราก็ให้ปุ๋ยคอกไป”

นี่คือเรื่องราวของผักปลูกเด็ก ในช่วงปีแรกที่เริ่มต้นปลูกผักและเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี  แม้ว่าพื้นที่สวนผักจากเดิมที่เคยทำจะถูกเจ้าของที่ของคืน แต่ครูอับดุลก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาที่ว่างที่พอจะมีเหลืออยู่ในโรงเรียนมาทำเป็นพื้นที่สวนผัก ถึงจะเล็ก แต่คุณครูก็ยังคงมาใช้สวนผักแห่งนี้ในการเชื่อมโยงกับบทเรียนของเด็กๆได้อย่างต่อเนื่อง

ปีนี้ครูอับดุลยังนำการเรียนการสอนแบบ STEM คือ เอาเรื่องของวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ ศิลปะ หรือ ART กลายเป็นการเรียนการสอนแบบ STEAM ที่ใช้เรื่องของการทำเกษตรเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ โดยเด็กๆก็ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการปรุงดิน ผ่านการเล่านิทาน และได้ลงมือทำ มีการเรียนรู้เรื่องกรด เบส เรียนรู้เรื่องการรีไซเคิล การประดิษฐ์กระถาง หรือสิ่งของต่างๆจากวัสดุเหลือใช้ รวมไปถึงการเรียนรู้คณิตศาสตร์จากการสำรวจแกนสมมาตรของใบไม้ เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ โครงการผักปลูกเด็กปีนี้ ยังได้ขยายเครือข่ายไปยังผู้ปกครอง ครู และชาวบ้าน โดยมีทั้งการเปิดอบรมเรื่องการปลูกผักให้กับผู้ปกครองที่สนใจ และมีการพาผู้ที่สนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปศึกษาเรียนรู้ที่ สวนเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนด้วยกัน ซึ่งก็มีส่วนช่วยทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สนใจเรื่องอาหารสุขภาพ และวิถีเกษตรกันมากขึ้น

อีกหนึ่งกิจกรรมที่โรงเรียนเจียรดับจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน คือตลาดนัดพอเพียง โดยแต่ละเดือนก็จะมีหัวเรื่องหรือธีมงานที่ต่างกันไป อันที่จริงตลาดนัดพอเพียงนี้ หลายโรงเรียนก็จัดกัน แต่ที่นี่มีระบบการบริหารจัดการที่น่าสนใจคือ เด็กๆจะต้องช่วยกันคิดว่าจะเอาอะไรมาขายที่ตลาดนัด แล้วส่งใบสมัครกันเข้ามา มีข้อตกลงร่วมกันคือ

  1. ร้านค้าต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 3 คน
  2. สินค้าต้องเป็นสินค้า ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองหรือให้ผู้ปกครองช่วยได้นิดหน่อย
  3. สินค้าจะต้องทำมาจากเศษวัสดุเหลือใช้หรือของเก่า เช่นดินพร้อมปลูก ปุ๋ยหมัก สบู่ทำเอง ของเล่นประดิษฐ์เอง ผักที่ปลูกเองแบบไม่ใช้สารเคมี หนังสือ หรือเสื้อผ้ามือสอง
  4. สินค้าต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้ซื้อ
  5. ราคาต้องไม่เกินชิ้นละ 20 บาท
  6. ต้องมีป้ายร้านและราคาสินค้า

ครูอับดุลเล่าให้ฟังว่า ตลาดนัดพอเพียงนี้ ทำให้มีโอกาสได้เห็นศักยภาพของเด็กหลายคน เช่นมีเด็กบางคนสามารถประดิษฐ์ของเล่นจากธรรมชาติได้ แล้วก็เอามาขาย บางคนก็มีความสามารถในการเขียนและวาดการ์ตูน ก็ทำการ์ตูนทำมือมาขาย บางคนมีความสามารถพิเศษก็เอาแสดงกันที่ตลาดแห่งนี้

จากความตั้งใจเล็กๆของครูเพียงหนึ่งคน ที่เริ่มต้น ลงมือทำอย่างจริงจัง แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แม้จะไม่ใช่หน้าที่หลักที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่มีใจรักที่จะทำ วันนี้ความตั้งใจของครูเพียงหนึ่งคน ก็แตกดอกออกผล จากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ก็ขยายเครือข่าย สร้างทั้งกิจกรรม สร้างทั้งมิตรภาพ เเละสร้างหัวใจที่รักเกษตรให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าชื่นชม

เรียกว่าจากผักปลูกเด็ก ก็เติบโตเป็นผักปลูกรัก ปลูกจินตนาการ ปลูกความรับผิดชอบ เเละปลูกความสัมพันธ์ ให้กับทั้งผู้ปกครอง คุณครู เเละชุมชน ให้ได้เติบโตไปด้วยกัน

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก fb ผักปลูกเด็ก นะคะ