คณะมสธ. เข้าอบรมด้านการเกษตรและอาหาร ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)


วันที่ 28 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์บำเพ็ญ เขียวหวาน และคณะอาจารย์ ได้นำสมาชิกโครงการของสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้งหมด 65 ท่านเข้าร่วมอบรมการทำเกษตรและการทำเครื่องปรุงด้วยวิธีธรรมชาติ ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) โดยช่วงแรกจะแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 ฐาน ได้แก่ การปรุงดินให้อร่อย โดย ป้าป้อมปลูกผัก (ศิริกุล ซื่อต่อชาติ) และ การเพาะต้นกล้าและดูแลกล้าผัก โดย พี่ชูเกียรติ โกแมน

ฐานที่ 1 การปรุงดินให้อร่อย เป็นวลีเด็ดที่ป้าป้อมมักใช้อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากป้าป้อมเป็นหนึ่งในแม่ครัวมือฉมังของทีมห้องครัวคนเมือง เวลาปรุงดินก็เปรียบเสมือนการทำอาหาร หากดินดีมีความอร่อย ผักที่ได้ก็จะงอกงามและให้รสชาติที่อร่อย การปรุงดินหรือการหมักดินนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากเราอาศัยอยู่ในตึกแถวหรืออาคารชุด ก็เป็นการยากที่จะดินที่ดีมาใช้ในการปลูกผัก เพราะดินที่ขายตามร้านขายต้นไม้มักเป็นดินแกลบเผาเป็นหลัก ป้าป้อมจึงแนะนำให้เราควรปรุงดินขึ้นมาใช้เอง ซึ่งทุกท่านสามารถทำเองได้บ้านโดยใช้เศษใบไม้และเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักได้ง่ายมาก

ฐานที่ 2 การเพาะต้นกล้าและดูแลกล้าผัก โดย คุณชูเกียรติ โกแมน เริ่มตั้งแต่การเลือกวัสดุในการเพาะต้นกล้า ความสำคัญของการเพาะต้นกล้า การเลือกเมล็ดพันธุ์ หลักการเลือกพันธุ์พืช ไปจนถึงการดูแลผักและการป้องกันโรคและศัตรูพืชเบื้องต้น

เสร็จจากการอบรมของทั้ง 2 ฐาน ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสทาน “ขนมกล้วย” ทำโดยคุณ Poope Supattra Usaha จากห้องครัวคนเมือง ซึ่งขนมกล้วยมีรสชาติที่หวานพอดีและไม่เหนี่ยวจนเกินไป แถมวัตถุดิบทั้งหมดเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ความนิ่มของขนมกล้วยจะขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยเป็นหลัก

เสร็จจากช่วงพักเบรกก็เป็นกิจกรรมอบรมปิดท้ายด้วย การหมักซีอิ๊วธรรมชาติจากใบหม่อนและใบไชยา โดยป้าป้อมปลูกผัก และ ทีมห้องครัวคนเมือง สาเหตุที่เราต้องหมักซีอิ๊วไว้ใช้เองในครัวนั้น เนื่องจากเครื่องปรุงส่วนมากใส่วัตถุกันเสีย มีการใส่สารเคมีแต่งกลิ่นและผงชูรส และมีโซเดียมในปริมาณมาก ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งซีอิ๊วหรือเครื่องปรุงอินทรีย์มักมีราคาที่แพง ดังนั้น การทำหมักซีอิ้วอินทรีย์ไว้ใช้เองช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเครื่องปรุงอินทรีย์ได้มากขึ้น ป้าป้อมแนะนำว่า เครื่องปรุงยิ่งหมักนาน รสชาติก็ยิ่งกลมกลอมและมีกลิ่นหอมมากขึ้น

หลักการเพาะต้นกล้าและการดูแลผัก โดยพี่ชูเกียรติ โกแมน

การปลูกผักสามารถปลูกได้โดยการหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง หรือการเพาะต้นกล้าและย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูก  การเพาะต้นกล้าเป็นวิธีที่ประหยัดเมล็ด ไม่สิ้นเปลืองเหมือนกับการหว่านเมล็ด เมื่อต้นกล้างอกแล้ว เราสามารถเลือกต้นกล้าผักที่แข็งแรงมาลงแปลงปลูก ทำให้อัตราการอยู่รอดของต้นกล้าสูงและคาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำได้ และวางแผนการเพาะปลูก ซึ่งการเพาะต้นกล้าจะช่วยลดระยะเวลาในการเพาะปลูกลง

การเลือกวัสดุเพาะกล้า

วัสดุที่เหมาะสมต่อการเพาะกล้าต้องสามารถรักษาความชื้นได้ดี มีความโปร่งและระบายอากาศได้ดี ซึ่งวัสดุที่เหมาะสมได้แก่ ขุยมะพร้าว พีทมอส และปุ๋ยหมัก หากใช้ปุ๋ยหมักเป็นวัสดุเพาะควรผ่านการร่อนให้เป็นผงเพื่อให้ได้เม็ดปุ๋ยที่มีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดีและมีธาตุอาหารเพียงพอต่อกล้าผัก เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองปุ๋ยหมัก เรามักจะผสมขุยมะพร้าวกับปุ๋ยหมัก ซึ่งสัดส่วนการผสมแล้วแต่นักปลูกแต่ละท่าน โดยทั่วไปอาจผสมขุยมะหร้าวกับปุ๋ยหมักในสัดส่วนเท่าๆ กัน

การเลือกซื้อเมล็ด

นักปลูกบางท่านอาจละเลยความสำคัญต่อการเลือกซื้อเมล็ด พี่ชูเกียรติได้ให้คำแนะนำว่า ควรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์แท้และไม่ถูกแสงแดด ถูกฝน หากซองเมล็ดถูกวางอยู่หน้าร้านและโดนแสงแดดเราก็ไม่ควรเลือกซื้อ หากเมล็ดถูกแสงแดด ความร้อนและความชื้นจะทำให้อัตราการงอกของเมล็ดลดลง และสังเกตวันที่ผลิตและวันหมดอายุ หากเมล็ดยังใหม่ อยู่อัตราการงอกก็จะสูง และหากเมล็ดใกล้หมดอายุ  อัตราการงอกก็จะลดลง โดยทั่วไปควรใช้เมล็ดในซองให้หมดในวันที่เพาะปลูก หากซองเมล็ดถูกฉีกออก สามารถเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บเมล็ดได้ประมาณ 4 เดือน

ขั้นตอนการเพาะต้นกล้า

  1. เอาปุ๋ยที่ผ่านการหมักแล้วมาร่อนให้เป็นผง ซึ่งจะทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีเม็ดขนาดเล็กและมีความโปร่ง ระบายอากาศและน้ำได้ดี
  2. ผสมผงปุ๋ยหมักกับขุยมะพร้าวเข้าด้วยกัน (ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุที่โปร่ง ระบายอากาศ และอุ้มน้ำได้ดี)
  3. เมื่อผสมผงปุ๋ยหมักและขุยมะหร้าวเข้าด้วยกันแล้ว ให้ปาดวัสดุปลูกให้เรียบ
  4. หว่านเมล็ดลงในวัสดุเพาะและรดน้ำให้ชุ่ม
  5. บ่มเมล็ดด้วยการปิดถุงพลาสติกแล้วทิ้งไว้ 1 คืน การบ่มในถุงพลาสติกจะช่วยให้ความชื้นในวัสดุเพาะและอากาศมีมากจนกระตุ้นให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น

การย้ายต้นกล้าและการดูแลต้นกล้า

  1. เมื่อกล้าผักงอกแล้ว ให้ใช้ไม้จิ้มย้ายต้นกล้าผักลงวัสดุเพาะต้นกล้าที่เตรียมไว้ในถาดเพาะต้นกล้า
  2. เมื่อย้ายต้นกล้าลงหลุมเพาะกล้าแล้ว ให้รดน้ำให้ชุ่ม ระหว่างเพาะต้นกล้าลงในถาดเพาะ วัสดุเพาะกล้าต้องไม่แห้ง ถ้าวัสดุเพาะกล้าแห้งจะทำให้กล้าผักชะงักการเติบโตและรากไหม้ได้ ดังนั้น วัสดุเพาะกล้าต้องชื้นอยู่เสมอ และตั้งถาดเพาะกล้าไว้ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง
  3. ถ้ากล้าผักเริ่มมีใบเขียว แสดงว่ากล้าผักต้องการแสงแดดมากขึ้น จึงต้องย้ายกล้าผักให้โดนแสงแดด
  4. ย้ายกล้าผักที่โตแล้วลงแปลงปลูก โดยเลือกกล้าผักที่แข็งแรงลงแปลงปลูก

การรดน้ำ

การรดน้ำให้ผักในตอนเช้าถือว่าสำคัญที่สุดการในปลูกผัก โดยทั่วไปผักจะเริ่มสะสมน้ำตั้งแต่ช่วงเช้ามืด และจะเริ่มทำการสังเคราะห์แสงตั้งแต่ตอนเช้าไปจนถึงบ่ายโมง ดังนั้น การรดน้ำตอนบ่ายอาจไม่ได้ช่วยในการสังเคราะห์แสงมากนัก การรดน้ำตอนบ่ายช่วยในการลดอุณหภูมิในอากาศลง หากอุณหภูมิในอากาศสูงเกินไปจะให้พืชคายน้ำมากขึ้น การรดน้ำจะช่วยให้พืชไม่ร้อนเกินไปและลดการคายน้ำมากขึ้น

ส่วนการรดน้ำตอนเย็นอาจทำให้พืชเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ตอนเย็นหรือตอนค่ำ น้ำที่ติดอยู่ตามใบจึงไม่แห้งและเกิดความชื้น เป็นเหตุให้ราก่อโรคเติบโต ดังนั้น การรดน้ำควรรดให้เสร็จก่อน 4 โมงเย็น เพื่อให้ใบพืชแห้งทันภายในตอนเย็น

Note พี่ชูเกียรติได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการปลูกไม้ผล เช่น พริก มะเขือ มะนาว หรือ ส้ม ให้ออกลูกเยอะไว้ว่า ให้นำใบที่อยู่ใต้กิ่งง่ามแรกออกให้หมดเพราะใบที่ใกล้ดินจะบนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับดินได้ และรวมถึงเด็ดดอกหรือผลในชุดแรกออกให้หมด เนื่องจากต้นไม้ผลที่ดอกและผลในชุดแรกอยู่ในระหว่างที่ต้นไม้ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้หญิงตั้งครรค์ในขณะที่ยังเป็นวัยเด็กหรือวัยรุ่นอยู่นั้นเอง