นโยบายเกษตรในเมืองรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ @ เมืองโรซาริโอ้ Rosario

ทำไมต้องพูดถึงโรซาริโอ้? คำตอบก็คือเป็นเพราะแผนงานส่งเสริมเกษตรในเมือง (Urban Agriculture Programme) ของเขาซึ่งเริ่มในปี 2002 ได้รับรางวัลจาก UNยกให้เป็น Best Practice ของโลก จึงน่าค้นหาไม่น้อยว่าเขาโดดเด่นอย่างไร และเราจะเรียนรู้อะไรจากเขาได้บ้าง

ก่อนอื่นใด ข้อมูลพื้นฐานสำคัญก็คือ อาเจนตินานั้นประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 2001 (หนักกว่าประสบการณ์บ้านเราในช่วง 1997 หรือ 2540 เสียอีก) ตัวเลขเกือบทุกตัวพุ่งลง มีตัวเลขไม่กี่ตัวที่พุ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ มีคนจนเพิ่มขึ้นมาเป็น 60% ในโรซาริโอ้ (ประชากรทั้งหมดราวๆ 1,160,000 คน) เมืองหนึ่งในจังหวัดซานตาเฟ่ ซึ่งอยู่ห่างจากบัวโนส ไอเรสประมาณ 300 กิโลเมตร จากนั้นการส่งเสริมเกษตรในเมืองก็เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤต

ทำไมเกษตรในเมืองที่โรซ่าริโอ้จึงโดดเด่น เหตุผลก็คือเกษตรในเมืองกลายมาเป็นวาระเชิงนโยบายหลักของเทศบาลเมืองโรซาริโอ้  คือได้รับการผลักดันผ่านนโยบายและแผนระดับท้องถิ่น การขับเคลื่อนของเขาที่เด่นมากจริงๆ คือ เขาจัด Workshop แบบมีส่วนร่วม ผลักดันให้เกิดสวนเกษตรชุมชนในเมืองเดียวและไม่ใช่เมืองที่ใหญ่นักมากถึง 791 แห่ง (ข้อมูลปี 2005) มีกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ถึง 342 กลุ่ม สามารถสร้างอุตสาหกรรมอาหารของเมืองโดยใช้วัตถุดิบจากการผลิตในเมืองทั้งหมด (เกิดขึ้นในปี 2003) มีการจ้างงานในภาคเกษตรเมืองเกิดขึ้น มีการการันตีว่า 10,000 ครอบครัวเป็นอย่างน้อยสามารถเข้าถึงผักปลอดสารได้ในตลาดท้องถิ่น สามารถสร้างพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนา รวมถึง องค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN, ICEI, IDRC, และ RUAF เพื่อระดมทรัพยากร และที่สำคัญยิ่งคือการเพิ่มการเข้าถึงที่ดินและการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินเพื่อการเพาะปลูกในเมือง

เรื่องที่ดินที่จะเอามาปลูกเป็นเรื่องใหญ่เมื่อนึกถึงการปลูกผักในเมือง กรณีของโรซาริโอเป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ในเรื่องนี้ ที่เขาทำคือการเสาะแสวงหาพื้นที่ว่างในเมือง ประเภทที่ขาดศักยภาพในการนำไปทำอย่างอื่น เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน ใต้สะพาน ริมถนน ริมทางรถไฟ พื้นที่เดินเสาไฟ หรือแม้แต่พื้นที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ แล้วนำมาจัดสรรให้คนไปปลูกผัก (หากเคยนั่งรถบนทางด่วนหรือแม้แต่บนแอร์พอร์ตลิงค์ที่กรุงเทพฯ จะเห็นว่าบ้านเรามีที่แบบนี้เหลืออยู่มาก ถ้าเราจะหันมาจริงจังกับการส่งเสริมการพึ่งตนเองในเมืองจริงๆ เราก็มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้อีกมาก) มีการกำหนดแผนการใช้ที่ดินที่ชัดเจน มีการจัดทำข้อตกลงการยกมอบที่ดิน (Cession agreements) หากเป็นที่เอกชนก็จะมีการยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้ เช่น ยกเว้นการเก็บภาษี จากนั้นมีการตรากฎหมายท้องถิ่นเพื่อการันตีความมั่นคงในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร

สำหรับมาตรการส่งเสริมด้านการเงินการงบประมาณผ่านนโยบายท้องถิ่นนั้น จะเน้นหนักไปที่การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนปัจจัยการผลิต จัดชื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทำเกษตรไว้ให้ยืมหรือเช่าแล้วแต่กรณี แสวงหาตลาด และที่สำคัญคือการสร้างการเข้าถึงระบบเครดิตดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุนด้านการเกษตรในเมือง ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้กลุ่มต่างๆสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือบทบาทผู้หญิงในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือ จากการสำรวจการเข้าร่วมในสวนเกษตรชุมชน 400แห่ง พบว่ามีผู้หญิงเข้าร่วมมากถึง 93% และมากถึง 70% ของแกนนำหรือผู้ประสานงานกลุ่มเป็นผู้หญิง !!

 บทความโดย อ.ปิยะพงษ์ บุษบงก์

(ข้อมูลหลักอ้างอิงจาก Centre for the Study of Agroecological Productionในงานชื่อว่า Urban Agriculture Programme of the City of Rosario, และจาก Lattuca, Antonio และคณะ ในงานชื่อว่าConsolidation of urban agricultural producers network in the city of Rosario ปี 2005)

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.research-matters.net