เกษตรธรรมชาติฉบับ MOA ตอนที่ 1

ทำความรู้จักกับเกษตรธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติ คือ การเพาะปลูกโดยเลี่ยนแบบปรากฏการณ์ธรรมชาติโดยผ่านการสังเกต ทำไมผักพื้นบ้านสามารถขึ้นได้งอกงามในป่าทั้งๆ ที่ไม่มีการใส่ปุ๋ย ทำไมไม่มีโรคและแมลงมารบกวนทั้งๆ ที่ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง เหตุผลเหล่านี้ล้วนเกิดจากทำงานของระบบนิเวศในธรรมชาติ จากหลักเกษตรธรรมชาติของ MOA ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก คือ

1) โลกนั้นมีชีวิต โลกหายใจได้

ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะดูขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งอธิบายว่า โลกมี 3 ส่วน หลัก คือ ดิน น้ำ และอากาศ แต่หลักของเกษตรธรรมชาติเป็นปรัชญาที่อธิบายว่า โลกนั้นจะหายใจออกในฤดูใบไม้ผลีและหายใจออกจนสุดในฤดูร้อน ต้นไม้จึงเกิดความเขียวขจีที่สุดในฤดูร้อน และโลกนั้นจะหายใจเข้าในฤดูใบไม้ร่วง และหายใจเข้าจนสุดในฤดูหนาว ต้นไม้จึงผลัดใบร่วงจนหมดลำต้นในฤดูหนาว เป็นต้น

อากาศเองก็เป็นอาหารของต้นไม้เช่นกัน เพราะมีก๊าซไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบของอากาศเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ต้องอาศัยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินทำการเปลี่ยนก๊าซดังกล่าวมาปรุงให้เป็นอาหารให้แก่พืชในรูปของไนเตรด รวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ช่วยให้เพาะปลูกง่ายขึ้น อาทิ หากเกิดฟ้าผ่าในแปลงนาใด แปลงนานั้นจะให้ผลผลิตข้าวได้ดี เกษตรกรจึงมุ่งปลูกข้าวในแปลงนาทันที เนื่องจาก ธาตุไนโตรเจนลงมาสู่ดินมากหลังการเกิดฟ้าผ่าเป็นต้น ดังนั้น เกษตรที่ปลูกล้อตามธรรมชาติ ย่อมได้เกิดผลผลิตดี

2) เกษตรธรรมชาติเน้นความสมดุล

โลกปรับตัวให้สมดุลอยู่เสมอ หากทำเกษตรตามสมดุลของธรรมชาติ ผลผลิตก็จะสมดุลตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด ปัญหาที่พบระหว่างทำเกษตรล้วนเกิดจากการฝืนธรรมชาติหรือทำให้การทำงานของธรรมชาติบิดเบี้ยวไปจากเดิม อาทิ การถางป่าจนกลายเป็นเขาหัวโล้นเพื่อไร่มันหรือข้าวโพด ทำให้ต้องใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงพืชตลอดเวลา เนื่องจากธาตุอาหารถูกน้ำชะล้างได้ง่ายเพราะไม่มีต้นไม้หรือหญ้ายืดหน้าดินไว้ หรือ การพ้นยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืช แต่ยาฆ่าแมลงเองก็ฆ่าแมลงที่เป็นประโยชน์เช่นกัน เช่น  ตัวห้ำ ตัวเบียน ที่จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช เป็นต้น

การถอนหญ้าออกจากแปลงจนหมดเป็นเหตุให้แมลงศัตรูพืชเข้ามารบกวน เนื่องจาก หญ้าเป็นแหล่งที่อยู่ของแมลงทั้งที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน หากลองสังเกตให้ดี จะมีแมลงอยู่ 2 กลุ่ม คือ แมลงที่มักอาศัยอยู่กับที่ และ แมลงที่ไม่อยู่กับที่ โดยทั่วไปแมลงที่อยู่กับที่มักเป็นแมลงศัตรูพืชโดยเกาะกินใบพืชเป็นอาหาร ส่วนแมลงที่ไม่อยู่กับที่ก็คือ แมลงกลุ่มตัวห้ำ ตัวเบียนนั้นเอง เนื่องจาก ต้องบินไป บินมาเพื่อหาแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร ซึ่งการควบคุมเหล่านี้ล้วนเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อย่างมีแมงมุมเข้ามากินแมลงศัตรูพืช หรือ งูเข้ามากินหนู เป็นต้น

ตัวห้ำ คือ สัตว์ที่จะเข้าไปกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร เช่น แมลงปอ ด้วงเต่า มวน แมลงช้าง แมลงหางหนีบ แมงมุม ไร นก เป็นต้น ตัวเบียน คือ สัตว์ที่จะเข้าไปเกาะเพื่อเข้าไปกัดกินแมลงศัตรูพืช หรือ เข้าไปวางไข่ในตัวแมลงศัตรูพืชจนทำให้ศัตรูพืชอ่อนแอและตายในที่สุด ได้แก่ แตนเบียน หรือ ไส้เดือนฝอย เป็นต้น

การใส่ปุ๋ยเคมีเองก็เป็นการฝืนธรรมชาติ ปุ๋ยเคมีจะทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินค่อยๆ ลดลง เนื่องจากปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินจับตัวกันแน่นขึ้นและมีโครงสร้างดินเปลี่ยนแปลงไป จนเหลือจุลินทรีย์เพียงไม่กี่ชนิด ทำให้มีปัญหาโรคพืชตามมาภายหลัง การมีจุลินทรีย์ที่หลากหลายจะช่วยควบคุมเชื้อราก่อโรคได้ดี อีกทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมักอยู่ในดินที่สะอาด หากดินมีการปนเปื้อนสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงก็จะทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินลดลง

ไม่เพียงการใช้สารเคมีสังเคราะห์หรือยาฆ่าแมลงเท่านั้น การใช้เชื้อจุลินทรีย์เพื่อควบคุมโรคก็อาจสร้างความไม่สมดุลของธรรมชาติในพื้นที่เพาะปลูกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่ไม่อยู่ในท้องถิ่นของเราหรือจุลินทรีย์ควบคุมโรค ยกตัวอย่างเช่น การใช้เชื้อรา Trichoderma เพื่อป้องกันโรคพืชด้วยการใช้ควบคุมหรือแย่งอาหารของเชื้อราก่อโรค จนทำให้เชื้อราก่อโรคลดจำนวนลงและไม่ทำให้เกิดโรคพืช การใช้เชื้อรา Trichoderma เพื่อป้องกันโรคพืชเป็นวิธีการทางเกษตรอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีข้อกำจัดตรงที่ เชื้อรา Trichoderma เองก็ไปควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์เช่นกัน เราจึงมักพบปัญหาว่าทำไมพื้นที่ของเราไม่มีเห็ดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากเห็ดซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งถูกเชื้อรา Trichoderma ควบคุมไว้นั้นเอง ดังนั้น ในบางวิธีการก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน

3) หลักการชำระล้าง      

ตามกฎของธรรมชาติ หากมีสิ่งสกปรกมากไปหรือเกิดความไม่สมดุลในพื้นที่ ต้องมีการทำความสะอาดพื้นที่ให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุล อย่างเช่น หากมีเชื้อโรคสะสมในดินมากเกินไป ก็ต้องมีการทำความสะอาดพื้นที่ของเรา เพื่อป้องกันปัญหาโรคพืช ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี โดยทั่วไปหากพื้นที่เกษตรมีขนาดใหญ่ด้วยการตากแดดหรือตากลมเพื่อฆ่าเชื้อโรค เกษตรกรจะยกแปลงให้สูงเพื่อให้หน้าดินโดนแสงแดดหรือลมให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการให้ปุ๋ยมากเกินไปก็เป็นโทษได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าปุ๋ยที่เราใส่ไปจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก็ตาม เพราะการที่พืชได้รับธาตุอาหารมากเกินไปจะทำให้พืชมีความอุดมสมบูรณ์มากเกินไปจนสร้างสารชีวเคมีที่ล่อแมลงหรือเชื้อราก่อโรคเข้ามารบกวน ซึ่งเปรียบเสมือนกับคนเราที่ทานอาหารมากเกินไปแต่ไม่ออกกำลังกาย จนเกิดปัญหาโรคอ้วนและโรคภัยอื่นๆ ตามมา

พืชที่ปลูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่

หากเลือกพืชท้องถิ่นหรือผักพื้นบ้านมาปลูกในพื้นที่ เราแทบจะไม่ต้องดูแลหรือจัดการมากมายอะไร เช่น ผักไซยาหรือมะละกอกินใบ ที่สามารถเติบโตได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือน้ำหมักเพื่อบำรุงให้ผักไซยาเติบโต เพราะผักไซยาได้ปรับตัวให้ทนต่อสภาพดิน อากาศ อุณหภูมิ รวมถึงโรคและแมลงที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งจะต่างจากการเพาะปลูกพืชต่างถิ่น เช่น กะหล่ำ คะน้า องุ่น แตงกวา กลับต้องใช้เวลาในการดูแลมาก ต้องใส่ปุ๋ยหรือฮอร์โมนบำรุงเพื่อให้พืชเติบโตและให้ผลผลิตดี มีโรคและแมลงเข้ามารบกวนมาก เนื่องจากโครงสร้างและดำรงชีวิตของพืชกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบให้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมต่างถิ่น อย่างคะน้า กะหล่ำ หรือ องุ่น เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในเขตอากาศหนาว พอเรานำมาปลูกในประเทศไทยซึ่งมีภูมิอากาศที่ร้อน พืชดังกล่าวจึงอ่อนแอต่อโรคและแมลง เป็นต้น

การจัดการปัญหาโรคและศัตรูพืชด้วยวิธีเกษตรธรรมชาติ

วิธีการเกษตรธรรมชาติจะเน้นที่การป้องกันโรคและแมลงมากกว่าการรักษาโรคหรือจัดการศัตรูพืชซึ่งเป็นการจัดการที่ปลายเหตุ ซึ่งการป้องกันปัญหาโรคพืช วัชพืชและแมลงศัตรูพืชจะเน้นที่การบำรุงพืชให้แข็งแรง โดยเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดินไปจนถึงการจัดการระหว่างการเพาะปลูก ดังนี้

การปรับปรุงดินให้มีชีวิตเป็นวิธีการป้องกันโรคพืชได้ดี หากดินมีความร่วนซุยสามารถรักษาความชื้นได้ดีและมีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช พืชก็จะแผ่ขยายรากลงดินไปได้ลึก หาธาตุอาหารและน้ำได้ดีขึ้น พืชจึงมีความทนทานต่อโรคและแมลง อย่างไรก็ตาม การที่ดินมีธาตุอาหารมากเกินไปก็ทำให้พืชอ่อนแอต่อโรคและแมลงเช่นกัน เนื่องจากพืชได้รับอาหารเพียงพอจากปุ๋ยที่ถูกใส่ลงไปในแปลงจนพืชไม่จำเป็นต้องปรับตัวให้หาอาหารมาก รากจึงแผ่ขยายไปตามผิวดินหรือหน้าดิน ไม่ขยายรากลงดินให้ลึกขึ้น พอเกิดภัยแล้ง พืชผักที่เพาะปลูกจึงมีความอ่อนแอต่อภัยแล้ง แมลงและโรคมากขึ้น

การรดน้ำ หากมากเกินไปก็เป็นโทษเช่นกัน ในหลักการเกษตรธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องรดน้ำผ่านท่อหรือน้ำประชาซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเสมอไป พืชเองก็สามารถดูดน้ำที่อยู่ใต้ดินมาใช้ได้เหมือนกันซึ่งน้ำจะระเหยขึ้นมาให้พืชดูดน้ำไปใช้  ดังนั้น ในฤดูฝนเราจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำพืชหรือรดน้ำเป็นบางครั้ง จากหลักการดังกล่าวเราจึงสร้างร่องน้ำรอบแปลงปลูกเพื่อให้น้ำฝนไหลซึมและสะสมในชั้นใต้ดิน หากดินที่เราเพาะปลูกเป็นดินเหนียว ต้องรดน้ำให้ระวัง เพราะน้ำอาจขังที่ผิวดินจนทำให้เกิดโรครากเน่าและโครนเน่าในพืช หรือเกิดอาการใบเหลืองได้

ในตอนหน้าจะกล่าวถึงเทคนิควิธีเกษตรธรรมชาติอีกมากมายตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ใบหญ้า การฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมให้สามารถเพาะปลูกได้ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ การจัดการวัชพืช ไปจนถึงการทำสวนผักในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนบนดิน สวนแบบยกแปลง สวนบนดาดฟ้า เป็นต้น