เทคโนโลยี IoT กับเกษตรในเมือง ตอนที่ 1

ปัจจุบันกระแสการบริโภคผักผลไม้ออแกนิกส์ได้ขยายตัวอย่างแพร่หลายจนเป็นหนึ่งในกระแสหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ เพราะทามกลางเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการบริโภคสินค้าออแกนิกส์กลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจกระแสหลัก การเติบโตของเกษตรอินทรีย์จึงเป็นกระแสหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเกษตรกรรม แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งของโลกแห่งเทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) หรือ อินเตอร์เน็ตออฟติง ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมากอุตสาหกรรมไอที เทคโนโลยี IoT เป็นระบบโครงข่ายที่จะเชื่อมต่อข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกันผ่านอุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต

หลักการทำงานของ IoT

การทำงานของ IoT สามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอนตามลำดับ ได้แก่ การเก็บข้อมูล (data collection) การตรวจทานและส่งต่อข้อมูล (collate and transfer) การวิเคราะห์ข้อมูลและสั่งการทำงาน (analyze data and take action) ดังนั้น ข้อมูล (data) จึงเปรียบเสมียนปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่ต้องใส่เข้าไปในคอมพิวเตอร์หรือระบบการประมวลผลนั้นเอง

  • การเก็บข้อมูล (data collection) ข้อมูลที่ถูกเก็บจากอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครื่องมืออีเล็กโทรนิกส์สำหรับวัดค่าหรือข้อมูลที่เราสนใจ ซึ่งโดยทั่วไปมี 3 ชนิด ได้แก่ เซ็นเซอร์ (sensor) ซึ่งออกแบบมาให้วัดค่าต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง เป็นต้น เสาอากาศ (antenna) สำหรับรับสัญญาณจากคลื่นต่างๆ อุปกรณ์ IoT สุดท้าย คือ ไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller) ซึ่งเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถเก็บข้อมูลและสั่งการให้อุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์ต่างให้ทำงานตามคำสั่งถูกเขียนจากภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษา C ภาษา JAVA หรือ ภาษา python และภาษาอื่นๆ เป็นต้น
  • การตรวจทานและส่งต่อข้อมูล (collate and transfer) ข้อมูลถูกเก็บจะถูกส่งไปที่พื้นที่เก็บข้อมูลหรือศูนย์เก็บข้อมูล (hub หรือ gateway) เช่น พื้นที่เก็บข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต หรือ ส่งข้อมูลให้ไปเก็บในคอมพิวเตอร์ เป็นต้น หรืออาจส่งข้อมูลไปตรวจสอบความถูกต้องในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวและเก็บในอินเตอร์เน็ต
  • การวิเคราะห์ข้อมูลและสั่งการทำงาน (analyze data and take action) หลังจากตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วก็จะทำการประมวลผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เสร็จแล้ว ระบบอินเตอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ก็จะทำการสั่งอุปกรณ์ให้ทำตามคำสั่งที่กำหนดไว้ เช่น ข้อมูลอุณหภูมิอากาศที่ถูกวัดจากเซ็นเซอร์วัดค่าอุณหภูมิ ได้ถูกส่งไปที่สมาร์ทโฟนเพื่อทดสอบความถูกต้อง จากนั้นสมาร์ทโฟนได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิแล้วปรากฏว่า อากาศร้อนเกินไป สมาร์ทโฟนก็จะสั่งการให้สปริงเกอร์ฉีดน้ำเพื่อให้ลดอุณหภูมิให้ลดลง เป็นต้น

ประโยชน์ของเทคโนโลยี IoT

IoT ให้ประโยชน์แก่ผู้ใช้งานหรือองค์กรได้หลากเอนกประสงค์ ซึ่งดึงดูดให้หลายธุรกิจนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ในการดำเนินงาน เพราะการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ทำได้อย่างรวดเร็วและพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น

  • ติดตามข้อมูลจากการดำเนินธุรกิจ เช่น ยอดการสั่งซื้อและขนส่งสินค้า ข้อมูลกำไรและขาดทุนจากการขาย
  • สร้างประสบการณ์อันดีให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการ
  • ประหยัดเงินและเวลา เนื่องข้อมูลถูกเก็บและประมวลผลผ่านคอมพิวเตอร์
  • ทำให้พนักงานทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น
  • เชื่อมต่อข้อมูลข้ามธุรกิจและปรับกระบวนการดำเนินงานเข้าด้วยกันมากขึ้น
  • การตัดสินใจในการดำเนินงานทำได้รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลถูกเก็บและประมวลผลได้เร็ว
  • สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องใช้แรงงานในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

จากคุณสมบัติของเทคโนโลยีนี้ IoT จะถูกแทรกซึมเข้าสู่อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันและเครื่องมือในการประกอบธุรกิจ อาทิ การเชื่อมต่ออุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์เข้ากับเครื่องปรับอากาศ ทำให้เราสามารถสั่งการให้เครื่องปรับอากาศให้ทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือก่อนที่เราจะกลับบ้าน หรือ ติดตั้งตัวรับ Wifi เข้ากับโครนเพื่อสั่งให้โครนขนส่งพัสดุไปตามที่ต่างๆ หรือ เป็นต้น

ในทางการแพทย์ หรือ smart health เทคโนโลยี IoT สามารถทำประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ การติดตามผู้ป่วยขณะทำการรักษานอกหรือในโรงพยาบาล รวมถึงการดำเนินกิจกรรมในโรงพยาบาล เช่น การทำตารางสั่งซื้อยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือ การส่งผ่านข้อมูลผู้ป่วยขณะทำการผ่าตัดไปปรึกษาผู้เชียวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาลในต่างประเทศ

อาคารอัจฉริยะ หรือ smart building ก็เป็นอีกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ IoT สำหรับประหยัดพลังงาน เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ที่สำรวจจำนวนคนที่อยู่ในห้อง และใช้จำนวนคนในห้องมาประมวลผลในการปรับอุณหภูมิห้อง อย่างห้องประชุมที่มีผู้เข้าประชุมจำนวนมาก ระบบก็จะปรับอุณหภูมิให้ลดลงเมื่ออุณหภูมิห้องเย็นเต็มที่แล้ว หรือเมื่อคนออกจากห้องไปหมดแล้ว ระบบก็จะสั่งให้เครื่องปรับอากาศหยุดทำงาน เป็นต้น

เมืองอัจฉริยะ หรือ smart city อย่างการติดตั้งเซนเซอร์ IoT เข้ากับไฟจราจรเพื่อควบคุมการจราจรอัตโนมัติบนท้องถนน อาทิ กรณีที่ถนนเกิดจราจรติดขัด รถระบายไม่เพียงพอ ระบบก็จะสั่งให้สัญญาณไฟแดงลดลงและสัญญาณไฟเขียวนานขึ้น หรือ เพิ่มช่องการจราจรให้มากขึ้นในช่องทางที่จราจรติดขัด

เกษตรอัจฉริยะ หรือ smart farming สามารถนำ IoT มาประยุกต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดีขึ้น โดยการติดตั้งเซนเซอร์ IoT ในแปลงเกษตรเพื่อติดตามอุณหภูมิดิน ปริมาณแสง ความชื้นในพื้นที่แปลง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการออกแบบระบบการให้น้ำอัตโนมัติได้

ในอนาคตมีการประมาณโดย McKinsey ว่าในปี 2025 มูลค่าของเทคโนโลยี IoT จะสูงถึง 11.1 ล้านล้านดอลล่า หรือ ประมาณ 388.5 ล้านล้านบาท เทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่างได้หลายด้าน ไม่เว้นแม้กระทั้งวงการเกษตรกรรมซึ่งจะถูกเปลี่ยนโฉมหน้าระบบการผลิตอาหารและที่มาของอาหารจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เป็นทั้งผลกระทบต่อผู้ผลิตแบบดังเดิม และก็เป็นโอกาสสำหรับคนที่นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตอนหน้าจะกล่าวถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับทำเกษตรในแง่มุมต่างๆ ที่มากขึ้น

References