Copenhagan Food Cooperative : สหกรณ์อาหารปลอดภัยเป็นจริงด้วยพลังคนอาสา

เชื่อว่าหลายคนตระหนักถึงเรื่องสารเคมีตกค้างในอาหาร และอยากจะมีอาหารที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีไว้กินกันมาขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนหลายคนก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดเรื่องสถานที่ซื้อ หรือข้อจำกัดเรื่องราคา ว่าผักที่ขึ้นชื่อว่า Organic มักจะราคาสูง

คงไม่ใช่แค่ที่บ้านเรา ที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ ที่น่าสนใจคือ มีคนบางกลุ่ม ในบางประเทศ ที่ไม่ยอมจำนน แต่รวมตัวลุกขึ้นหาทางออกให้กับปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญ ตัวอย่างเช่นกลุ่ม Copenhagan Food Cooperative หรือสหกรณ์อาหารโคเปนฮาเกน

กลุ่มนี้เขารวมตัวกันตั้งแต่ปี 2008 เริ่มต้นจาก 30 คน ที่ต้องการมีอาหารที่ดี มีคุณภาพ เป็นผลผลิตอินทรีย์ไว้กินในราคาที่สามารถจะจ่ายได้ เพราะผักในห้างนั้นราคาแสนแพง เขาจึงอาสามาทำงานช่วยกันจัดการตั้งแต่หาซื้อผักผลไม้จากฟาร์มออร์แกนิค หรือไบโอไดนามิก  จัดการเรื่องการขนส่ง จัดลงถุง จำหน่าย การอาสาช่วยกันทำงานเช่นนี้ จะช่วยแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง ลดค่าจัดการ ทำให้ราคาสินค้าถูกลง ที่สำคัญเขายังให้ราคาที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตด้วย

จากสมาชิก 30 คน ตอนนี้เขามีสมาชิกรวมกว่า 3000 คน โดยผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกจะมีสิทธิ์ซื้อผลผลิตในราคาถูก มีกติกาว่าหาต้องการซื้อผลผลิตก็ให้สั่งล่วงหน้าในแต่ละอาทิตย์ เพื่อว่าจะได้บริหารจัดการผลผลิตได้ถูกต้อง   โดยเขาจะจัดผักเป็นถุงให้ ถุงละประมาณ 6-8 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 100 kr.  หรือประมาณ 570 บาท สมาชิกจะต้องมารับผักเองตามร้านค้าเครือข่ายทุกวันพุธ ในขณะเดียวกัน สมาชิกแต่ละคนก็ต้องมาช่วยทำงานอาสาตามหน้าที่ต่างๆ เดือนละ 3 ชั่วโมง

การบริหารจัดการด้วยอาสาสมัครเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต่างคนต่างที่มา แต่ก็ล้วนมีจุดหมายความต้องการเรื่องอาหารปลอดภัยเหมือนกัน คุณ Andreas Lloydหนึ่งในสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ ได้เขียนเล่าประสบการณ์การทำงาน และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกลุ่มนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่พวกเขาทำงานอาสาในกลุ่มร่วมกันนั้น พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงจัดส่งผักผลไม้ที่สด และไม่ใช่สารเคมีเท่านั้น แต่พวกทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันคิดการบริหารจัดการให้กลุ่มนี้ทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืนด้วย และสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันก็คือ

– การคิดบวกและเชื่อมั่นว่าเราสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลง และสร้างความแตกต่างได้ เขาบอกว่ามันง่ายมากที่ชี้นิ้วแล้วพร่ำบ่นว่าห้างสรรพสินค้า หรือการทำเกษตรแบบเคมีมันไม่ดียังไง แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น เขาเลือกที่จะสร้างทางเลือกที่จะทำให้สามารถอยู่ได้ในอนาคตต่อไปมากกว่า “We believe in the power of the good example”

–   การมีส่วนร่วมของสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเป็นชุมชนขึ้นมา ดังนั้นพวกเขาจะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกัน แม้จะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดอยู่บ้างก็ตาม

–  การไม่กำหนดยุทธศาสตร์วางแผนเรื่องอนาคตอย่างชัดเจนเขารู้แต่ว่าเขาเดินหน้าอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือเขาต้องการจะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม และช่วยกันสร้างสหกรณ์กลุ่มนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หากมีข้อผิดพลาดก็ช่วยกันแก้ไข การทำเช่นนี้ก็ทำให้พวกเขามีร้านค้าท้องถิ่นเล็กๆที่เป็นเครือข่ายเติบโตขึ้นรอบๆโคเปนฮาเกน มากถึง 11 แห่งแล้วตอนนี้

– การเชื่อว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้และเมื่อเกิด ก็ช่วยกันแก้ไขได้เช่นกัน

–  ความแตกต่างทำให้การทำงานเปิดกว้าง และเข้าถึงคนจำนวนมาก ด้วยความที่สมาชิกมาจากหลากหลายอายุ ต่างกันทางเพศ ภาษา การศึกษา อาชีพ แต่พวกเขาสนใจเรื่องการช่วยกันสร้างระบบอาหารที่ดีและยั่งยืนขึ้นเหมือนกัน การได้ทำงานร่วมกัน ก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันมากมาย หากความเห็นไม่ตรงกัน เขาก็จะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเปิดกว้าง โดยเคารพในความแตกต่าง

–  การเชื่อว่ากลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ใหญ่กว่าพวกเขาไม่ใช่แค่คนซื้ออาหารอินทรีย์ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีเกษตรกรรายย่อยอยู่ด้วย ดังนั้นเขาจะไม่มองว่าเกษตรกรเป็นเพียงผู้ส่งขายสินค้า ที่เราจะต้องซื้อได้ในราคาถูกที่สุดเท่านั้น แต่คิดถึงคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วยดังนั้นทางกลุ่มก็จะมีการจัดประชุม จัดกิจกรรมร่วมกับเกษตรกรอยู่เสมอๆ

–  สหกรณ์แห่งนี้คือโรงเรียนของทุกคนโดยเขาเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ลงมือทำ ได้คิดสร้างสรรค์ ได้ตัดสินใจ และลองเรียนรู้ไปด้วยกัน

– ไม่มีใครที่ขาดไปไม่ได้นั่นหมายความว่าการบริหารจัดการงาน จะไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป และหากคนกลุ่มนั้นไม่อยู่ กลุ่มก็ยังสามารถที่จะดำเนินงานต่อไปได้

อาจกล่าวได้ว่า บทเรียนการทำงานของคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้ เพราะถือว่าการดำเนินงานของพวกเขาค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเป็นความสำเร็จที่เกิดจากอาสาสมัครล้วนๆ พวกเขาทำตัวอย่างให้ดู ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง หากเราต้องการระบบอาหารที่ดี มีคุณภาพเช่นนี้ บางทีเราคงต้องลุกขึ้นมา รวมตัวกันทำบางอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้บ้างเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://andreaslloyd.dk/2013/02/anything-but-business-as-usual/

บทความ “เรื่องราวของอาหาร..ที่ไม่ใช่เพียงแค่ของ.กิน” ที่น้องฝ้าย กรชชนก หุตะแพทย์เขียนในวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ

ขอบคุณภาพจาก http://modkraft.dk/emneord/k%C3%B8benhavns-f%C3%B8devaref%C3%A6llesskab

http://samvirke.dk/forbrug/artikler/koebenhavns-foedevarefaellesskab-frivillige-groent-formaal.html