เกษตรในเมืองกับการเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค ลดระยะห่วงโซ่อาหารในเมือง @เบโลโอรีซอนชี ประเทศบราซิล

ครั้งที่แล้วได้เล่าถึงประสบการณ์ของเมืองฮาวาน่า ประเทศคิวบาในภาพใหญ่  ในระดับนโยบายและแผนการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมือง ไปแล้ว คราวนี้ขอหยิบยกเรื่องราวเล็กๆ ของการเดินทางของเกษตรในเมือง ผ่านกลุ่มคนเล็กๆ ที่เมืองเบโลโอรีซอนชี ประเทศบราซิล ให้ฟังกันบ้าง

เรื่องราวเล็กๆ นี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นบทบาทเกษตรในเมืองกับการทำให้ห่วงโซ่ทางอาหารสั้นลง (Shorter food chains)การปรับระบบการกระจายอาหาร (food distribution system) และความพยายามในการสร้างความเกื้อหนุนระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และระบบนิเวศในเมือง แนวทางเช่นนี้เติบโตมากในโลกทางเลือกตอนนี้ อย่างเช่นที่ตูริน อิตาลี

ก่อนอื่น ขอเท้าความสักเล็กน้อย เกี่ยวกับเมืองเบโลโอรีซอนชี ช่วงแรกเริ่ม ภาครัฐที่นี่ก็เหมือนภาครัฐส่วนใหญ่ในโลก คือ ไม่ได้จริงจังมากนักกับเรื่องส่งเสริมเกษตรในเมือง เพราะรัฐในยุคทุนนิยมเสรีมีแนวโน้มส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน หรือง่ายๆ คือความเจริญมั่งคั่ง ซึ่งการเอาดินไปปลูกผักมักกลายเป็นทางเลือกท้ายๆ ของการพัฒนาตามแนวคิดกระแสหลักแบบนี้ ดังนั้น ความงดงามของเกษตรในเมืองที่นี่เริ่มต้นสร้างมาจากผู้คนตัวเล็กๆ ที่คิดทวนกระแส ไม่ใช่รัฐหรือเอกชนตัวใหญ่ๆ

สวนผักเล็กๆ เกิดขึ้นมาได้ในเมืองใหญ่ที่คุณค่าของที่ดินไม่ได้อยู่ที่เม็ดดิน แต่อยู่ที่ทำเลที่ตั้ง และเม็ดเงินที่จะได้จากเม็ดดิน นับเป็นเรื่องประหลาดสำหรับยุคสมัยที่ทุนนิยมนำทุกอย่าง แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้ทุนนิยม ก็ยังมีพื้นที่ว่างให้กับอย่างอื่นอยู่ ตราบใดที่หัวใจคนไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นธนบัตร ชวนให้นึกถึงภาพดอกไม้ในสวนที่ถูกปลูกไว้หน้าบ้านของครอบครัวที่อยู่หลังตึกเวิลด์เทรดบานสะพรั่งหลังจากตึกถล่มจากเหตุการณ์ 9-11 เพราะนั่นหมายความว่ามันมีโอกาสได้รับแสงเสียที (หลังจากที่ถูกตึกบดบังมานาน) แม้คนทั้งโลกอาจจะเสียใจ แต่อย่างน้อยก็มีพื้นที่ให้คนกลุ่มเล็กๆ ได้สุขใจกับการเห็นดอกไม้บานในเช้าวันใหม่นั้น

ความน่าสนใจที่ผมจะนำมาเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้ก็คือ มีกลุ่มคนที่พยายามปรับตัวกับทุนนิยม แต่ไม่ตกเป็นทาสของทุนนิยม ไม่ปฏิเสธว่าทุนนิยมครอบเราอยู่ แต่ไม่ยอมก้าวตามทุนนิยม จนละทิ้งสิ่งที่ทุนนิยมไม่เคยมองเห็น คือ ความเกื้อกูล โดยเฉพาะความเกื้อกูลระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และระบบนิเวศ

คนเมืองกลุ่มนี้ แม้มีแนวคิดท้าทายทุนนิยม แต่ก็ยอมรับความจริงว่าการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา เพื่อให้พึ่งตนเองได้นั้นจำเป็น แต่ต้องใส่หัวใจลงไปในเงินตราที่ไร้หัวใจนั้น สิ่งที่เขาทำก็คือ เขาพยายามเชื่อมโยงให้เกิดห่วงโซ่อาหารในเมือง และทำให้มันสั้นที่สุด กล่าวคือ กลุ่มผู้ปลูกผักในเมือง ตระหนักว่าผักไม่ได้มีไว้ปลูกกินเองอย่างเดียว (ซึ่งนั่นเป็นปรัชญาสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารในเมือง เพราะต้องคิดถึงเรื่องการกระจายอาหารหรือการเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นที่เขาไม่มีศักยภาพที่จะปลูกเองบนฐานของความเป็นธรรมด้วย) พวกเขาเชื่อมตัวเองเข้ากับกลุ่มผู้ขายปัจจัยการผลิต กลุ่มผู้ขนส่งผลผลิต และผู้รับชื้อกินซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน จากนั้นก็เชื่อมทั้งหมดเข้าหากัน (มารู้จักกัน) โดยไม่ให้มีพื้นที่สำหรับพ่อค้าคนกลางหรือห่วงโซ่ที่ไปแสวงหามูลค่าส่วนเกินและการขนส่งที่ไม่จำเป็น พอรู้จักกัน ก็เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อกัน ผู้ขายปัจจัยการผลิตก็ต้องขายของดีในราคาที่เป็นธรรม ผู้ผลิตก็ต้องเน้นความสด ปลอดภัย และคุณภาพที่ดี ผู้ขนส่งก็ต้องได้อย่างเหมาะสมและละเว้นการเดินทางไกลของอาหาร (Food miles) ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการลดมลภาวะได้ด้วย และสุดท้ายผู้บริโภคก็ต้องได้กินของดี ราคาเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการสะท้อนความเห็นต่อคุณภาพสินค้าและการบริการกลับไป

เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นแล้วในหลายแห่งทั่วโลก เช่น การส่งกล่องผักจากผู้ผลิตตรงถึงผู้บริโภคที่เชื่อมผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง (box scheme/ delivery box contains) การร่วมลงทุนและรับความเสี่ยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การเยี่ยมชมสวนผักโดยกลุ่มผู้บริโภค การจัดตั้งสหกรณ์ผู้บริโภคเพื่อจัดระบบการผลิตและกระจายสินค้าที่เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ และการสร้างตลาดเฉพาะที่จำหน่ายโดยผู้ผลิตโดยตรงซึ่งได้รับการตรวจสอบแล้วว่ามีกระบวนการผลิตที่เหมาะสม แม้แต่ที่บ้านเราก็มี เช่น ในกรุงเทพ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น

แต่ที่เมืองเบโลโอรีซอนชีจะเด่นก็คือ เขาเริ่มทำกันโดยกลุ่มเล็กๆ โดยไม่ได้ปฏิเสธเลยว่ามันมีมูลค่าเพิ่ม (value added) ในแต่ละห่วงโซ่ กล่าวคือ ทุกฝ่ายได้หมด หากแต่มันให้ความรู้สึกว่าเป็นธรรม และสะท้อนว่าการสร้างระบบอาหารที่มั่นคงไม่ใช่เรื่องต่างคนต่างทำอย่างมั่นคงหรือพึ่งตนเองให้ได้มากน้อยตามแต่ศักยภาพของแต่ละคน แต่เป็นเรื่องของการมาร่วมกันสร้างห่วงโซ่อาหารที่มั่นคงหรือพึ่งพากันและกันต่างหาก ซึ่งมันคือการพึ่งตนเองในสเกลที่ใหญ่และยั่งยืนขึ้น จากจุดเล็กๆ นั้นมันกลายเป็นการจุดประกายให้กลุ่มอื่นๆ ทำในลักษณะเดียวกัน ทำให้เรื่องเครือข่ายเกษตรในเมืองที่นี่กลายเป็นโอกาสในการสร้างงานและสร้างรายได้ (job and income generation) การดำเนินการในทำนองเดียวกันนี้ที่เบโลโอรีซอนชีขยายออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดการสนับสนุนจากภายนอกก็เริ่มเข้ามา ที่สำคัญที่สุดคือการลงมาสนับสนุนผ่านโครงการจากเมล็ดพันธุ์ถึงโต๊ะอาหาร (From Seed to Table Programme) โดย Resource Centres on Urban Agriculture and Food Security (RUAF) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศหลักที่สนับสนุนเรื่องเกษตรในเมืองโดยตรง มีเครือข่ายกับหลายเมืองทั่วโลก และมีสำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ และที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือจากจุดเล็กๆ นี้ ในท้ายที่สุด มีส่วนทำให้เกิดการผลักดันเชิงนโยบายหรือการปรับกระบวนทัศน์เชิงนโยบายของรัฐที่เคยมุ่งเน้นไปในแนวทางทุนนิยมเสรีให้หันมาสนใจเรื่องเกษตรในเมือง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1993 จนกระทั่งเกิดนโยบายมุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารในเมืองเบโลโอรีซอนชี (The Belo Horizonte Food Security) ขึ้น และนโยบายนี้ได้รับรางวัลจาก World Future Council ในปี 2009 ยกย่องให้เป็นนโยบายเปลี่ยนโลก (Policies to change the world)!!

บทความโดย ปิยะพงษ์ บุษบงก์

(อ้างอิงหลักจาก World Future Council ในงานชื่อว่า Celebrating the Belo Horizonte Food Security Programme, Thomas Bernet และคณะ ในงานชื่อ Participatory Market Chain Approach และเอกสารโครงการ From Seed to Table ของ RUAF)

ขอบคุณรูปภาพจาก https://sites.tufts.edu/belohorizonte/urban-agriculture/

หากใครสนใจอ่านเรื่องราวแนวคิด แนวทางในการพัฒนาเกษตรในเมืองของต่างประเทศฉบับเต็ม สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ ปลูกเมือง ปลูกชีวิต โดยอ. ปิยะพงษ์ ษุษบงก์  ซึ่งรวบรวมเนื้อหาของประเทศต่างๆเอาไว้อย่างน่าสนใจ สั่งซื้อได้ทางโครงการสวนผักคนเมืองนะคะ  โทร. 02-057-3913 / 064-150-2259  E-mail: [email protected] Line ID : cityfarmthailand