เปลี่ยนพื้นที่รอนสิทธิ์แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง เป็นพื้นที่ปลูก ปัน กิน @ โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์

 “ต้องขอบคุณ และยกความดีให้บรรพบุรุษ ที่ปลูกฝังให้เรารักสีเขียว”

ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ ผู้จัดการโรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ กล่าว เมื่อพูดถึงแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ร้าง เต็มไปด้วยเศษหิน เศษอิฐ เศษปูน ที่เหลือจากการก่อสร้าง ให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ขึ้นมา

อันที่จริงพื้นที่ตรงนี้อยู่ในครอบครองของมูลนิธิมนูตวงรัตน์ เป็นพื้นที่แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ไม่สามารถที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆได้ แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์ คุณอมราจึงชวนบรรดาคุณครูในโรงเรียนที่สนใจ มาช่วยกันทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวขึ้นมา

ขอบอกว่าพื้นที่สีเขียวที่สร้างขึ้นในเมือง ตรงข้ามกับห้างใหญ่อย่างเดอะมอลล์ งามวงศ์วานนี้ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่ธรรมดา เรียกว่าเป็นพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม มีทั้งข้าว มีทั้งผักนานาชนิด และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ  คุณครู  รวมถึงผู้ปกครอง โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ ผ่านการลงมือทำเกษตร และทำกิจกรรมต่างๆในสวนด้วยกันอย่างน่าสนใจ

สวนผักที่นี่แบ่งเป็นแปลงๆ เรียงรายล้อมรอบกันเป็นชั้นวงกลม แปลงขนาดเล็กเป็นแปลงที่เด็กๆแต่ละห้อง ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนประถม 6 แบ่งปันดูแล ห้องละแปลง โดยแต่ละห้องจะช่วยกันคิดวางแผนว่า จะปลูกอะไร ช่วยกันดูแล รดน้ำ เมื่อได้ผลผลิต ก็จะช่วยกันคิดว่า จะนำผลผลิตไปทำเมนูอะไรกินกันดี หรือหากได้มากหน่อย ผลผลิตบางส่วนเขาก็นำไปฝากให้ฝ่ายธุรการช่วยบรรจุ และวางขายให้กับทั้งผู้ปกครอง และครู ในตลาดนัดกินเป็นอยู่เป็น ซึ่งจะมีทุกวันอังคารต้นเดือน เงินที่ได้ก็จะเก็บเป็นกองกลางของห้องนั้นๆ   ส่วนคุณครูมีหน้าที่ช่วยกันรับผิดชอบพืชผักที่ปลูกในแปลงใหญ่ด้วยกัน

แน่นอนว่าในตอนเริ่มต้น ใช่ว่าครูทุกคนจะสนใจ คุณอมราเล่าให้ฟังว่า มีครูบางคนก็รู้สึกว่าฉันมาเป็นครู ไม่ได้มาขุดดิน มาทำเกษตรแบบนี้ แต่เมื่อได้ลองลงมือทำจริงๆ แกมถูกบังคับหน่อยๆ พอพืชผักออกดอกออกผล และตนเองเห็นประโยชน์ว่า เด็กๆในห้อง ได้ลงมาเรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติ จากสวนผักแห่งนี้ ครูคนนั้นก็เปลี่ยนใจ เริ่มเห็นความสำคัญ และลุกขึ้นมาขอโทษที่ตนเองเคยรู้สึกไม่ดีมาก่อน

ความน่าสนใจของสวนผักที่นี่คือ เขาไม่เพียงใช้พื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กและครูเท่านั้น แต่ยังเชื่อมร้อยผู้ปกครองที่สนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวที่สนใจมาเช่าแปลง เพื่อทำเกษตรในพื้นที่แห่งนี้ด้วยกันได้ ราคาแปลงละ 350 บาทต่อเดือน ซึ่งก็มีครอบครัวที่สนใจมาเช่าอยู่ประมาณ 3-4 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ลูกไม่ค่อยกินผัก และเขาพบว่า พอได้ปลูกผักเอง โดยลูกมีส่วนช่วย ก็ทำให้ลูกหันมากินผักมากขึ้น

“ผมเคยพาลูกไปแปลงเกษตรปลอดสารที่ราชบุรี ปกติลูกชายไม่กินผัก แต่วันที่ไปที่นั่น เกษตรกรพาเที่ยวชมแปลง เล่าวิธีการปลูกอย่างพิถีพิถันต่างๆนานาให้ฟัง ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นเขาหยิบผักสดๆขึ้นกิน คิดว่าน่าจะมาจากว่าเขาเป็นว่าผักนี่ปลูกมายังไง คนทำตั้งใจขนาดไหน พอรู้ว่าโรงเรียนเปิดให้เช่าทำแปลงเกษตร ก็เลยสนใจ” พ่อโอม หนึ่งในครอบครัวที่มาเช่าแปลงเล่าให้ฟัง

นอกจากเรื่องการปลูกผักแล้ว ทางโรงเรียนยังใช้พื้นที่แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์ โดยเชื่อมโยงให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมร่วมกันปลูกข้าวในวันแม่ หรือ ย่ำโคลน โดนใจแม่ ซึ่งครอบครัวที่สนใจจะช่วยกันปลูกข้าวครอบครัวละ 2 กล้า  อีกทั้งยังมีการจัดเข้าค่ายในช่วยปิดเทอม Plant and Play ซึ่งเด็กๆก็ได้มาเรียนรู้กิจกรรมต่างๆโดยใช้พื้นที่สวนผักแห่งนี้นี่เอง

ที่สำคัญ โรงเรียนนี้ยังเปิดกว้าง มีการเชื่อมร้อยเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานเรื่องอาหาร เข้ามาช่วยกันให้ความรู้ และจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆบนพื้นที่แห่งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Organic to School ที่เข้ามาทำโครงการผักกะเด็ก สนับสนุนให้เด็กได้มีชุดปลูกผักกับไปปลูกกับครอบครัวที่บ้าน 1 ชุดปลูก 1 ครอบครัว พร้อมทั้งให้มีการบันทึกอาหารจานโปรด My Favorite plate ว่าในแต่ละมื้อกินอะไรบ้าง มีการตกแต่งสร้างสรรค์จานอย่างไร และที่สำคัญคือให้มีองค์ประกอบของผักด้วยอย่างน้อยวันละ 400 กรัม,  มี MOA  เข้ามาช่วยสอนเรื่องการทำอาหารสุขภาพให้อร่อย โดยปราศจากผงชูรส, มีกลุ่มผักDone มาช่วยให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก, มีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านที่เคยไปเรียนรู้ด้วยอย่างคุณมะปราง มาช่วยสอนเรื่องไส้เดือน  เป็นต้น

จากวันที่เปิดสวนผักแห่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ นับเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ก็มีเรื่องราว กิจกรรมดีๆเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้อย่างมากมาย แม้ว่าหนทางจะไม่ได้โรยโดยกลีบกุหลาบ พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน เรื่องน้ำท่วมขัง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง อุปสรรคเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกย่อท้อจนต้องล้มเลิกและยอมแพ้ไป “หัวใจของการทำงานตรงนี้ คือการเรียนรู้” คุณอมรากล่าว

คุณอมรา พูดถึงความฝันของตัวเองว่า ต่อไปอยากจะทำงานร่วมกับชุมชนรอบข้าง เปิดพื้นที่ตรงนี้ให้คนที่สนใจในชุมชนรอบข้าง เข้ามามีส่วนช่วยกันทำเกษตรในพื้นที่แห่งนี้ด้วย

เชื่อว่าใครได้มาเห็นสวนผักแห่งนี้ ก็คงอดรู้สึกประทับใจไม่ได้ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ คุณครูที่นี่ ก็คงอดรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำขึ้นมาไม่ได้ โดยเฉพาะครูแอน หัวหน้าโครงการหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญที่ช่วยกันบุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา