เกษตรในเมืองกับการยกระดับความมั่นคงทางอาหาร@ ฮาวาน่า คิวบา

เรื่องเกษตรในเมืองที่ฮาวาน่า คิวบา มีอะไรน่าเรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมในเมือง กลไกในเชิงนโยบายและกฎหมาย

ขอเริ่มต้นจากพื้นเพคร่าวๆ ก่อนว่าคิวบาเป็นประเทศสังคมนิยม (อันนี้ต้องทดไว้ในใจเลยครับ เวลาจะเทียบเคียงกับเรื่องบ้านเรา) ด้วยเรื่องราวยาวเหยียด เล่าไม่ไหว เอาเป็นว่าเขาถูกบีบให้จำใจต้องพึ่งตนเอง ด้วยการกีดกันทางการค้าโดยประเทศต่างๆพอคนอดอยาก ก็เลยเกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ และเกิดเกษตรกรรมในเมืองขึ้น จากเดิมที่เน้นปลูกอ้อย ก็เปลี่ยนมาปลูกปลูกสิ่งที่กิน กินสิ่งที่ปลูก จนเกิดความหลากหลายขึ้น คนทั้งนอกทั้งในเมืองหันมาปลูกสารพัดอย่าง โดยรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มอบที่ดินให้ประชาชนทำกิน โดยไม่คิดค่าเช่า แต่เน้นที่ความคุ้มค่าสูงสุดของการใช้ที่ดิน แนวทางนี้ นำไปสู่การรวมกลุ่มกันของประชาชนเพื่อทำกินในพื้นที่ของรัฐ ทั้งในรูปกลุ่มเกษตรกร กลุ่มคนงาน หรือสหกรณ์  ส่วนเอกชนก็ถูกจูงใจสารพัดในการหันมาทำเรื่องนี้ เช่น มีการลดหย่อนภาษี ในขณะที่ รัฐเองก็ลงทุนด้านการเกษตรเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเป็นบริษัทของรัฐ  และก็ให้หน่วยงานต่างๆ ปลูกผักในพื้นที่ส่วนราชการของตนเองด้วย จนแทบจะกลายเป็นเมืองผักไปก็ว่าได้

ประชาชนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ หลังจากที่รัฐบาลกระจายอำนาจมาให้ โดยเฉพาะผ่านหน่วยการบริหารจัดการระดับท้องถิ่นที่เล็กๆ ชื่อว่าสภาประชาชน และในเทศบาลของเขาก็มีการตั้งแผนกเกษตรกรรมในเมืองขึ้นมาโดยเฉพาะเลย เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ โดยรัฐบาลมีการจัดประกวดผลงานระหว่างเทศบาลด้วย ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้แต่ละแห่งจริงจังกับการผลักดันเรื่องนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องมาทำเกษตร มีทั้งแบบที่อาสามาทำ เพื่อปากท้องของตน และกรณีที่ถูกจ้างโดยรัฐให้มาทำ(รัฐบาลให้เงินเดือนเกษตรกร) ซึ่งกรณีหลังก็จะไปไกลกว่าเรื่องปากท้องตนเอง แต่ต้องทำงานหนัก เพื่อให้เกิดการกระจายอาหารมากที่สุด

ประชาสังคมก็เกิดขึ้นเยอะมาก โดยกลุ่มผู้หญิงก็จะมีบทบาทโดดเด่น  สื่อก็ทำหน้าที่ด้านการให้ข้อมูลและความรู้ต่างๆเรื่องการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในตอนหลัง เอกชนก็มีบทบาทมากเช่นกัน หลังจากที่เปิดให้เกิดการลงทุน และมีการเชื่อมโยงเรื่องเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับเกษตรกรที่อยากทำเชิงพาณิชย์ก็สามารถเช่าที่รัฐลงทุนได้

เมื่อถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายการทำเกษตรในเมืองของฮาวาน่าก็ไปไกลขึ้น มากกว่าเรื่องปากท้องหรือการพึ่งตนเองอย่างเดียว มีการทำเกษตรในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ด้วยความที่คนนอกสนใจเยอะ โดยนักท่องเที่ยวก็กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ในขณะเดียวกัน เป้าหมายในเชิงสิ่งแวดล้อมก็ได้รับความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน

ประเด็นเรื่องการใช้ที่ดินนี่น่าสนใจมากครับ ตั้งแต่เรื่องการวางแผนการใช้ที่ดิน ที่สำคัญมากๆ คือ การกำหนดเขตการใช้ที่ดินประเภทต่างๆ ในเมืองฮาวาน่า ซึ่งเขาเข้มงวดมาก ไปจนถึงเทคนิคการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมในการทำเกษตรให้สามารถทำเกษตรได้ โดยเขามีการสนับสนุนการวิจัย โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ได้จริงเป็นจำนวนมาก  มีโครงการอบรมแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เอาเป็นว่าที่ดินทุกประเภท เขาเอามาสร้างอาหารได้หมด ทั้งนี้ หากจะถามว่า ของเขาใช้เคมีหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มาก จากที่เคมีไม่ถูกอนุญาตให้นำมาขายในตลาดที่ถูกกฎหมาย ยกเว้นสำหรับพืชบางชนิด เช่น หอม กระเทียม เป็นต้น และเขาสามารถทำให้ราคาสินค้าอินทรีย์ถูกกว่าเคมีได้ด้วย

สิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้จากเขาได้มาก อย่างน้อยก็คือ (1) รัฐบาลและท้องถิ่นของเขาสนับสนุนเต็มที่ ในผังเมืองของเขาเน้นแปลงผักเป็นพื้นที่สีเขียว มากกว่าจะเน้นเรื่องการปลูกไม้ที่กินไม่ได้ (2) เขาทำให้การซื้อหาสารเคมีเพื่อการเกษตรเป็นเรื่องยากและไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงอาหารอินทรีย์กลายเป็นอาหารที่ถูก (3) สำนักงาน ส่วนราชการของเขาทำเป็นตัวอย่างกันพร้อมหน้า สุดท้าย (4) เขาเด่นมากในการเอาของเสียในเมืองมาใช้ในการทำเกษตร คือมีการเชื่อมโยงการจัดการของเสียเข้ากับเรื่องเกษตรกรรมในเมือง

เรียบเรียงใหม่จากบทความ “สังเขปบทเรียนเกษตรในเมืองในต่างประเทศ: ตอนที่ 1 – ฮาวาน่า (คิวบา)”โดย อ.ปิยะพงษ์  บุษบงก์

ขอบคุณข้อมูลที่นำประกอบเนื้อหาจาก หนังสือชื่อ Agriculture in the City: A key to Sustainability in Havana, Cuba ของ M.Cruz และR.Medina, Agropolis ของ L.Mougeot (บก.), For Hunger-Proof Cities ของ M, Koc, R.MacRae, L.Mougeot และ J.Welsh (บก.) และ Continuous Productive Urban Landscapes ของ A.Viljoen, K.Bohn และ J.Howe

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.urbanreforestation.com/blog/urban-agriculture-in-havana-cuba

หากใครสนใจอ่านฉบับเต็ม สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ ปลูกเมือง ปลูกชีวิต โดยอ. ปิยะพงษ์ ษุษบงก์  ซึ่งรวบรวมเรื่องราวแนวคิด แนวทางในการพัฒนาเกษตรในเมืองของต่างประเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจ สั่งซื้อได้ทางโครงการสวนผักคนเมืองนะคะ  โทร. 02-057-3913 / 064-150-2259  E-mail: [email protected] Line ID : cityfarmthailand