เเนวคิดเรื่องบทบาทเเละความสำคัญของเกษตรในเมือง

ทราบหรือไม่คะว่า การทำเกษตรในเมืองนั้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือนเท่านั้น แต่เกษตรในเมืองยังมีบทบาทและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในอีกหลายมิติ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำเเนวคิดเรื่องบทบาทความสำคัญของเกษตรในเมืองมาใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างน่าสนใจ

ก่อนที่จะไปถึงเเนวคิด ขอพูดถึงนิยามของเกษตรในเมืองก่อน เกษตรในเมือง คือการปลูกหรือการเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้อง และการกระจายผลผลิตที่เป็นอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ รวมถึงผลผลิตที่ไม่ใช่อาหารอย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการใช้และนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นและมีอยู่ในและรอบๆพื้นที่เมือง กล่าวคือ พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมและย่านพาณิชย์ตั้งอยู่ หรือในขอบเขตของพื้นที่ที่ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง โดยที่กิจกรรมเหล่านั้นมุ่งเน้นดำเนินไปเพื่อตอบสนองคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นเป็นสำคัญ (ที่มา Urban Agriculture: definition, presence, potentials and risks โดย L.J.A Mougeot2000)

เราสามารถแบ่งแนวคิดเรื่องบทบาทเกษตรในเมืองออกได้ดังนี้

  1. เกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism)

แนวคิดนี้มองเรื่องเกษตรในเมืองเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆของเมือง เช่น การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การจัดการของเสีย การจัดการมลภาวะ การใช้พลังงาน การพัฒนาภูมิทัศน์ของเมือง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการพิจารณาว่าในอีกด้านหนึ่งสวนเกษตรไปสร้างผลกระทบทางลบต่อระบบเมืองอย่างไรด้วย (Redwood, 2008)

  1. เกษตรในเมืองกับการยกระดับความมั่นคงทางอาหารในเมือง (Urban food security)

แนวคิดนี้มองเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะหนุนเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในเมือง กล่าวคือ (1) การมีแหล่งอาหารอยู่ (food available) ซึ่งโยงถึงเรื่องการมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางอาหารทั้งยามปกติและยามวิกฤติ (2) การเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ซึ่งโยงถึงเรื่องการกระจายอาหาร และ (3) การมีอาหารให้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ (food stability) รวมถึง 4.การใช้ประโยชน์ในอาหาร (food utility) หรือ การได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการ เช่น สด ปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี และรู้แหล่งที่มา

  1. เกษตรในเมืองกับการยกระดับอธิปไตยทางอาหาร (food sovereignty)

แนวคิดนี้ใส่ใจต่อสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (right to food) ของกลุ่มคนจนเมืองและคนชายขอบ เช่น คนป่วย คนชรา และคนพิการเป็นพิเศษ (Wittman, Desmarais, and Wiebe, 2010; Pimbert, 2009) รวมถึงสิทธิในการถึงอาหารปลอดภัยหรืออาหารที่เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของชนชั้นกลาง ซึ่งล้วนได้รับความไม่เป็นธรรมจากระบบการค้าอาหารโลก เช่นจากการเปิดเสรีการค้า และบรรษัทอาหารข้ามชาติ เป็นต้น

  1. เกษตรในเมืองกับการสร้างห่วงโซ่อาหารที่เป็นธรรมของคนเมือง (fair urban food chain)

บทบาทของเกษตรในเมืองนับว่ามีความสำคัญในมิตินี้ในแง่ที่ย่นย่อการระยะทางของอาหาร (food miles) และทำให้ห่วงโซ่อาหารทั้งเรื่องการผลิต การขนส่ง การตลาด และการบริโภคสั้นลงและเป็นธรรมมากขึ้น จากการตัดห่วงโซ่ที่ไม่จำเป็นของผู้แสวงหาประโยชน์ (rent seekers) ออกไป อีกทั้งทำให้แต่ละห่วงโซ่มีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น

  1. เกษตรในเมืองในการเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองเพื่อการปรับตัวต่อวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง (Adaptation to crisis and changes)

เกษตรในเมืองสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองได้ในหลายลักษณะ เช่น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน กล่าวคือเกษตรในเมืองสามารถช่วยทำให้มีอาหารสำรองที่มีโภชนาการยามฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นข่ายความปลอดภัยจากวิกฤติเศรษฐกิจในครัวเรือนที่มักเกิดขึ้นตามมากับภัยพิบัติ นอกจากนี้พื้นที่เกษตรในเมืองยังช่วยลดผลกระทบจากน้ำไหลบ่าจากที่สูง ช่วยกักและชะลอน้ำที่อาจท่วมฉับพลันได้ ที่สำคัญการผลิตอาหารในเมืองยังช่วยลดพลังงานในการขนส่งอาหาร การอุ่น การเก็บรักษา และการบรรจุหีบห่อ อีกทั้งยังเอื้อต่อการจัดการของเสียในเมือง และทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุดเช่นการนำน้ำเสียกลับมาบำบัดใช้ใหม่อีกครั้ง

  1. เกษตรในเมืองกับการพัฒนาเครือข่ายทางสังคม (social network)

ฐานสำคัญของเครือข่ายทางสังคมคือเรื่องการขับเคลื่อนร่วมกัน (collective action) ระหว่างตัวแสดงต่างๆ ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างมีความอิสระแต่มาพึ่งพาอาศัยกัน (autonomous but interdependent actors) ด้วยการมามีส่วนร่วมในการผลักดันกิจกรรมร่วมกัน (Bruggeman, 2008; Freeman, 2008) โดยเกษตรในเมืองจะมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายการผลิตและการกระจายอาหารเป็นสำคัญ ซึ่งเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งก็จะมีส่วนช่วยสร้างความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการพึ่งพากันให้เกิดขึ้นในสังคม

  1. เกษตรในเมืองกับการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างการเรียนรู้ (innovation and learning)

แนวคิดนี้ถูกนำมาส่งเสริมการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมากเป็นพิเศษ โดยมีการนำเรื่องเกษตรในเมืองมาใช้เป็นนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้สร้างความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลง และใช้ร่วมกับการเรียนรู้ ซึ่งให้ความสำคัญกับกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interactions) และความรับรู้กับความนึกคิด (perception and cognitive) ของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และรากฐานทางวัฒนธรรม รวมถึงมุมมองทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทเกษตรในเมือง ในหลายประเทศเรื่องนี้จึงได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมในระดับนโยบาย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเเละเปลี่ยนเเปลงเมืองในมิติต่างๆได้อย่างน่าสนใจ

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.optimistdaily.com/2018/01/urban-farming-will-vital-for-feeding-the-worlds-population-and-fighting-climate-change/

ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ปิยพงษ์ บุษบงค์ ในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมือง: ปลูกเมือง ปลูกชีวิต