พื้นที่เล็ก แต่ผลผลิตไม่น้อย @บ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา

            ลงพื้นที่เยี่ยมสมาชิกโครงการสวนผักคนเมืองปีนี้ แค่เดินผ่านสวน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากทางเข้าชุมชน แต่ยังไม่ทันได้เข้าไปชม สมาชิกโครงการก็ชวนให้เข้าไปนั่งคุยกันด้านในก่อน พร้อมกับลำเลียงกับข้าวกับปลามาต้อนรับ มองไปบนโต๊ะ มีอาหารเมนูผักมากมาย ทั้งชะอมชุมไข่ทอด มะเขือยาวชุบไข่ทอด แกงปลาดุกใบยอ น้ำพริกกะปิ กับผักลวกจิ้มหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเปราะ ดอกแค ยอดแค ไปจนถึงเพกาหรือลิ้นฟ้า  ที่พวกเขาต่างพากันนำเสนอว่า นี่ผักในสวนทั้งนั้น ปลาดุกก็ปลาในบ่อ

            บอกตามตรง ตอนนั้นอดรู้สึกทึ่งไม่ได้ว่า พื้นที่เล็กๆที่เห็น จะสามารถออกดอกออกผล ให้ผลผลิตได้อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ ไม่น่าเชื่อว่านี่เรากำลังนั่งอยู่ในเมือง ที่ผู้คนอยู่บนตึก แต่เรามีอาหารดีๆ ที่ทำจากผลผลิตที่เก็บสดๆจากสวนมาทำกิน

           คุณเชษฐา ประธานชุมชนเล่าให้ฟังว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นทั้งที่ทิ้งขยะ และที่มัวสุมของคนเสพยา ทางกรรมการจึงชวนกันคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรดีให้ชุมชนดูน่าอยู่ขึ้น ก็เลยชวนกันทำเกษตร ทั้งปลูกผัก เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และตอนนี้ก็เริ่มที่จะเลี้ยงไก่ด้วย

 

           ด้วยความที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด จึงพอมีพื้นฐานและก็ชอบทำเกษตรกันอยู่บ้าง พอมีสวนแห่งนี้ ก็เลยไม่ต้องแบ่งหน้าที่อะไรกันเลย ต่างคนต่างก็มาช่วยกันด้วยความเต็มใจ

           สมาชิกบางคนบอกว่า ปกติพอเลิกงาน จะชอบไปเที่ยวกินดื่มต่อกับเพื่อน พอมีสวนผักนี้ ตัวเองก็จะรีบกลับบ้าน มาทำสวน เป็นห่วงผักที่ปลูกไว้

 

            สำหรับสวนผักชุมชนที่นี่ สมาชิกที่สนใจช่วยกันปลูก ส่วนผลผลิตที่เก็บได้ก็จะนำมาวางขายที่ชุมชน หากมีเยอะบางทีก็นำไปขายตามงานที่ออกร้านต่างๆ คนที่เป็นสมาชิกเอง ก็ช่วยกันซื้อด้วย เพื่อจะได้มีเงินทุนหมุนเวียนมาทำสวนกันต่อ

 

            หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว ก็มีโอกาสได้ลงไปเดินดูสวนผักกับเขา ก็พบว่า พื้นที่แปลงที่นี่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่พืชผักส่วนใหญ่ที่สมาชิกเลือกมาปลูก จะเน้นที่ผักพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมะเขือนานาชนิด พริก ชะอม ใบยอ มะกรูด มะนาว ตะไคร้ พริกไท ยี่หร่า ชมจันทร์ มะละกอ สะเดา ต้นแค มะเขือพวง เป็นต้น

 

 

            จะว่าไป ชนิดผักที่ปลูก ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีผลผลิตให้เก็บกินอยู่ตลอด แม้จะมีพื้นที่ไม่มากก็ตาม  อีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องยอมรับในพลังของผืนดินจริงๆ ผืนดินที่พวกเขาช่วยกันพลิกฟื้น บำรุงด้วยใบไม้ และน้ำหมักชีวภาพ เมื่อพืชผักได้หยั่งราก จึงเติบโตงอกงาม ออกดอกออกผลอย่างอุดมสมบูรณ์

           เห็นแล้วก็อดคิดถึงชุมชนอื่นๆไม่ได้นะคะ เชื่อว่าชุมชนส่วนใหญ่ หากเดินสำรวจดูดีๆ ก็มักจะมีพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างไว้อย่างเปล่าประโยชน์อยู่ ถ้ามีคนในชุมชนสนใจ ร่วมแรงร่วมใจก็พลิกฟื้นผืนดิน ลงมือปลูกผัก ทำสวนกัน คนในชุมชนก็คงจะมีอาหารดีๆไว้กินกันได้มียากนัก โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง และโรคภัยที่จะตามมา

 

                คุณเชษฐาบอกว่า ขอแค่เรามีใจ ตอนแรกอาจมีสมาชิกที่มาร่วมกันไม่มาก แถมบางคนก็ไม่เห็นด้วย แต่พอลงมือทำแล้ว เขาเริ่มเห็นผลดี เขาก็จะเริ่มค่อยๆเข้ามาช่วยทำมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็เริ่มเห็นด้วยกับเรา

 

 

             อย่างไรก็ตาม การใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะคะ บางทีเราก็คงต้องเรียนรู้ที่จะเปิดใจ รับฟัง ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออกร่วมกัน สวนผักชุมชนที่เกิดขึ้น จะได้ช่วยหล่อเลี้ยงทั้งร่างกายและจิตใจของคนในชุมชน

ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่แบ่งเวลามาพูดคุยกัน ขอบคุณเมนูอาหารแสนอร่อย และผลผลิตที่เก็บให้พวกเราติดไม้ติดมือกลับบ้านกันค่ะ