Blockchain – เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเกษตรกรรมในอนาคต

Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในที่เก็บข้อมูลธุรกรรมของสมาชิกภายในระบบ โครงข่ายจะมีลักษณะเป็นใยแมงมุมที่เก็บข้อมูลธุรกรรมต่างๆ เช่น การโอนเงิน การสั่งซื้อสินค้า หรือการถ่ายโอนสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ โดยไม่ผ่านตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน หรือ สำนักชำระบัญชี หรือ พ่อค้าคนกลาง

Bitcoin ก็เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี blockchain ซึ่งผู้ซื้อ-ขาย Bitcoin สามารถซื้อขายกับสมาชิกอื่นๆ ในระบบได้โดยตรงและไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งระบบจะมีรหัสที่สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับสมาชิกในระบบ และทำการตรวจสอบว่า ธุรกรรม หรือ การซื้อ-ขาย bitcoin เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ก่อนธุรกรรมนั้นจะเสร็จสิ้น โดยข้อมูลธุรกรรมจะเปิดเผยเฉพาะผู้ซื้อ และ ผู้ขาย เท่านั้น สมาชิกคนอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวหรือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากนอกเครือข่ายจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมเหล่านี้ได้ ดังนั้น Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยต่อข้อมูลในระบบสูง และไม่สามารถทำการโจรกรรมข้อมูลในระบบได้

ปัจจุบัน เทคโนโลยี blockchain กำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่สถาบันการเงินเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ใช้สามารถทำการโอนเงิน หรือ กู้ยืมเงินระหว่างสมาชิกภายในระบบได้โดยตรง ถึงแม้ว่า blockchain จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจตัวกลางในหลายอุตสาหกรรม ในระบบเกษตรกรรมและอาหาร blockchain อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ในหลายแง่มุม อาทิ

ความปลอดภัยทางอาหาร (Food safety)

ปัจจุบัน การฉ้อฉลทางอาหาร เช่น การดัดแปลง การแต่งเติม การหลบเลี่ยง หรือ การปกปิดข้อเท็จจริงของอาหารที่ไม่ปลอดภัย ได้สร้างความเสียหายไปไม่ต่ำกว่า 30 ถึง 40 พันล้านเหรียญ ต่อ ปี ดังนั้น ข้อเท็จจริงของอาหารเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการอยางมากต่อผู้บริโภค ห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งหลายจึงจำเป็นต้องนำ blockchain เข้ามาใช้ในระบบการผลิตอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ส่งตรงถึงบ้านนั้นปลอดภัย มีคุณภาพและสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้าได้ blockchain จะทำให้ผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่เกิดการแข็งขันในการสร้างมาตราฐานความปลอดภัยทางอาหารมากขึ้น

ระบบห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ระบบการผลิตอาหารในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก เนื่องจากการกระจายข้อมูลอาหารไม่เป็นไปอย่างโปร่งใสและทั่วถึง ซึ่งผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลสินค้าเพียงด้านเดียวจากบรรษัทอาหาร เกษตรกรเองก็ได้ข้อมูลจากบรรษัทแปรรูปอาหารเพียงด้านเดียว เช่นกัน จึงเกิดการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม และเกษตรกรจึงมีรายได้ที่ต่ำ ปัจจุบัน ตัวกลางในระบบอาหารในปัจจุบัน คือ ธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจขนส่งสินค้า และธุรกิจค้าปลีก การใช้ blockchain จะช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกรเป็นไปอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรและผู้บริโภคจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าและซื้อ-ขายสินค้าระหว่างกันได้โดยตรง และลดการพึ่งพาอาหารจากร้านค้าปลีก และหากเกษตรกรสามารถแปรรูปสินค้าและขายให้แก่ลูกค้าโดยตรง ก็จะสามารถตัดตัวกลางอย่างบรรษัทแปรรูปอาหารได้อีกเช่นกัน

ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

บ่อยครั้งที่นักปลูกหลายท่านอาจประสบปัญหาการซื้อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะดิน ซึ่งดินที่ขายตามร้านค้าทั่วไปมักเป็นดินแกลบเผาส่วนใหญ่ นักปลูกหลายท่านจึงมักซื้อปัจจัยการผลิตทางเกษตรมาผิดอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากถูกหลอกจากผู้ขาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหรือนักปลูกสูญเสียเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ การนำ blockchain เข้ามาใช้ในระบบการซื้อ-ขาย จะสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของปัจจัยการผลิตได้โดย scan บาร์โค๊ดของผลิตภัณฑ์ที่ทำการซื้อ-ขาย ผู้ซื้อก็จะทราบทันที่ว่าสินค้านั้นถูกต้องตามที่สั่งซื้อหรือไม่

ระบบการจดทะเบียนที่ดิน

ระบบการจดทะเบียนที่ดินสำหรับการซื้อ-ขายเป็นกระบวนการที่สร้างความยุ่งยากและเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง blockchain สามารถบันทึกข้อมูลการถือครองที่ดิน การเช่าที่ดิน หรือ การซื้อ-ขายที่ดิน ทำให้เกิดความโปร่งใสในการซื้อ-ขาย หรือ เช่า ระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ และการฉ้อโกงจึงทำได้ยากขึ้น

การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน

ทั่วโลกภาคเกษตรกรรมมักพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เช่น อินเดียในช่วงปี 2560 ถึง 2561 งบประมาณสำหรับเกษตรกรที่ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรเป็นเงิน 4.9 พันล้านเหรียญ แต่ยอดเงินอุดหนุนที่เกษตรกรได้รับจริงนั้น มิอาจทราบได้และเกิดข้อสงสัยถึงความโปร่งใสอยู่บ่อยครั้ง การนำ blockchain เข้ามาใช้ในระบบส่งมอบและกระจายเงินอุดหนุนจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น  แม้ว่าขั้นตอนการสร้างเครือข่ายนี้จะซับซ้อนมากเนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายรายจะต้องมาอยู่ร่วมกัน แต่ก็ไม่ถึงกับทำระบบนี้ขึ้นมาใช้งานไม่ได้ blockchain จะขจัดอุปสรรคบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล สาระสำคัญที่แท้จริงของการประยุกต์ใช้ blockchain คือ การนำอำนาจออกไปจากมือของผู้มีอำนาจโดยการกระจายอำนาจของข้อมูลและทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงได้มากขึ้น

ถึงแม้ว่า blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความปั่นป่วนในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งโดยภาพรวม blockchain มีส่วนช่วยเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้ระบบการผลิตอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น หากผู้คนได้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องในหมู่ผู้ใช้และเกิดการประยุกต์ใช้จนกลายเป็นกระแสหลักในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่รวมถึงภาคการเกษตรในอนาคต

ที่มาข้อมูลและรูปภาพ