คนรุ่นใหม่ล้อมวงคุย “เกษตรนิเวศน์และความมั่นคงทางอาหาร”


บ่ายวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ในกิจกรรม“เปิดบ้านมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และ มูลนิธิชีววิถี” ในเวทีเสวนาคนรุ่นใหม่ล้อมวงคุย “เกษตรนิเวศน์และความมั่นคงทางอาหาร” โดย สุณัฐสินี สินพรม (จิ๊ก – ปันอยู่ปันกิน) จารุวรรณ สุพลไร่ (เนตติ้ง – เกษตรกร Nomad) ณัฐวุฒิ ธุระวร (คลี – บ้านพาถี่โฮมสเตย์) อำนวย นิยมไพรนิเวศน์ (กวิ๊ – กาแฟชุมชน LAPATO) และคุณเพ็ญศิริ สอนบุตร (ผู้จัดการงานองค์ความรู้ Local Alike) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยนำเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ในรูปที่หลากหลายซึ่งต่างจากระบบการผลิตอาหารในรูปแบบเก่าที่เน้นการผลิตและส่งขายเพียงอย่างเดียว

ท่านแรก คุณกวิ๊ อำนวย นิยมไพรนิเวศน์ จากกาแฟชุมชน LAPATO ชาวปาเก่อญอ ที่พยายามฟื้นฟูวิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบดังเดิม ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้ทำเกษตรแบบใช้เคมีและเผชิญกับปัญหาสุขภาพ ในยุคสมัยใหม่ คนรุ่นลูกต้องเผชิญความท้าทายที่ยิ่งกว่าคนรุ่นพ่อแม่ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแผนใหม่ไปสู่การทำเกษตรธรรมชาติแบบเดิม ซึ่งเกิดจากเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ทำเกษตรแบบใช้เคมีและปลูกพืชที่ไม่ใช่พันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์ได้รับการสนับสนุนให้เพาะปลูกจากหน่วยงานรัฐจนพืชพันธุ์ท้องถิ่นได้สูญหายจากหมู่บ้านไปจำนวนมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรของรุ่นพ่อแม่ที่เป็นเกษตรแผนใหม่ไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลานานมากในการปรับเปลี่ยน ในปัจจุบันพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้านมีจำนวนมากขึ้นซึ่งเป็นเหตุจากปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคมะเร็งที่เกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร สิ่งที่ทำให้คุณกวิ๊มีความคิดอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเนื่องจาก ตนเองเกิดในยุคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรและต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณกวิ๊จึงใช้กาแฟซึ่งปลูกแบบอินทรีย์ในชุมชนเป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชนและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวปาเก่อญอให้กลับคืนมา

ถัดมา คุณคลี หรือคลีโพ ณัฐวุฒิ ธุระวร ศิลปินชาวปาเก่อญอ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีความรู้การเกษตร ได้กลับบ้านไปทำโฮมสเตย์เพื่อสร้างความตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติให้แก่ผู้พักอาศัย คุณได้รับสินค้าเกษตรจากชุมชนโดยเฉพาะข้าวกล้องหรือข้าวไร่พันธุ์ปาเก่อญอให้แก่ผู้ที่เข้ามาพักอาศัยซึ่งเป็นการขายที่ผสมแนวคิดการจัดการตลาด และขายให้กับผู้คนนอกเขตชุมชนซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ระบบการเพาะปลูกข้าวของชาวเขาจะมีจุดแข็งในการเรื่องระบบปลูกข้าวสำรองในยามภัยพิบัติ ทำให้ไม่มีปัญหาการขาดแคลนข้าวในยามเกิดภาวะภัยแล้งหรืออุทกภัย นอกจากการเปิดโฮมสเตย์แล้ว คุณคลีได้ออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวตามฤดูกาลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นเสน่ห์ของท่องถิ่น เช่น การพาชมหนอนไม้ไผ่หรือรถด่วน เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมท่องเที่ยวที่ถูกออกแบบมาจะเป็นการประขาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมในชุมชนปาเก่อญอ

จารุวรรณ สุพลไร่ หรือ เนตติ้ง คนรุ่นใหม่ที่มากด้วยความสามารถที่หลากหลาย ทั้งด้านภาษา การออกแบบสื่อ การจัดกิจกรรมและการทำเกษตร ได้ตัดสินใจกลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิดอันเนื่องมาจากความอิ่มตัวกับงานในกรุงเทพ ได้ให้ความเห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่กลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิดจะต่างจากเกษตรกรรุ่นเก่าตรงที่ เกษตรกรรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะมีทักษะที่มากกว่าทักษะการทำเกษตร เช่น ภาษา การออกแบบสื่อ การใช้เทคโนโลยี การจัดการตลาด เป็นต้น นอกจากการทำเกษตรแล้ว เนตติ้งได้สร้างข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่รอบๆ พื้นที่และเกษตรกรรุ่นใหม่ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ผ่านการทำค่ายเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ระหว่างกัน สิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจกลับมาทำเกษตรที่บ้านนั้น การสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัวสำคัญมาก ซึ่งลูกหลานนั้นต้องพิสูจน์ให้คนในครอบครัวเห็นว่า ตนเองสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้จริงดังที่พูดไว้ อีกทั้งความมุ่งมันและแน่วแน่ที่อยากจะทำเกษตรอินทรีย์จริงๆ เพราะต้องทนกับคำพูดถากถางและดูถูกจากคนรอบข้าง ซึ่งการจับกลุ่มร่วมกับเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและความคิดระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ถัดมาคุณจิ๊ก สุณัฐสินี สินพรม จากตลาดปันอยู่ปันกิน ได้กล่าวถึงที่มาของตลาดปันอยู่ปันกินว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านที่รักสุขภาพในพื้นที่ใกล้เคียงที่ต้องการวัตถุดิบอาหารดีๆ ที่ปลอดภัยไร้สารเคมีมาบริโภค และจัดกลุ่ม Heart Core Organic ขึ้นมา ซึ่งการเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยยังเป็นข้อจำกัดของคนเมือง ซึ่งตลาดปันอยู่ปันกินจะเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่จะเชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคในเมืองเข้าด้วยกัน ตลาดปันอยู่ปันกินเป็นระบบตลาดที่ลูกค้าต้องสั่งซื้อสินค้าล้วงหน้า หรือ pre-order เพื่อเป็นหลักประกันให้เกษตรกรว่ามีคนสั่งซื้อสินค้าของตนเองและวางแผนการผลิตให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้ และลูกค้าของปันอยู่ปันกินส่วนใหญ่มักเป็นแม่บ้านที่ทำอาหารกินเองในครัวเรือนและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของคนในครอบครัว อีกครั้งตลาดปันอยู่ปันกินจะมีระบบตรวจสอบสินค้าภายในเพื่อเป็นหลักประกันว่าสินค้าที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้านั้นเป็นสินค้าอินทรีย์ หรือ การทำระบบ PGS ภายในกลุ่มด้วยตัวเอง

ท่านสุดท้าย คุณเพ็ญศิริ สอนบุตร ผู้จัดการงานองค์ความรู้ Local Alike ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการท่องเที่ยวในชุมชนเป็นกิจกรรมหลักที่ Local Alike ให้การสนับสนุน โดยให้ชุมชนคิดโปรแกรมการท่องเที่ยวด้วยตนเองภายใต้ฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ ซึ่งบางชุมชนก็มีการบรรจุกิจกรรมด้านเกษตรเป็นหนึ่งในโปรแกรมการท่องเที่ยว อย่างเช่น One Day Farmer หรือ One Day Fisherman หรือ Farm to Table เป็นต้น ซึ่งกระแสการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมมาจากงาน Organic and Natural Expo ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสามารถสร้างการรับรู้ผ่าน Social media และการสนับสนุนขากหน่วยงานรัฐ หากคนรุ่นใหม่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากคนรุ่นเก่าจะสามารถพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์และขยายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีกมาก