กสิกรรมปริทัศน์

สืบเนื่องจากงาน “เปิดบ้านมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และ มูลนิธิชีววิถี” วันที่ 6 สิงหาคม 2561 ในเวทีเสวนา “กสิกรรมปริทัศน์” โดยวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ คุณเดชา ศิริภัทร คุณประชา หุตานุวัตร อ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ และคุณดาวเรือง พืชผล โดยเป็นเวทีที่กล่าวถึงที่มาของปัญหาระบบการผลิตอาหารในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาทิ ความไม่แน่นอนของฤดูกาลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การทำลายระบบการผลิตอาหารและสินค้าแบบเก่าจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ หรือ disruptive technology และวิถีชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไปจากอดีตซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติเขียวหรือระบบการเกษตรแผนใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ประเทศไทยอัตราการกระจายรายได้ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือ อาจเรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”

คุณเดชา ศิริภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย ได้กล่าวถึงที่มาของเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture) ว่ามาจาก การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งระบบเกษตรกรรมยั่งยืน นั้นก็คือ ระบบเกษตรที่คนโบราณทำกันมาในอดีตก่อนยุคปฏิวัติเขียว การปฏิวัติเขียว (Green revolution) ซึ่งสร้างระบบการเกษตรแผนใหม่ที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดียว เน้นการใช้เคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช การสนับสนุนการปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรม และการจดสิทธิบัตรพันธุ์ปลูก ซึ่งนำมาสู่การผูกขาดระบบการผลิตอาหารและสร้างองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกที่เน้นใช้เคมีเป็นหลัก การเกษตรแผนใหม่ได้ทำลายระบบเกษตรธรรมชาติหรือเกษตรยั่งยืนที่ทำกันมาในอดีตจนเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่า พื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในประเทศ

อีกทั้งแนวคิดด้านการเกษตรแผนใหม่ได้ถูกบรรจุในการเรียนการสอนในสถานศึกษา ท้ายที่สุดบัณฑิตที่จบออกมาแทบจะไม่มีองค์ความรู้ด้านเกษตรยั่งยืนเลย นอกจากความรู้ด้านเกษตรเคมีเพื่อจะมีความรู้ที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงเป็นเพียงระบบที่ป้อนแรงงานให้แก่บรรษัทอาหารเท่านั้นเอง และส่งผลให้นโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็มิได้ความรู้หรือความเข้าใจเกษตรยั่งยืนอย่างถ่องแท้ ซึ่งคุณเดชา ได้เสนอแนวทางออกของปัญหาไว้ว่า ในความเป็นจริงเกษตรกรที่ทำเกษตรแบบยั่งยืนมีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนไปสู่พื้นที่เกษตรข้างเคียงได้ เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรแบบเคมีได้รับการสอนและจดจำวิธีการทำเกษตรแผนใหม่จนไม่เปิดรับแนวคิดการทำเกษตรแบบอินทรีย์ และเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถทำได้จริง แม้ว่าพื้นที่รอบข้างจะประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์และสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองได้แล้วก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการเรียนสอนในประเทศไทยที่เน้นการท่องจำและทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เอื้อให้ระบบผูกขาดสามารถปกครองได้ง่าย ดังนั้น การแก้ที่ระบบการศึกษาที่สอนให้เด็กคิดเป็นและเกิดความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ท่านถัดมา อาจารย์ฉันทนา บรรพศิริโชติ ได้กล่าวถึงระบบการผลิตอาหารของโลกซึ่งมีการประมาณการไว้ว่าร้อยละ 70 ของอาหารที่ผลิตในโลกทั้งหมดมาจากเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ใช้ทรัพยากรของโลกเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกทั้งเงิน 1 ดอลล่า ที่พวกเราใช้จ่ายไปกับอาหารที่ว่างขายตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อมจากระบบการผลิตอาหารเหล่านี้สูงถึง 2 ดอลล่า และมีข้อสังเกตว่า บรรษัทอาหารได้เจริญเติบโตมากกว่า 70 ปี แต่ปัจจุบันก็ยังพบภาวะอดอยากในสังคมคนจนอยู่ อีกทั้งบรรษัทเหล่านี้ได้เสียค่าใช้จ่ายไปกับการโฆษณาและการตลาดมากกว่าค่าใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยจึงเป็นปัญหาโครงสร้าง จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อรักษาพื้นที่การเกษตรไม่ให้ลดจำนวนลง รวมถึงการเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยด้านเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาซึ่งคุณเดชาได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

คุณดาวเรือง พืชผล ได้กล่าวถึงปัญหาของระบบการเกษตรที่เกษตรกรรายย่อยต้องฝ่าฟันกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตแบบอินทรีย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีซึ่งทำลายขั้นตอนการผลิต และอาจทำให้พืชพันธุ์ท้องถิ่นได้สูญหายไปจำนวนมากจากการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช คุณดาวเรืองได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาไว้ว่า เกษตรกรควรจับมือกันสร้างเครือข่ายการผลิตเพื่อสร้างแหล่งพันธุกรรมพืชและพัฒนาพันธุ์พืชขึ้นมาใช้เอง ซึ่งข้าวเป็นสายพันธุ์เดียวที่ยังไม่ถูกจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์เช่นพืชเศรษฐกิจอื่นเช่นข้าวโพดเป็นต้น ซึ่งในอดีต สายพันธุ์ข้าวร้อยละ 80 อยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อย แต่ในปัจจุบันได้ลดลงเหลือร้อยละ 65  อีกทั้งการสร้างเครือข่ายเพื่อจัดการผลผลิตเองและสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจระบบการผลิตแบบอินทรีย์ที่ถูกต้อง ซึ่งเครือข่ายจะเป็นขบวนการที่สามารถต้านทานบรรษัทผลิตอาหารได้    

ปิดท้ายด้วยคุณประชา หุตานุวัตร ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าระบบเกษตรกรรมไทยต้องเปลี่ยนแปลงในหลายจุดทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกรรายย่อย แนวคิดและวิธีการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างที่ซับซ้อนและยากที่แก้ไขในระยะสั้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขด้วยการนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาปรับใช้ เช่น online platform (เช่น Uber, facebook, Alibaba เป็นต้น) หรือ blockchain technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีนำไปสู่การสร้างสกุลเงินดิจิตอลเช่น bitcoin การสร้าง online platform ขึ้นมาใช้เองจะเป็นพื้นที่หรือช่องทางในเชื่อมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งในระบบการผลิตอาหารในปัจจุบันตัวกลางก็คือ บรรษัทที่แปรรูปอาหาร บริษัทที่กระจายสินค้า และธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ดังภาพด้านล่าง