เปิดบ้านมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และ มูลนิธิชีววิถี

วันที่ 6 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้จัดกิจกรรม ”เปิดบ้านมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และ มูลนิธิชีววิถี” เพื่อประชาสัมพันธ์มูลนิธิและเปิดพื้นที่เรียนรู้ด้านความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ที่สนใจทำเกษตร โดยกิจกรรมช่วงเช้าเป็นเป็นการอธิบายถึงที่มาและแนวคิดการออกแบบพื้นที่ชองมูลนิธิทั้ง 2 แห่งและพิธีกรรมทางศาสนา

และเสวนาหัวข้อ “กสิกรรมปริทัศน์” โดยคุณเดชา ศิริภัทร คุณประชา หุตานุวัตร อ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ และคุณดาวเรือง พืชผล มาอธิบายถึงปัญหาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทยซึ่งได้ถูกทำลายจากการปฏิวัติเขียวและเกิดเกษตรแผนใหม่ โดยเน้นการปลูกพืชเชิงเดียว เน้นใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชและถูกผูกขาดระบบการผลิตอาหารโดยบรรษัททุนใหญ่ ซึ่งวิทยากรได้ให้ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาระบบการศึกษาที่สอนให้เยาวชนคิดเป็น ไม่เน้นการท้องจำ หรือ การนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมาปรับใช้กับระบบการผลิตอาหารเพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่เชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกันโดยไม่ผ่านตัวกลาง เป็นต้น

ช่วงพักเที่ยง ได้มีการเล่นดนตรีชาติพันธุ์ โดย “คลีโพ” หรือ ณัฐวุฒิ ธุระวร ศิลปินปาเก่อญอ ศิลปินรุ่นใหม่ที่พัฒนาดนตรีชาติพันธุ์ให้ร่วมสมัย และช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงปรัชญาและวิถีชีวิตที่สอดคล้องต่อธรรมชาติผ่านการฟังดนตรี ซึ่งสร้างสีสันให้แก่งานเปิดบ้านและได้รับอรรถรสจากเสียงดนตรีที่ไม่สามารถหาฟังได้ในเมืองหลวง

ช่วงบ่ายได้มีกิจกรรม คนรุ่นใหม่ล้อมวงคุย “เกษตรนิเวศน์และความมั่นคงทางอาหาร” โดย สุณัฐสินี สินพรม (จิ๊ก – ปันอยู่ปันกิน) จารุวรรณ สุพลไร่ (เนตติ้ง – เกษตรกร Nomad) ณัฐวุฒิ ธุระวร (คลี – บ้านพาถี่โฮมสเตย์) อำนวย นิยมไพรนิเวศน์ (กวิ๊ – กาแฟชุมชน LAPATO) และคุณเพ็ญศิริ สอนบุตร (ผู้จัดการงานองค์ความรู้ Local Alike) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยนำเกษตรเอามาประยุกต์ใช้ในรูปที่หลากหลายซึ่งต่างจากระบบการผลิตอาหารในรูปแบบเก่าที่เน้นการผลิตและส่งขายเพียงอย่างเดียว

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการเพาะต้นอ่อนจากวัสดุเพาะกล้าโดย พี่ป้อม – ศิริกุล ซื่อต่อชาติ และ พี่โรจน์ – วิโรจน์ ปลอดสันเทียะ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการผสมขุยมะพร้าว 2 ส่วน กับแกลบเผา 1 ส่วน คลุกให้เข้ากัน จากนั้นนำไม้ปาดวัสดุที่ผสมแล้วให้เป็นร่อง พร้อมโรยเมล็ดตามร่องและรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก