สัมผัสความน่าอยู่ของแวนคูเวอร์ เมืองสีเขียวอันดับต้นๆของโลก (ตอนที่ 2)

นอกจากได้ชื่นชมกับความเติบโตงอกงามของพืชผักนานาชนิดในเมืองแล้ว เรายังมีโอกาสได้ไปเที่ยวตลาดนัดเกษตรกร หรือที่เขาเรียกว่า Farmer Market ที่ Kitsilano ด้วย เรียกว่าจากแหล่งผลิตอาหาร คราวนี้เราก็ไปดูที่การกระจายอาหาร เชื่อมโยงผู้ผลิต กับผู้บริโภคในเมืองนี้กันบ้าง

ความจริงในเมืองแวนคูเวอร์มี Farmer Market ให้ไปจับจ่ายซื้อหาอาหารที่ดีมีคุณภาพ จากมือเกษตรกรเองกระจายอยู่ตามจุดต่างๆของเมืองอยู่หลายแห่ง Kitsilano Farmer Market เป็นหนึ่งใน 8 ตลาดที่มี Vancouver Farmer Market เป็นตัวกลางที่ช่วยจัดเตรียมสถานที่ และกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ โดยแต่ละสัปดาห์จะมี Farmer Market ตามที่ต่างๆ ทุกวันพุธ พฤหัส เสาร์ และอาทิตย์

วันที่เราไปเป็นวันอาทิตย์ กว่าจะไปถึงตลาดกัน ตลาดก็ใกล้จะวายแล้ว ด้วยความที่ระหว่างทางที่เราเดินไปตลาด มีทั้งสวนผัก มีทั้งร้านกรีนที่ขายสินค้า Organic และอื่นๆอีกมากมาย ดึงดูดให้เราแวะเป็นระยะๆ แต่ถึงจะใกล้เวลาปิด ร้านค้า และผู้คนก็ยังคึกคัก ตลาดก็ยังดูมีสีสัน และมีชีวิตชีวาอยู่ โดยเฉพาะเสียงเพลงจากนักร้อง นักดนตรี ที่มาเปิดหมวกกัน ก็ช่างชวนให้เดินช้อปปิ้งกันอย่างเพลิดเพลินจริงๆ ตลาดแห่งนี้มีร้านค้าจากเกษตรกร และเชฟท้องถิ่นมารวมตัวกันกว่า 50 ร้าน มีทั้งพืชผัก ผลไม้ เห็ด ซึ่งเป็นผลผลิตจากแปลง ต้นกล้า ร้านขนมหวาน ร้านขนมปัง ร้านชีส ร้านน้ำผึ้ง ร้านกาแฟ ร้าน Craft Beer รวมถึงอาหารหลากหลายเมนู ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบอินทรีย์ที่คัดสรรมาอย่างดี บ้างก็ขายอยู่ในบูธ บ้างก็ขายอยู่บนรถ Food Truck

จากที่สังเกต ทุกร้านจะให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต มีการพูดคุยกับผู้บริโภคที่มาจับจ่ายซื้อของกันอย่างเป็นกันเอง บางร้านก็มีอาสาสมัครของทาง  Vancouver Farmer Market มาช่วยต้อนรับ คอยชักชวนให้ชิม และเลือกซื้อผลผลิต ที่สำคัญคือ ถ้าเป็นร้านขายอาหาร และเครื่องดื่ม เขาก็จะให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ ว่าจะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลาย นำไปทำปุ๋ยได้

นอกจากร้านค้าต่างๆแล้ว Farmer Market แห่งนี้ เขายังมีโต๊ะที่บริการรับให้คำปรึกษาเรื่องการปลูกผัก และก็มีที่รับบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไปด้วย เรียกว่าคนที่มาที่ตลาดแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงมาเป็นผู้บริโภคที่มุ่งหวังแต่จะมาซื้อเพียงอย่างเดียว แต่เขายังสนับสนุนให้คนที่มาได้เป็นผู้ลงมือเรียนรู้ที่จะปลูกเอง และมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เป็นผู้ให้ นำสิ่งที่ของเหลือใช้มาบริจาคให้เกิดประโยชน์ต่อไปด้วย

อยากพูดถึง Vancouver Farmer Market เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย  Vancouver Farmer Market นี้ถือเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร ที่เขารวมตัว และมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะช่วยกันสร้างชุมชนของผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่เกื้อกูลกัน มีทั้งการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสุขภาพคน และสิ่งแวดล้อม  มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารระดับโลกต่อไป โดยมีตลาดเป็นพื้นที่กลางสำหรับเชื่อมโยงผู้คน

นอกจากจัดตลาดนัดเกษตรกรทุกสัปดาห์แล้ว ตอนนี้ทาง Vancouver Farmer Market เขายังมีโครงการที่ช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อย กับร้านอาหาร รวมถึงสถาบัน องค์กร หรือโรงพยาบาลในชุมชนที่สนใจ โดยทางกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดส่งผลผลิตให้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะเดียวกันเขาก็มีโครงการที่สนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรให้มีพื้นที่มาขายผลผลิตในตลาดได้ฟรี และมีโครงการที่ช่วยกระจายอาหารที่ดีมีคุณภาพไปสู่ครอบครัวที่ยากจนในแต่ละปีด้วย

ความน่าอยู่ของแวนคูเวอร์ ไม่ใช่เพียงมีแหล่งอาหารดีๆ ให้เราได้ทั้งอิ่มท้อง และรื่นรมย์ไปกับสุนทรียะแห่งอาหารที่เกษตรกรตั้งใจปลูก เชฟบรรจงปรุง เท่านั้น เมืองนี้ยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่กว่า 300 เอเคอร์ อย่าง Stanley Park ให้คนในเมืองได้ไปเที่ยวพักผ่อน เป็นอาหารใจด้วย สวนสาธารณะแห่งนี้มีพื้นที่หลายส่วน ที่ออกแบบไว้สำหรับทำกิจกรรมได้หลายรูปแบบ จะชมสวนดอกไม้ ปิกนิก เล่นกีฬา ทำกิจกรรมกับเด็ก นั่งรถม้า นั่งรถไฟ กินข้าวในร้านอาหารกลางสวน หรือฟังดนตรี ที่สำคัญและดูเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้รู้สึกประทับใจมากคือ สวนสาธารณะแห่งนี้มีโซนที่เป็นป่าจริงๆให้เราได้เข้าไปเดิน อาบป่า สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง เรียกว่าไม่น่าเชื่อว่านี่เรากำลังเดินอยู่ในเมืองไม่ไกลนักจากย่านดาวน์ทาวน์

ไม่เพียงต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์เท่านั้น สวนสาธารณะแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยสัตว์นานาชนิด ในขณะที่เราเดินเข้าไปตามเส้นทางในป่า เราก็พบว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ป่าในเมืองแห่งนี้ยังมีสัตว์นานาชนิดให้เราได้เห็นนั้น เขาไม่ได้มีเพียงต้นไม้ใหญ่ แต่ยังมีพื้นที่ริมฝั่งน้ำ หรือที่เขาเรียกว่า Riparian area ซึ่งดูเหมือนแอ่งน้ำที่มีหญ้า ไม้พุ่ม รวมถึงพืชที่ชอบขึ้นใกล้น้ำหลายชนิดขึ้นอยู่เต็ม เห็นแวบแรก รู้สึกเหมือนตรงนี้เป็นพื้นที่รกร้าง ไร้การดูแล ทว่าอันที่จริง เป็นพื้นที่ที่เขาตั้งใจปล่อยให้เป็นอย่างนี้ และเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์มาก ทั้งเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่หลบภัยในยามหนาว เป็นที่ให้ร่มเงาในยามร้อน กับสัตว์ป่านานาชนิด มองไปก็เห็นทั้งนก ทั้งเป็ด ทั้งแมลง มากมายอยู่บริเวณนั้นจริงๆ ยังไม่นับความน่ารักของกระรอก นก สัตว์ป่าชนิดอื่นๆที่เราไม่รู้จัก และที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราคือเจ้าแร็กคูน ที่มาปรากฏตัวให้เราได้ยิ้มทัก และหยุดชื่นชมในสวนสาธารณะแห่งนี้

ต้องบอกว่า ช่วงเวลาที่เราได้หลบเข้าไปอยู่ในป่ากลางเมืองแห่งนี้  นับเป็นช่วงเวลาที่เราได้พบกับความสงบ รู้สึกอิ่มใจ และได้รับพลังอย่างบอกไม่ถูก

ล่าสุดมีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง “Your Guide to Forest Bathing” ซึ่งเขียนโดย M. AMOS CLIFFORD ผู้ก่อตั้งสมาคมธรรมชาติและป่าบำบัด ก็ยิ่งเป็นตัวยืนยันที่ทำให้เราเห็นว่า การหาเวลา เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เข้าไปเดินในป่า สัมผัสธรรมชาติบ้างในแต่ละสัปดาห์นั้น ช่างมีประโยชน์มหาศาลทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจจริงๆ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การเดินป่านี้ช่วยทั้งการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ช่วยให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น ใครที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็อาการดีขึ้น ความดันโลหิตลดลง ความเครียดลดลง อาการซึมเศร้าก็ลดลง ในขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ก็เพิ่มพูนขึ้น เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ได้ เขาพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวต้นไม้เองปล่อยสารบางอย่างที่เรียกว่า Phytoncides  ซึ่งส่งผลต่อร่างกายเรา ทำให้มีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น ยังไม่นับสีสันของต้นไม้ และเสียงสรรพสัตว์นานาชนิด ที่มีส่วนช่วยเรารู้สึกผ่อนคลาย เกิดความสงบมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การจะเดินป่า หรือที่เขาเรียกว่าอาบป่า “ Forest Bathing” ให้ได้คุณภาพนั้น คุณ M. AMOS เขาก็มีเคล็ดลับแนะนำว่า ควรจะเป็นช่วงเวลาที่อยู่กับตัวเอง เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสกับธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมตัวเอง เป็นการเดินอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ได้มุ่งที่ระยะทาง และไม่ได้มุ่งที่เป้าหมาย แต่เป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เปิดประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ รวมทั้งเปิดหัวใจตัวเอง ให้ได้สื่อสาร รับฟัง และเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างแท้จริง  ใครสนใจลองไปหาอ่านรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนได้ในหนังสือของเขานะคะ ขอบอกว่าน่าสนใจมาก เรียกว่าอ่านแล้วก็อยากออกไปเดินป่ากับเขาบ้าง และก็ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาที่เราอยู่แวนคูเวอร์ ถ้าตอนนี้เราอยู่ที่นั่น ก็คงแค่ใส่รองเท้าผ้าใบ เดินออกไปอาบป่าได้สมใจ ในชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที

เรื่องโดย คุณนาถศิริ โกโมลพันธุ์