เคล็ดลับการหมักปุ๋ยให้สำเร็จ

พอบอกให้ช่วยจัดการขยะอินทรีย์ด้วยการทำปุ๋ยหมัก หลายคนก็อาจจะเกิดคำถามตามมาเช่นว่า ใส่เศษอาหารลงไปได้ทุกอย่างเลยหรอ หญ้านี่ใส่ลงไปได้มั้ย เปลือกผลไม้นี้ใส่ได้หรือป่าว หรือบางคนก็บอกว่าเคยลองทำแล้ว แต่ไม่ได้ผลบ้าง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เลยอยากจะขอบอกถึงเคล็ดลับ และหลักการบางอย่างให้ได้ทราบกัน จะได้นำไปทำกันได้ถูกต้องนะคะ

อันที่จริงการหมักปุ๋ยไว้ใช้เองในครัวเรือนนั้น ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนนัก ยิ่งเรามีจุดประสงค์หลักเพื่อจะช่วยจัดการเศษอาหาร หรือเศษใบไม้ต่างๆที่อยู่ในครัวเรือน เพื่อลดภาระการจัดการขยะ และคืนทรัพยากรสู่ผืนดินแล้ว ยิ่งไม่มีอะไรต้องน่าวิตกกังวลนัก

ถามว่าขยะอินทรีย์ หรืออินทรียวัตถุที่เราจะนำมาใช้หมักปุ๋ยได้นั้นมีอะไรบ้างนั้น เราสามารถแบ่งชนิดของอินทรียวัตถุออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือแบบสด หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Greens เป็นอินทรียวัตถุที่สด ชื้น และมีไนโตรเจนมาก กับแบบแห้ง ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่าBrowns เป็นอินทรียวัตถุที่แห้ง และมีคาร์บอนมาก โดยเวลาหมักปุ๋ย สัดส่วนของอินทรียวัตถุแบบแห้งควรจะมากกว่าแบบเปียก ประมาณ 4 ส่วน ต่อ 1 ส่วน

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราไม่ได้ต้องการผลิตปุ๋ยอย่างรวดเร็วและจริงจัง เราก็อาจใช้วิธีสังเกตกองปุ๋ยเอา โดยไม่ต้องกังวัลกับสัดส่วนมากนัก เช่น หากรู้สึกว่ากองปุ๋ยเปียกไป เริ่มมีกลิ่น ก็เติมอินทรีย์วัตถุแบบแห้งเพิ่มลงไป หยุดเติมแบบสดสักพัก แล้วกลับกอง หากเห็นว่ากองปุ๋ยไม่ค่อยย่อยสลายดังใจ ก็เติมอินทรียวัตถุแบบสดลงไป เรามาดูกันว่าอินทรีย์วัตุทั้ง 2 ประเภทที่ว่านี้ มีอะไรบ้าง

อินทรีย์วัตถุแบบสด หรือ Greensที่สามารถใช้หมักปุ๋ยได้ คือ

  • ใบไม้ ต้นไม้สดที่ได้จากการตัดแต่งสวน
  • หญ้าจากสนามหญ้า
  • เศษผัก ผลไม้
  • กากกาแฟ ใบชา ถุงชา
  • ปุ๋ยคอก

อินทรียวัตถุแบบแห้ง หรือ Browns ที่สามารถใช้หมักปุ๋ยได้ คือ

  • ขนมปัง และธัญพืช
  • เปลือกไข่
  • เปลือกถั่ว
  • ซังข้าวโพด
  • ใบไม้แห้ง ฟาง

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ

  • ต้นไม้ ใบไม้ หญ้าที่ใช้ยาฆ่าแมลงฉีด
  • ต้นพืชที่เป็นโรค
  • วัชพืชที่มีเมล็ด
  • กิ่งไม้ขนาดใหญ่
  • เนื้อสัตว์ เศษปลา
  • ผลิตภัณฑ์จากนม ชีส
  • อาหารที่มันๆ และน้ำมัน
  • ขี้หมา ขี้แมว

นอกจากการเลือกอินทรีย์วัตถุ และดูสัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้หมักปุ๋ยได้สำเร็จ ก็คือการวางกองปุ๋ยในที่ร่ม ไม่ถูกแดด ถูกฝน การดูแลเรื่องความชื้น ปริมาณอากาศ และก็ขนาดของกองปุ๋ย ลองนำไปทำกันดูนะคะ แล้วจะพบว่าคุณมีส่วนช่วยลดปัญหาขยะอินทรีย์ และช่วยคืนทรัพยากรสู่ผืนดินได้ไม่น้อยทีเดียว