น้อยแต่ได้มากกับสวนผักตารางฟุตSquare Foot garden

หลายคนอยากปลูกผัก แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง บางคนมีที่เยอะหน่อยก็อาจรู้สึกว่าการปลูกผักบนดินที่มีอยู่เป็นงานแสนหนัก ก็เลยไม่ลงมือ หรือบางคนมีพื้นที่น้อย และอยากปลูกผักไว้กินอย่างหลากหลาย และได้ปริมาณมากขึ้น แต่ไม่รู้จะทำยัง ลองมาดูเทคนิคการทำสวนผักตารางฟุตที่นำมาแบ่งปันกันนะคะ เผื่อคุณอาจจะปิ๊งไอเดียบางอย่าง และนำไปลองปรับใช้กันดู

ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงที่มาที่ไปของเทคนิคนี้เล็กน้อย อันที่จริงเทคนิคนี้คุณ Mel Bartholomew เขาคิดค้น ทดลองทำ และเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 1976 แล้ว แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาคิดวิธีการนี้ขึ้นมาก็เพราะเขาพบว่าการปลูกผักเป็นแถวแบบปกติที่คนส่วนใหญ่ทำนั้น ดูเป็นงานหนัก มักมีปัญหาเรื่องวัชพืช ต้องเสียเวลาดูแลมาก แถมยังต้องเสียน้ำ เสียปุ๋ยไปจำนวนมาก ทั้งๆที่พื้นที่ที่ผักโตจริงๆ ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น แถมบางทีเราก็ไม่ได้ต้องการกินผักชนิดเดียวที่ปลูกเป็นแถวนั้นทั้งหมด เขาจึงสร้างสรรค์สวนผักตารางฟุตหรือ Square Foot garden  ขึ้นเน้นให้ปลูกผักในพื้นที่เล็กๆ คือขนาดประมาณ 4×4 ฟุต แบ่งเป็นช่องๆ เพื่อปลูกหลากหลายชนิด ไม่ต้องลงแรงขุดดิน และช่วยประหยัดน้ำได้เขาบอกว่าการทำสวนผักตารางฟุตนี้สามารถให้ผลผลิตได้เท่ากับการปลูกผักเป็นแถวปกติ โดยใช้พื้นที่แค่ 1/5 ของพื้นที่ที่ปลูกผักเป็นแถวปกติเลยทีเดียว  ใครสนใจลองมาดูวิธีทำกัน

วิธีทำ

  1. เตรียมไม้สำหรับทำแปลงขนาด 4 x4 ฟุต สูงประมาณ 6 นิ้ว และไม้สำหรับแบ่งช่องอีก6 ชิ้น
  2. ใช้เครื่องมือ หรือตะปูตอกไม้ให้เข้ากัน
  3. ปูผ้าใบ หรือกระสอบ ด้านล่าง เพื่อช่วยป้องกันวัชพืช
  4. ย้ายแปลงไปไว้ในตำแหน่งที่ต้องการปลูก
  5. ใส่ดินที่ปรุงแล้ว รดน้ำให้ชุ่ม
  6. วางแผ่นไม้ที่เตรียมไว้สำหรับแบ่งช่องขนาดเท่าๆกัน หรืออาจใช้เชือกขึงแบ่งช่องก็ได้

สำหรับวิธีการเลือกชนิดผักและปริมาณที่ปลูกนั้น คุณ Mel Bartholomew เขาก็ได้ทำการทดลอง จนได้ขอสรุปเป็นหลักออกมาให้ใช้กันก็คือ

  • หากเป็นพืชผักขนาดใหญ่มาก เช่นกะหล่ำปลี พริก มะเขือเทศ มะเขือยาว ก็ให้ปลูกช่องละ 1 ต้น
  • หากเป็นพืชผักขนาดใหญ่ เช่นผักกาด  กระเพรา ให้ปลูกช่องละ 4 ต้น
  • หากเป็นขนาดกลาง อย่างผักโขม หัวบีทรูท ให้ปลูกช่องละ 9 ต้น
  • หากเป็นพืชผักขนาดเล็ก เช่นแครอท หัวหอม ก็ปลูกได้ช่องละ 16 ต้น

นอกจากนี้ หากต้องการปลูกพวกไม้เลื้อย เช่นถั่วฝักยาว ฟักแฟง  ก็สามารถออกแบบให้มีที่เลื้อยบริเวณริมขอบแปลงขึ้นมาได้ คราวนี้ก็อยู่ที่การวางแผน ออกแบบแล้วว่า จะเลือกปลูกผักอะไรไว้กินบ้าง และจะปลูกสักกี่แปลงอย่างไรก็ตาม ที่แนะนำเป็นเพียงหลักการพื้นฐานนะคะ เราสามารถที่จะประยุกต์ ปรับใช้ สร้างสรรค์ขนาด เเละรูปเเบบแปลงของตัวเองให้สวยงาม และสอดคล้องกับพื้นที่ของตัวเองได้ ของอย่างนี้ต้องทดลองทำดูเองถึงจะรู้ อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่อ่านเพียงอย่างเดียวนะคะ

สำหรับในเครือข่ายสวนผักคนเมือง ตอนนี้มีที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ศูนย์สุวรรณภูมิ ที่คุณชูเกียรติ โกแมนทดลองทำ และได้เปิดอบรมไปบ้างแล้ว ส่วนผู้อ่านใครลองทำแล้ว ได้ผลเป็นอย่างไรก็อย่างลืมแบ่งปันรูปภาพและประสบการณ์ใน www.facebook.com/thaicityfarmกันบ้างนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “All New Square Foot Gardening” โดย Mel Bartholomew

ขอบคุณรูปภาพและไอเดียจาก

http://theselfsufficientliving.com/12-inspiring-square-foot-gardening-plans-ideas-plant-spacing/

http://www.melbartholomew.com/what-is-square-foot-gardening/