สัมผัสความน่าอยู่ของแวนคูเวอร์ เมืองสีเขียวอันดับต้นๆของโลก (ตอนที่ 1)

หลังจากเคยอ่าน และเคยฟังเรื่องราวของนครแวนคูเวอร์มาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นความน่าอยู่ของเมือง การเติบโตของเมืองอย่างชาญฉลาด นโยบาย 8 แกนหลักสู่เมืองที่ยั่งยืน ที่รวมเรื่องการสร้างชุมชนแห่งการเดินที่มีความสมบูรณ์ คือมีการเชื่อมต่อภายในทางกายภาพที่ดี เข้าถึงได้ด้วยทางเดิน และทางจักรยาน, การพัฒนาระบบการคมนาคมและขนส่งที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การออกแบบอาคารเขียว, การส่งเสริมให้มีพื้นที่โลงสาธารณะที่มีความยืดหยุ่น ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็กที่ช่วยสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ หรือเป็นที่รองรับน้ำฝน ตลอดจนเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชน, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม, การวางผังและออกแบบโครงสร้างชุมชนที่ช่วยให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการสำคัญต่างๆ และส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในชุมชน, การพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งเสริมศักยภาพในการจูงใจและดึงดูดให้เกิดการลงทุน และที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับระบบอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งเรื่องการผลิต  และการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยให้คนเข้าถึงได้  ประกอบกับเคยได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเกษตรในเมืองที่แวนคูเวอร์หลายครั้ง ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ อยากจะออกเดินทางไปสัมผัส ไปดู ไปเรียนรู้ และลองใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเขียวและเมืองน่าอยู่ติดอันดับต้นๆในโลกกับเขาบ้าง

ต้องยอมรับว่า ก่อนไปตัวเองไม่ได้ทำการบ้าน หรือศึกษาหาข้อมูลมากนัก ตั้งใจว่าจะลองเปิดใจไปเรียนรู้อย่างที่เมืองแวนคูเวอร์จะนำทางไป มีในใจที่ตั้งใจอยากจะไปดูอยู่บ้างก็แค่ Sole Food Street Farm หนึ่งในเกษตรในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของแวนคูเวอร์ และก็เป็นพื้นที่เกษตรในเมืองที่ตั้งใจใช้พื้นที่ว่างในเมืองมาผลิตอาหารเลี้ยงคนเมือง ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เรียกว่าสร้างทั้งอาหาร สร้างทั้งคน สร้างทั้งงาน แถมสร้างพื้นที่สีเขียวให้เมืองเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้วางแผนอย่างเฉพาะเจาะจงนัก ระหว่างทางที่เราเดินเท้าเพื่อที่จะไปเที่ยวตามจุดสำคัญต่างๆของเมือง เราก็ได้พบพื้นที่สวนผักชุมชน หรือ Community Garden โดยบังเอิญถึง 2 แห่ง และก็ได้เข้าไปเดินชม Street Farm อีก 1 แห่ง ไม่นับ Sole Food Street Farm ที่ตั้งใจจะไปอยู่แล้ว

สวนผักแห่งแรกที่เราเดินไปเจอโดยบังเอิญขณะเดินอยู่บนถนนย่านดาวน์ทาวน์ ก็คือสวนผักชุมชน Davie Village Community Garden ต้องยอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้น และดีใจอย่างบอกไม่ถูก  เหมือนว่ามาถึงแวนคูเวอร์ที่วาดฝันไว้จริงๆ (ฮ่า) จากที่ได้พูดคุยบ้างเล็กน้อยกับครอบครัวที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำสวนในพื้นที่แปลงของตัวเองอยู่ ก็ได้รู้ว่า สวนผักแห่งนี้ เปิดให้คนเช่า แปลงละ 10 ดอลลาร์แคนาดาต่อปี ถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็ประมาณ 250 บาท ซึ่งถือว่าถูกมาก คนส่วนใหญ่ที่มาเช่าก็มักจะอยู่บริเวณใกล้ๆนี้ อย่างครอบครัวนี้ก็เดินจากบ้านมาทำสวนด้วยกัน

ช่วงที่เราไป เป็นช่วงจะเข้าซัมเมอร์พอดี เรียกว่าอากาศกำลังดี พืชผักในแต่ละแปลงที่สวนแห่งนี้จึงดูงามสะพรั่ง เท่าที่สังเกต แต่ละแปลงก็จะมีการปลูกผสมผสานกันหลากหลายชนิดทั้งผักใบเขียว และดอกไม้ ส่วนใหญ่เขาก็จะแวะมารดน้ำ เก็บผัก ดูแลแปลง อาทิตย์ละประมาณ 3 วัน ดูจากเด็กน้อยที่วิ่งมาต้อนรับเรา พร้อมกับอวดถุงมือทำสวนอันใหม่ ก็พอจะสัมผัสได้ว่า สวนผักแห่งนี้ ไม่เพียงผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพให้กับครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้เด็กได้มาเรียนรู้ผ่านการเล่น และให้ครอบครัวได้มีกิจกรรมทำร่วมกันด้วย

กลับมาท่องโลกอินเตอร์เนท ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Davie Village Community Garden แห่งนี้ ก็ได้รู้ว่า เดิมทีบริเวณนี้เคยเป็นปั้มน้ำมันมาก่อน แต่เจ้าของมีความจำเป็นต้องปิดกิจการลง และกำลังมองหาว่าควรจะทำอะไรต่อดี แต่หลังจากทิ้งไว้ว่างเปล่าถึง 2-3 ปี ด้วยความที่ยังไม่พร้อมจะลงทุนต่อ เขาเลยคิดว่า น่าจะให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์พื้นที่แห่งนี้ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เปล่าๆ หลังจากที่เขาปรึกษากับหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่สาธารณะ หรือ Vancouver Public Space Network  ก็ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จะใช้พื้นที่แห่งนี้ทำเป็นสวนผักชุมชน โดยมีทางหน่วยงานนี้มาช่วยดูแลเรื่องการปรับสถานที่ แปลงร่างให้กลายเป็นสวนผักขึ้นมา และเปิดให้คนในชุมชนได้มาขอเช่าแปลงทำสวนผักกันในราคาถูก เรียกว่าอยากจะให้ผู้คนได้มาช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ในเมืองด้วยกัน พื้นที่แห่งนี้ก็เลยกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในย่านใจกลางเมืองไปด้วยในตัว เขาบอกว่าบางวันก็มีคนเข้ามานั่งวาดรูปในสวนด้วย

ต้องยอมรับว่า เวลาเดินอยู่ในย่านใจกลางเมือง ที่มองไปทางไหนก็มีแต่ตึก พอมีช่วงจังหวะเว้นว่างจากสิ่งก่อสร้าง กลายเป็นต้นไม้ ใบหญ้า พืชผัก และดอกไม้หลากสีสัน มันก็ช่วยทำให้จังหวะชีวิตที่รีบเร่ง ช้าลงและ รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายขึ้นมาได้จริงๆ

เดินผ่าน David Village Community Garden ไปไม่นาน เราก็พบกับสวนผักริมถนน หรือ Street Farm อีกจำนวนมาก ซึ่งที่เป็นสวนผักแบ่งเป็นบล็อกๆเรียงรายเป็นทางยาวคู่ขนานไปการถนนที่เขาออกแบบไว้ให้เป็นเส้นทางสำหรับเดิน และขี่จักรยาน โดยเฉพาะ ตอนที่แวะเข้าไปเดินชม ถ่ายรูปสวนผักริมถนนมาฝากกันนี้  ไม่มีโอกาสได้เจอใครที่มาทำสวน  แต่เท่าที่สังเกตก็พบว่า บริเวณนี้จะมีโต๊ะ เก้าอี้ ที่นั่งเอนหลัง วางอยู่ตามริมสวนผักแต่ละแปลง เดาว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นพื้นที่สำหรับคนมาทำสวน และก็เปิดโอกาสให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้แวะมานั่งพัก สัมผัสกับพื้นที่สีเขียวเล็กๆในเมืองได้ด้วย บางแปลงก็ติดไว้ว่าให้มาสัมผัสพื้นที่สีเขียวด้วยกัน และยินดีให้เก็บผักไปกินได้ บางแปลงมีเก้าอี้นั่งที่ทำจากไม้ พร้อมมีป้ายติดเป็นข้อความเชิงข้อมูล และรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของทั้งต้นไม้ และพื้นที่สีเขียวในเมือง

สิ่งที่น่าสนใจบริเวณนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สวนผัก แต่คือเส้นทางเฉพาะสำหรับจักรยาน และการเดิน ซึ่งไม่ได้มีแค่บริเวณนี้ แต่เชื่อมต่อ แผ่ขยาย ไปยังส่วนต่างๆของเมืองมากมายหลายเส้นทาง อาจกล่าวได้ว่า หากมาถึงแวนคูเวอร์แล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือออกเดิน และขี่จักรยาน  เพราะเมืองนี้ช่างมีการออกแบบไว้เอื้อต่อการเดิน และการขี่จักรยาน จริงๆ   แต่ละเส้นทางดูทั้งความสะดวก ความปลอดภัย และมีความสวยงาม ที่สำคัญยังมีหลากหลายเส้นทาง หลายหลายรูปแบบให้เลือกสรร จะเลือกเดินหรือขี่จักรยานสัมผัสชุมชนเมือง จะเลือกเส้นทางผ่านสวนสาธารณะ จะเลือกเส้นทางเลาะบึง หรือเส้นทางเลาะทะเล ก็ได้ทั้งนั้น ไม่น่าแปลกใจ ที่ตลอดระยะเวลาที่เราอยู่แวนคูเวอร์ จะเห็นผู้คนมากมายพร้อมใจกันออกกำลังกายด้วยการเดินบ้าง วิ่งบ้าง หรือขี่จักรยานอยู่เสมอ สมกับนโยบายที่จะสร้างชุมชนแห่งการเดินอย่างสมบูรณ์จริงๆ

ความน่าสนใจอีกอย่างของคนรักการขี่จักรยาน ก็คือ คุณสามารถที่จะขี่จักรยาน และต่อรถประจำทางเพื่อไปยังที่ไกลๆ ได้ โดยฝากจักรยานไว้หน้ารถประจำทาง ซึ่งมีการออกแบบไว้รองรับจักรยานได้ครั้งละ 2 คันด้วย หากเป็นนักปั่นมือสมัครเล่น แน่นอนที่นี่เขาก็มีจักรยานสาธารณะให้เช่า บางจุดก็มีร้านเช่าจักรยานรอต้อนรับอยู่มากมาย ความน่ารักอีกอย่างที่เจอคือ ที่นี่เขามีร้านรับบริจาคจักรยาน เพื่อนำมาซ่อมแซม และนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งด้วย

นอกจากสวนผักริมถนนแห่งนี้แล้ว ระหว่างทางเดิน ก็มีโอกาสได้พบกับสวนผักริมทางรถไฟเล็กๆ ที่เขาไม่ได้ใช้แล้วด้วย เรียกว่ามีพื้นที่ว่างสาธารณะบริเวณไหนที่พอจะมีพื้นที่ปลูกได้ ก็มักจะเห็นพืชผักงอกงามให้ชื่นใจ ดีกว่าปล่อยให้รกร้าง เต็มไปด้วยวัชพืช หรือขยะเป็นไหนๆ

ไม่ไกลจาก Sole Food Street Farm นัก เราก็ได้พบกับสวนผักชุมชนอีกหนึ่งแห่ง อยู่ใกล้กับบริเวณใต้สะพานชื่อว่า John McBride Community Garden จะว่าไปพืชผักในแปลงที่นี่ดูยังไม่เติบโตนัก เมื่อเทียบกับสวนผักแห่งอื่นที่เห็นมา รวมถึงเมื่อเทียบกับ Sole Food Street Farm ซึ่งอยู่ในระยะที่มองเห็นกันได้ สิ่งที่ชอบคือเขามีการออกแบบจัดวางแปลงได้สวยงาม มีกล่องไม้ที่เก็บอุปกรณ์ไว้อย่างเรียบร้อย สังเกตจากป้าย ก็มีการเชิญชวนเด็กๆมาทำกิจกรรมร่วมกันด้วย ช่วงที่ไปอยู่แถวนั้น ก็เห็นมีคุณป้าอายุมากพอสมควรเดินมาที่สวน ตั้งใจมาปลูกผัก รดน้ำ พรวนดินอยู่ที่แปลงของตัวเองอย่างเพลิดเพลิน  ชวนให้คิดว่า ในเมืองที่เติบโต บ้านเดี่ยวราคาพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ผู้คนย้ายขึ้นไปอยู่บนตึก บนคอนโด บนห้องเช่ากันจำนวนมาก การมีพื้นที่สวนผักแบบนี้อยู่ใกล้บ้านที่ตัวเองอยู่ อย่างน้อยในยามว่าง ผู้สูงอายุที่ไม่อยากจะอยู่บนห้องทั้งวัน ก็จะมีพื้นที่ให้ลงมาสัมผัสกับธรรมชาติ ได้ลงมือเพาะเมล็ด และหล่อเลี้ยงชีวิตของพืชผักให้เติบโต แน่นอนว่าพอพืชผักงอกงาม ใจคนปลูกก็เบ่งบานไปด้วยแน่นอน  จากที่หาข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างว่า สวนผักชุมชนแห่งนี้ เขายังมีขึ้นด้วยความตั้งใจ อยากจะเชิญชวนให้ผู้อพยพจากซีเรียที่มาอยู่ในชุมชน ได้มีโอกาสได้มาทำกิจกรรม และเชื่อมสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากขึ้นด้วย เป็นพื้นที่เล็กๆที่มีคุณค่าจริงๆ

ส่วน Sole Food Street Farm เป็นสวนผักที่มีลักษณะแตกต่างจากสวนผักอื่นๆที่ผ่านมาทั้งหมด ด้วยความที่เป็นพื้นที่เกษตรในเมืองที่ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ คือเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าในเมือง ให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารขายให้กับคนที่อยู่ในเมือง อย่างไรก็ตามความตั้งใจจริงๆของพวกเขา ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวยจากการทำธุรกิจ แต่เขาต้องการจะใช้พื้นที่เกษตรในเมืองนี้ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งคนจน คนติดยาเสพติด หรือคนที่ป่วยเป็นจิตเวช

ความน่าสนใจอีกอย่างของสวนผักแห่งนี้ คือเขาออกแบบแปลงให้พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ เรียกว่าถ้าเจ้าของที่จะขอที่คืน เขาก็สามารถย้ายแปลงทั้งหมดนี้ได้ โดยที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิต หรืออาจจะเสียหายน้อยที่สุด อย่างแปลงที่เราไปเยี่ยมชมนี้ ก็เป็นบริเวณที่เขาเพิ่งย้ายมาไม่นานนัก แต่เป็นแปลงที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด และเป็นพื้นที่ที่ผลผลิตจากแปลงอื่นๆที่เขามีอีก 3 แห่ง จะถูกส่งมาที่นี่ เพื่อทำการแพ็คส่งให้กับสมาชิก CSA ที่จ่ายเงินล่วงหน้า รวมถึงกระจายส่งไปตามร้านอาหารต่างๆในเมือง เขาบอกว่าตอนนี้  Sole Food Street Farm เติบโตคู่กับเมืองมาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว โดยมีการจ้างงานผู้คนด้อยโอกาสประมาณปีละ 25 คน และสามารถผลิตอาหารให้กับเมืองได้ปีละ 38000 lbs เรียกว่าเป็นพื้นที่เกษตรในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเมืองแวนคูเวอร์เลยก็ว่าได้

จะว่าไป เกษตรในเมืองที่มีโอกาสได้ไปดูให้เห็นกับตานี้ ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆของพื้นที่เกษตรในเมืองที่เติบโตของในเมืองแวนคูเวอร์ และก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆที่ทำให้เรารู้สึกได้สัมผัสถึงความน่าอยู่ของเมืองนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องราว ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเมืองนี้น่าอยู่จัง มาเล่าสู่กันฟังต่ออีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตลาดนัดเกษตรกร ที่ที่ทำให้เราเข้าถึงอาหารดี มีคุณภาพ และปลอดภัย รวมถึงเรื่องสวนสาธารณะที่ใหญ่มาก และรอต้อนรับให้ผู้คนในเมืองไปเยือน ตอนนี้รู้สึกว่าเขียนมายาวมากแล้ว เดี๋ยวความน่าอยู่ จะกลายเป็นความน่าเบื่อไป ขอพักไว้ตรงนี้ก่อนนะคะ

ท้ายสุดคงต้องขอขอบคุณนครแวนคูเวอร์ ที่พร้อมใจต้อนรับเรา ด้วยการนำพาเราให้ไปพบเจอกับสวนผักในเมืองหลายแห่งโดยบังเอิญ สมกับที่เรามีความตั้งใจอยู่ลึกๆภายใน การเดินทางแบบนี้ มันทำให้เราได้สัมผัสถึงความรู้สึกขอบคุณที่จักรวาลช่วยจัดสรรให้เราจริงๆ  ส่วนเรื่องราวอื่นๆจะเป็นอย่างไร รอติดตามค่ะ

เรื่องโดย นาถศิริ โกมลพันธุ์