ปรุงดิน ปลูกผักในเมือง

หลายคนสนใจอยากปลูกผัก แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ลองลงมือปลูกผักเองมาบ้างแล้ว แต่ก็ได้ผลไม่ค่อยดี และไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร  เลยคิดว่าจะขอรวบรวมหัวใจสำคัญของการปรุงดิน ปลูกผัก ในเมือง มาให้ได้เรียนรู้กันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้นอีกครั้ง

1. การปรุงดิน: หัวใจสำคัญของการปลูกผักให้งาม คือการปรุงดินให้ดี สำหรับวิธีปรุงดินที่จะขอนำเสนอให้ลองนำไปทำกันดูก็คือ การหมักดิน มีส่วนผสมดังนี้ 1. ดินถุง 2. มูลสัตว์(ปุ๋ยคอก) 3.เศษใบไม้แห้ง 4.เศษอาหารสด ผัก ผลไม้ กากกาแฟ เปลือกไข่ ฯลฯ 5. หัวเชื้อจุลินทรีย์ 6. น้ำตาล

วิธีการหมักดิน

  1. นำดินที่ซื้อมาคลุกเค้ากับมูลสัตว์ เศษใบไม้แห้ง เศษอาหาร และหัวเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นเติมน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยให้กะปริมาณตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องมีอัตราส่วนที่เเน่นอน
  2. จากนั้นเติมน้ำพอชุ่ม กะความชื้นให้เหมาะสม โดยสังเกตได้ด้วยการทดลองกำดินที่ผสมเเล้วขึ้นมา  หากจับกันเป็นก้อนไม่แตกและบีบไม่มีน้ำไหลเป็นใช้ได้
  3. ตักดินที่ผสมแล้ว ใส่ถุงดินที่ซื้อมา (ควรเป็นถุงกระสอบที่มีรูระบายอากาศ) ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม จนจับดูแล้วดินหายร้อน ก็สามารถนำมาปลูกผักได้

หลักสำคัญที่ควรทราบก็คือ

  • มูลสัตว์ที่นำมาใช้ควรเป็นมูลสัตว์เเห้ง
  • เศษใบไม้ควรเลือกใบเล็ก เเละหากเป็นพืชตระกูลถั่วก็ย่อยง่ายขึ้น
  • เศษอาหาร ควรใส่ให้หลากหลายชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารพืชหลายชนิด
  • น้ำตาลทราย เป็นน้ำตาลอะไรก็ได้ ที่เราเติมลงไปเพื่อกระตุ้นให้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เรานำมาผสมทำงานย่อยสลายได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีทำหัวเชื้อจุลินทรีย์

  1. เก็บกิ่งไม้ ใบไม้ที่มาราขาวมา
  2. เตรียมน้ำผสมน้ำตาล โดยอัตราส่วนประมาณ 20 ลิตร ต่อน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  3. นำกิ่งไม้ ใบไม้ที่มีราขาวแช่ลงไป ใช้กระดาษปิด เพื่อให้มีอากาศลงไปบ้าง
  4. หมักทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน ก็สามารถนำน้ำนั้นมาใช้เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้

2. การเพาะกล้า: ปัญหาหนึ่งของการปลูกผัก คือคนส่วนใหญ่จะนิยมโรยหรือหว่านเมล็ดลงไปในแปลงเลย ทำให้มีโอกาสสูงที่ต้นกล้าจะขึ้นเบียดกันมากเกินไป จนไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร วิธีที่จะช่วยได้ก็คือการเพาะกล้า

เตรียมวัสดุเพาะกล้า

  1. ดินร่อนละเอียด 1 ส่วน
  2. ขุยมะพร้าว 1 ส่วน  คลุกเคล้าให้เข้ากัน

วิธีการเพาะกล้า

  1. เตรียมตะกร้าสี่เหลี่ยม ขนาดสักประมาณ 13 X16 นิ้ว สูงประมาณ 4 นิ้ว หรือใช้ตะกร้าขนมจีนก็ได้
  2. นำตะกร้าที่ใช้เพาะรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์
  3. ใส่กาบมะพร้าวสับเป็นชิ้นเล็กๆ ครึ่งตะกร้า จากนั้นใส่วัสดุเพาะที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้เรียบ
  4. ใช้ไม้ขีดเป็นร่องๆให้ห่างประมาณ 1 ไม้บรรทัด
  5. โรยเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงในร่อง ใช้ดินกลบทับบางๆ พอให้คลุมเมล็ดมิด
  6. นำหนังสือพิมพ์มาปิดทับ รดน้ำให้ชุ่ม

วางตะกร้าไว้ในที่ร่ม รดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 3 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ให้นำกระดาษหนังสือพิมพ์ออก เช้าวันที่ 4 ก็ให้แยกต้นกล้าใส่ถาดหลุม

3. การย้ายกล้าลงถาดหลุม: หลังจากเห็นต้นกล้าเล็กๆค่อยๆเติบโตขึ้นในตะกร้าแล้ว คราวนี้ก็ถึงอีกขั้นตอนสำคัญคือการแยกกล้าลงถาดหลุม โดยมีวิธีการทำดังนี้

  1. นำวัสดุเพาะกล้าที่ร่อนแล้วใส่ในถาดเพาะกล้าที่เป็นหลุมๆ ให้เต็ม ปาดให้เรียบ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
  2. ใช้ไม้แหลมคล้ายแท่งดินสอหรือไม้ลูกชิ้นแทงงัดต้นกล้าขึ้นมาเป็นกระจุก
  3. เลือกต้นกล้าที่แข็งแรง คือต้นตรง ไม่คดงอ มีรากอยู่เยอะ
  4. วางต้นกล้าลงในถาดหลุม โดยให้รากจ่อไปที่ปากหลุม แล้วใช้ไม้กดไปที่ราก ให้ต้นตั้งตรง รากจมดิน เหลือใบและลำต้นไว้ที่สำคัญระวังอย่ากดให้โดนต้น เพราะต้นอาจหักได้

วางพักไว้ในที่ร่มสัก 2 วัน พอเข้าวันที่ 3  จึงนำออกแดดได้ ว่าแต่อย่าลืมรดน้ำอย่างระมัดระวังไม่ให้ต้นกล้าหักด้วยนะคะ พอต้นกล้าอายุได้ประมาณ 20 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลงหรือกระถางที่เตรียมไว้ต่อไป โดยคราวนี้ถึงเวลาต้องใช้ดินที่หมักเตรียมไว้ มาใส่แปลงหรือใส่กระถาง พร้อมลงมือย้ายต้นกล้าที่โตได้ที่แล้วลงปลูกได้เลยค่ะ

อย่างไรก็ตาม จะเลือกปลูกอะไร ก็อย่าลืมนึกถึงปริมาณแสงแดดที่ได้รับด้วยนะคะ โดยมีหลักง่ายๆคือ พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกผักใบทั่วไปควรได้รับแดดอย่างน้อยครึ่งวัน หากได้รับแดดน้อยกว่านี้ ควรเลือกปลูกพืชผักพื้นบ้านที่อยู่ในที่แสงรำไรได้ เช่น ใบเตย สะระแหน่ ชะพลู ขิง ข่า ตำลึงอ่อมแซบ ใบบัวบก วอเตอร์เครส ผักชีฝรั่ง ผักกูด ผักหวานป่า ใบย่านาง ผักแพว ตะไคร้ กระเพรา โหระพา  หากต้องการปลูกผักกินผล เช่นมะเขือเปราะ มะเขือยาว  มะเขือเทศ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว พริก ควรปลูกในที่มีแดดเต็มวัน

คราวนี้ก็ถึงเวลาต้องลงมือปฏิบัติ และเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจอย่างแท้จริงด้วยตัวเองแล้วล่ะค่ะ