เลี้ยงไส้เดือน ช่วยกำจัดเศษอาหาร สร้างปุ๋ยหมักให้แปลงผัก

หลายคนพอเริ่มลงมือปลูกผักบ้างแล้ว ก็เริ่มสนใจที่จะขยับขยายหาวิธีทำให้ดินของตัวเองอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ บางคนก็อาจเริ่มจากการทำน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมัก ทำดินหมักไว้ใช้เองมากขึ้น และเชื่อว่าหลายคนก็คงจะสนใจเรื่องการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อช่วยผลิตปุ๋ย แถมยังช่วยกำจัดเศษผัก ผลไม้ ที่เหลือทิ้งไปอย่างน่าเสียดายได้อย่างดีด้วย

ส่วนเรื่องรูปแบบ เทคนิควิธีการในการเลี้ยงไส้เดือนของแต่ละที่ก็อาจจะแต่ต่างกันไป ที่นำมาแนะนำคราวนี้ แบ่งปันมาจากธรรมชาติฟาร์ม ซึ่งครูวิวิช โพธิเวช ได้เขียนแบ่งปันไว้ในหน้าเพจ @ ธรรมชาติฟาร์ม ซึ่งหากใครอ่านแล้วต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เพิ่มเติม ก็เชิญไปได้ที่หน้าเพจเลยนะคะ

สายพันธุ์ไส้เดือนที่ทางธรรมชาติฟาร์มเลือกคือแอฟริกัน ไนท์ครอเซอร์ หรือ AF เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านเรานานแล้ว ผ่านการทดลอง แล้วว่าเหมาะสม ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว และคุณภาพของปุ๋ย ที่เกิดจากการหมัก และย่อยสลายจากจุลินทรีย์ภายในตัวไส้เดือน จึงเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันแพร่หลาย…..

รูปแบบการเลี้ยงไส้เดือนก็ทำได้หลายรูปแบบ เช่นการเลี้ยงในกะละมัง การเลี้ยงในวงปูน การเลี้ยงในบ่อพลาสติกสีดำ การเลี้ยงในลิ้นชัก หรือการเลี้ยงในอ่างปูนสี่เหลี่ยม ซึ่งการสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของตัวเอง เช่น ก่อนอื่นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าเราจะเลี้ยงไส้เดือน เพื่ออะไร คือ เลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยหมัก สำหรับใช้เอง หรือ เลี้ยงเพื่อต้องการผลิตปุ๋ย และผลิตตัวไส้เดือน เพื่อขายเป็นการค้า

สำหรับที่ธรรมชาติฟาร์มใช้การเลี้ยงไส้เดือนในอ่างปูนสี่เหลี่ยม ซึ่งเดิมเคยเป็นที่เลี้ยงปลามาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรแล้ว ก่อนที่จะปล่อยไส้เดือนลงไปในอ่าง ก็ต้องหมักปุ๋ยหมักเพื่อเป็นอาหารหลัก ในการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนวิธีการทำก็คือ

  1. ให้นำปุ๋ยคอก ซึ่งที่ธรรมชาติฟาร์มจะใช้ขี้ม้าแห้งซึ่งหาได้ในท้องถิ่น มาใส่ลงในอ่างปูนให้สูงพอสมควร รดน้ำให้เปียกชุ่มจนทั่ว แล้วใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากพืชผักสีเขียวรดให้ทั่ว เพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมัก ให้สลายตัวเร็วยิ่งขึ้น โดยปกติก็จะใช้เวลาในการหมักประมาณ 7-10 วัน ในระหว่างนี้ ต้องช่วยคลุกเคล้า กองปุ๋ยไปมา 2-3 วันครั้ง เนื่องจากกระบวนการหมักจะทำให้เกิดความร้อนในกองปุ๋ย  วิธีดูว่าปุ๋ยหมักนี้ได้ทีพร้อมจะนำไปเลี้ยงไส้เดือนหรือยัง ก็คือดูว่าความร้อนหมดไปหรือยังนั่นเอง

  1. ปล่อยไส้เดือนลงไป ให้ไส้เดือนคุ้นเคยกับปุ๋ยหมักซึ่งเป็นอาหารหลักสักระยะหนึ่ง จากนั้นก็สามารถเริ่มให้อาหารเสริมได้ ไม่ว่าจะเป็นเศษผัก เศษผลไม้สุก เช่นพวกกล้วย มะละกอ โดยวิธีให้ก็คือให้ฝังลงไปในปุ๋ยเป็นจุดๆ แนะนำว่าให้ให้ครั้งละไม่ต้องมากนัก เมื่อหมดแล้วจึงค่อยให้ใหม่ การให้อาหารเสริมนี้จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต การเจริญพันธุ์ การขยายพันธุ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพดีกว่าใช้ปุ๋ยคอกเป็นอาหารหลักอย่างเดียว

  1. หลังจากเลี้ยงไส้เดือนไปประมาณ 1 เดือนครึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นลูกหลานตัวเล็กๆ ซึ่งถ้าเรามีการวางแผนการจัดการที่ดี เราก็จะสามารถผลิตปุ๋ยและตัวไส้เดือน ได้จำนวนมากในเวลาไม่นาน แนะนำว่า ถ้าเราเริ่มต้นการไส้เดือน 1 อ่าง (พ.ท.1*1 ม.) ใช้ปริมาณไส้เดือนจำนวน 1/2 ก.ก. เมื่อระยะเวลาเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน เราต้องเตรียมอ่างเพิ่มใหม่อีก 1 ใบ แล้วหมักมูลสัตว์เตรียมพร้อมเอาไว้ พอได้เวลาประมาณ เดือนครึ่ง ลองสังเกต พลิกปุ๋ยที่เลี้ยงดูว่าเริ่มมีตัวอ่อนในบ่อเลี้ยงแล้วหรือยัง ถ้ามีตัวเล็กๆเยอะ มองดูแล้วหนาแน่น  เราก็ทำการแยกคัดตัวพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือนออก คือย้ายพ่อแม่พันธุ์จากบ่อเก่าไปยังบ่อใหม่ที่มีปุ๋ยหมักเตรียมพร้อมไว้แล้ว  เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์ได้กินอาหารใหม่ ทำการผลิตปุ๋ยและขยายพันธุ์ ต่อไป

  1. ส่วนลูกตัวเล็กๆในบ่อเก่า ก็ใช้เวลาเลี้ยงต่อไปอีกจน ครบ 3 เดือน เราก็จะได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่สมบูรณ์ สามารถนำไปใช้ได้ พร้อมกับรุ่นลูก ที่โตพอที่จะคัดไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้อีก…

เห็นมั้ยครับว่าปริมาณที่ได้จะเริ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพียงแต่เราต้องเตรียมความพร้อม คือต้องเตรียมบ่อเลี้ยงให้เพียงพอ เตรียมหมักปุ๋ย ให้ต่อเนื่อง จากการเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือน ที่ 1/2 ก.ก. จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น อย่างมาก ในเวลาไม่กี่เดือน  ที่สำคัญหลังจากปล่อยไส้เดือนลงไปในบ่อแล้ว ก็ควรจะหาแผ่นตาข่ายปิด เพื่อช่วยป้องกันศัตรูอย่างพวกหนู กระรอก นก แมวมาทำร้ายด้วย แล้วก็อย่าลืมให้อาหาร และดูแลความชื้นให้เหมาะสมอยู่เสมอด้วยนะคะ

ลองนำไปทำกันดูนะคะ หากใครมีข้อสงสัย หรือมีเรื่องอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติม ก็แนะนำให้ไปกด like ที่ @ธรรมชาติฟาร์มเลยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก@ธรรมชาติฟาร์มอีกครั้งค่ะ