มณีกาญจน์ บุญส่ง (มิ้นท์) นักปฏิวัติ ผู้กล้าเปลี่ยนแปลง

มณีกาญจน์ บุญส่ง อายุ 29 ปี หรือน้องมิ้นท์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง ทำโครงการที่ชื่อว่า”สวนผักคนเมืองกลุ่มเกษตรอินทรีย์”ที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นโครงการที่รวมกลุ่มกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตที่ได้นอกจากกินเองแล้ว ก็ยังขายให้กับทางบริษัทที่อยู่ใกลชุมชน บางส่วนก็แบ่งปันให้คนในชุมชน โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

ตอนแรกที่จบมาใหม่ๆ ก็ไปทำงานขายปุ๋ยเคมี แต่หลังจากทำไปสักพัก คุณยายได้ป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิตไป มิ้นท์เชื่อว่าสาเหตุหลักที่ทำให้คุณยายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนั้นน่าจะมาจากการทำเกษตรแบบใช้เคมีมานาน อีกทั้งคนชุมชนที่เธออยู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรได้ล้มป่วยเป็นโรคมะเร็ง มิ้นท์จึงหันมาสนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และตัดสินใจลาออกจากงานและกลับไปอยู่ บ้านด้วยความใฝ่ฝันอยากกลับมาช่วยที่บ้านทำเกษตรและจะปรับเปลี่ยนให้เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ และเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นๆในชุมชน โดยหวังจะให้พวกเขาสนใจ และหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โครงการสวนผักคนเมืองก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมีโอกาสได้ลงมือปลูกผักอย่างจริงจัง และได้มีโอกาสแบ่งปันเทคนิค หรือ ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับชาวบ้านรอบข้าง และเปิดโอกาสให้เขาได้ลองลงมือทำเพื่อให้เกษตรกรที่พึ่งเคมีมาตลอดเกิดความมั่นใจว่าสามารถทำได้โดยไม่ใช้สารเคมีมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามเส้นทางของมิ้นท์ ก็ใช่จะสวยงาม ต้องเผชิญอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่และต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญและก้าวผ่านไปให้ได้นั้น ไม่เพียงปัญหาเรื่องประสบการณ์ความรู้ในการทำเกษตร ซึ่งเธอไม่เคยทำมาก่อน แม้ว่าจะเป็นลูกชาวนาก็ตาม แต่เธอยังต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับของครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ที่ไม่เห็นด้วยอย่างมากที่เธอลาออกจากงานมาทำเกษตรอินทรีย์และแม่ของเธอไม่เชื่อว่าจะทำเกษตรแบบไม่ใข้เคมีได้ ความขัดแย้งครั้งนี้รุนแรงขนาดแทบจะตัดพ่อตัดแม่กัน

จากปลูกผัก มิ้นท์ก็เริ่มขยับขยายไปปลูกข้าว ด้วยความตั้งใจว่าอยากจะเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวให้เป็นแบบเกษตรอินทรีย์ เลยขอแบ่งที่นาจากพ่อเพื่อทดลองทำ 1 ไร่ ปรากฏว่าพ่อให้ทำ 3 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักและยากมากสำหรับเธอที่ไม่มีประสบการณ์

“ตอนนั้นทำไป ก็ร้องไห้ไป รู้สึกท้อและจะเลิกทำอยู่ 2-3 ครั้ง มารู้ที่หลังว่า พ่อตั้งใจจะให้ 3 ไร่ เพื่อว่าเราจะได้ยอมแพ้ ทำไม่ไหว แล้วก็เลิกทำไปเลย จะได้กลับไปทำงาน แต่เราสู้ทำต่อไป ความรู้ที่เคยไปเรียน ไปอบรมมาก็ทดลองเอามาใช้หมด จนสุดท้ายข้าวปีนั้นแข็งแรง ได้ผลผลิตดี และมีทางมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และ ทาง SCG ที่เป็นเครือข่ายกันมาช่วยซื้อ พ่อแม่ก็เลยเริ่มค่อยๆยอมรับมากขึ้น”

วันนี้ แม่ได้ยอมรับให้ลูกกลับมาทำเกษตรและทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีแล้ว แม่ยังเป็นผู้ลงแรงช่วยเหลือจัดการทั้งเรื่องการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว และการขาย เคียงข้างเกษตรกรรุ่นใหม่คนนี้ด้วย น้องมินท์ บอกว่าตัวแม่เองก็เริ่มหันมาสนใจ และศึกษาข้อมูลเรื่องนี้เองแล้วด้วย เวลามีคนไปเยี่ยมที่แปลง เธอก็จะเปิดโอกาสให้แม่เป็นผู้อธิบายให้ความรู้คนอื่น เธอกล่าวว่า

“เกษตรกรคิดว่าตัวเองจบแค่ป.4 ไม่มีความรู้ แต่ความจริงเขามีความรู้มาก เราเปิดโอกาสให้เขาพูด เขาจะได้รู้ว่าตัวเองก็เก่งนะ” 

เธอพูดพร้อมกับบอกว่าอยากจะพัฒนาตัวแม่ด้วย นอกจากนี้เวลามีงานอะไร น้องมิ้นท์ก็มักจะพาแม่ รวมถึงคนในชุมชนบางส่วนไปเรียนรู้ด้วยเพื่อที่พวกเขาจะได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันอย่างไร และหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น