‘ปลูกความหวังจากผืนดินที่ขยันไถพรวน’ ‘Land Sharing’ แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต (สวนผักคนเมือง)

ในเวทีระดับโลกกำลังให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น “Global Trend 2050 (แนวโน้มโลกปี 2050)”ซึ่งปัจจัยการวิเคราะห์หลักๆ มาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก ในรายงานของ United Nations World Urbanization Prospects คาดการณ์ว่า ในปี 2050  ประชากรโลก จะมีจำนวนถึง  9.8 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีประชากร 7.6 พันล้านคน และจะมีจำนวนผู้สูงอายุ ที่อายุเกิน 65 ปี จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปีดังกล่าวเช่นกันจาก 962 ล้านคนทั่วโลกในปีนี้ เป็น 2,100 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าภายในปี 2100

ที่มา องค์การสหประชาชาติ

พร้อมกันนี้ยังพูดถึงแนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ เกิดการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2050 มีการคาดการณ์ไว้ว่า จำนวนประชากรที่อาศัยในเมืองจะมีมากขึ้นถึงร้อยละ 66 ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน คือ ร้อยละ 54 “Mega City” ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยตั้งแต่ปี 1990 มีเมืองใหญ่เพียง 10 เมืองเท่านั้น แต่ในปี 2014  มีเมืองใหญ่ถึง 28 เมืองทั่วโลก คือ 16 เมืองจากเอเชีย 4 เมืองจากละตินอเมริกา 3 เมืองจากทวีปแอฟริกาและยุโรปและอีก 2 เมืองจากทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนมากแล้ว เมืองใหญ่เหล่านี้ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และหลังจากนี้อีก 15 ปี คือ ในปี 2030 UN คาดว่าจะมีเมืองใหญ่เกิดขึ้นเป็น 41 เมือง และกรุงเทพมหานคร เป็น mega city ที่มีการเติบโตเร็ว อยู่ในอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 11 ประเทศทั่วโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตถึงร้อยละ 45.2

สิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนนี้ ทำให้เราต้องกลับมานั่งทบทวน และตั้งคำถามสำคัญอีกมากมาย ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เมื่อปี 2050 นั้นมาถึง ประเด็นสำคัญๆ นั้น คือ

  • เมื่อความเป็นเมืองขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่โลกมีพื้นที่เท่าเดิม นั่นหมายถึง การเติบโต/การขยายตัวของเมืองจะรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่การเพาะปลูกอาหารเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าเราจะมีพื้นที่ผลิตอาหารลดลง
  • ประชากรจะอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 นั่นแสดงว่า จะมีผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ผลิตจะลดลง พร้อมๆ กับปัจจุบันที่อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยก็สูงขึ้นมากอีกด้วย
  • เราพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2050 อาหารที่คนเมืองบริโภค ต้องพึ่งพาการผลิตในชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อซื้ออาหาร
  • ยังไม่นับรวมถึงการผลิตอาหาร ที่ต้องตั้งอยู่บนปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้น

ในฐานะของคนที่ต้องอาศัยอยู่ในเมือง เรื่องของอาหารดูจะเป็นปัญหาสำคัญที่เราอาจจะต้องรีบหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์และหาทางออก ทางเลือกสำหรับอนาคตของพวกเราไว้แต่เนิ่นๆ

                เกษตรในเมือง หรือ  Urban Agriculture ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะในประเทศอื่นๆ เช่น ในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในเอเชีย เรื่องของเกษตรในเมือง ได้รับความสนใจและเติบโตมาก โดยก็มีเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะความอดอยากในช่วงสงคราม การขาดแคลนอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร การเข้าถึงอาหารของกลุ่มคนจนในเมือง  เกษตรในเมืองก็เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง

สำหรับประเทศไทย  Mega City อย่างกรุงเทพมหานคร รวมถึงเขตปริมณฑล ซึ่งหากจะวิเคราะห์ไปถึงปัญหา สถานการณ์การขาดแคลนอาหาร ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยังห่างไกลกับสังคมไทย เพราะเรายังเชื่ออยู่เสมอว่า เมืองไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกคน แต่หากย้อนกลับไปตอนวิกฤติน้ำท่วมปลายปี 2554 ตอนนั้นคนกรุงเทพฯ ที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมเราขาดแคลนอาหารมากแค่ไหน หรือหากจะตั้งคำถามว่า อาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ ปลอดภัยแค่ไหน ผลิตมาอย่างไร หลายๆ คนก็อาจจะพอมองเห็นปัญหาเรื่องอาหารของตนเองบ้าง

โครงการสวนผักคนเมืองฯ ดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ขับเคลื่อนงานด้านเกษตรในเมืองของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยวิเคราะห์เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสถานการณ์ปัญหาด้านอาหาร ทั้งเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง เราจึงมุ่งยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง และผนวกเรื่องการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีและการพึ่งตนเองด้านอื่นๆให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง พร้อมทั้งมุ่งยกระดับความคิด สร้างความตระหนักถึงบทบาทของเกษตรในเมืองในฐานะที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือกที่เกื้อกูลธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันทั้งในเมือง ระหว่างคนเมืองกับชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนมุ่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของเมืองที่ให้ความสำคัญกับเกษตรในเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และขยายไปสู่นโยบายของเมืองต่างๆ ในประเทศต่อไป

หนึ่งในการขับเคลื่อนงานสำคัญ ที่เราดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี คือ สนับสนุนทุนโครงการขนาดเล็ก  เพื่อสร้างพื้นที่รูปธรรม และสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับประเด็นการพัฒนาต่างๆ ซึ่งในปีนี้เราให้ความสำคัฐกับต้นแบบของการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน และ ต้นแบบ ‘Land Sharing’ แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต ที่เราอยากจะนำเรื่องราวการแบ่งปันของสมาชิกโครงการสวนผักฯ มาเล่าสู่กันฟัง

ต้นแบบ ‘Land Sharing’ แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต เกิดขึ้นจากบทเรียนการทำงานสวนผักคนเมืองที่ผ่านมา เราพบว่า  ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลยังมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นที่ดินที่มีเจ้าของ รวมไปถึงที่ดินสาธารณะที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ พื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2558 มีจำนวน 6,722 แห่ง มีพื้นที่ 120.51 ตารางกิโลเมตร  คิดเป็นร้อยละ 7.7 ของพื้นที่ทั้งหมด (ข้อมูลจากรายงาน:การเปรียบเทียบพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานครระหว่าง พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2558 ; กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร) ซึ่งหากจะเรียนรู้จากบทเรียนของต่างประเทศ พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยจำนวนมากให้กับเมืองได้  แต่ในกรุงเทพมหานครพื้นที่เหล่านี้ยังคงถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

Land Sharing’ แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต จึงเป็นพื้นที่ของการเชื่อมประสานคนที่มีที่ดิน เจ้าของที่ดินในเมืองที่มีพื้นที่เหลือทิ้งว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และสนใจอยากเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นมาปลูกผัก ทำเกษตร สร้างพื้นที่อาหารที่ดี  กับคนอื่นๆ ที่สนใจอยากปลูกผักเป็นอาหาร เพื่อบริโภคและแบ่งปันกัน แต่อาจจะไม่มีพื้นที่เพียงพอ ให้ได้มาเจอกัน  และร่วมเรียนรู้ ร่วมทำ ร่วมสร้างพื้นที่อาหารที่สด สะอาด ปลอดภัยของทุกคนไปพร้อมๆ กัน  ซึ่งในปีนี้มีทั้งหมด 7 โครงการต้นแบบ ที่เราจะขอแนะนำ เผื่อว่าท่านใดสนใจ อยู่ใกล้เคียง อยากจะไปร่วมแบ่งปัน ร่วมเรียนรู้ ร่วมลงมือทำกับพวกเขาได้ พวกเขาก็ยินดีนะคะ

1. โครงการ “ปลูก ปัน กิน” โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ ถ.งามวงศ์วาน อ.เมือง จ. นนทบุรี  

  • Land Sharing’  บนพื้นที่ของโรงเรียนกว่า 1,200 ตร.ม.  ถูกนำมาแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ ขนาด 1 x 2 เมตร เพื่อแบ่งปันผืนดินแห่งความหวังนี้ ให้เด็กๆ คุณครู ผู้ปกครอง คนในชุมชนใกล้เคียงที่สนใจได้มาใช้ประโยชน์ ไถพรวนความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน หว่านเมล็ดพันธุ์ให้เติบโต เป็นอาหารที่สด สะอาด มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโต สร้างพัฒนาการที่ดีของเด็กๆ  และการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน ทั้งหมดนี้มาจากความตระหนัก และเห็นความความสำคัญเรื่องสุขภาวะแก่เด็ก ทั้งด้านพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจและสังคม ที่เชื่อมโยงกับเรื่องอาหารการกิน การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กๆ โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์หวังว่า การเพาะปลูก การทำเกษตรกรรม จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติ ในการดูแลพื้นที่ปลูกต้นไม้ ผัก พืช เพื่อการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้น อย่างมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเอง รู้จักการแก้ปัญหาและการพึ่งพาตนเอง  สร้างความรัก ความห่วงใยระหว่างตนเอง ครอบครัวและชุมชน

2. โครงการ “สวนผัก City Resort” ซิตี้รีสอร์ท รัชดา-ห้วยขวาง

  • โครงการซิตี้รีสอร์ทรัชดา-ห้วยขวาง เป็นโครงการที่พักอาศัยขนาด 11 ไร่ จำนวน 5 อาคาร และมีห้อง 875 ห้องชุด ผู้พักอาศัยประมาณ 1,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำงานบริษัท เช้าไปเย็นกลับ และการรับประทานอาหารก็จะใช้แบบสำเร็จรูปและซื้อผักมารับประทานจากผักในตลาดโดยทั่วไป ทางคณะกรรมการนิติบุคคลฯจึงได้มีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ส่วนกลางที่ว่าง ขนาดพื้นที่ 120 ตารางเมตร นำมาใช้ประโยชน์ให้กับชุมชนจึงได้ร่วมกันริเริ่มทำแปลงผักสวนครัวปลอดสารพิษขึ้น ซึ่งผลผลิตที่ได้จะแบ่งปันกันรับประทานส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้กับผู้พักอาศัยที่อยู่ในโครงการให้ได้รับประทานผักที่มีประโยชน์และปลอดสารเคมีต่างๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมความสามัคคีและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ปัจจุบันพื้นที่แปลงผักถูกแบ่งปันให้กับเจ้าหน้าที่ แม่บ้าน และพนักงานที่ดูแลโครงการฯ นี้เป็นหลัก แต่ในอนาคตก็วางแผนไว้ว่าจะเชิญชวนให้สมาชิกในห้องชุด ลูกบ้านที่สนใจได้เข้ามาร่วมแบ่งปันพื้นที่ เพื่อเพาะปลูกผัก และทำกิจกรรมร่วมกันเพิ่มมากขึ้น

 

3. โครงการ ‘Freedom  Sharing’  สวนเกษตรเสรีชน ตำบลรังสิต อ.ธัญบุรี  จ.ปทุมธานี       

  • สมาชิกของโครงการ ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรม ชื่อกลุ่มว่า “ค่ายอาสาพัฒนาชนบทกลุ่มเสรีชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง” ซึ่งมีสมาชิกที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มประมาน 40 คน มีความคิดที่อยากจะมีรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งทางกลุ่มมีความเห็นที่ตรงกันคืออยากทำเกษตรกรรม เมื่อปีที่ผ่านมาได้รวมกลุ่มกันไปขอเช่าพื้นที่ของรุ่นพี่ที่รู้จักกันในอำเภอลำลูกกา ซึ่งพื้นที่ในนั้นได้ทำสวนเกษตรอยู่แล้ว ในพื้นที่จะมีการปลูกมะนาว มะม่วง และกล้วย  ในราคา 60,000 บาทต่อปี จำนวน 30 ไร่ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้มาใช้ประโยชน์เพื่อทำเกษตร เพาะปลูกพืชผักสำหรับบริโภค และจำหน่ายเป็นรายได้  โดยทุกคนมีความฝันร่วมกันว่า อยากจะทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่พื้นที่ของการทำเกษตร ที่สามารถเลี้ยงตังเองได้ เป็นพื้นที่ที่รุ่นน้องจะได้เข้ามาเรียนรู้ และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น

 

4.โครงการ ‘Urban garden เกษตรกรรมยั่งยืน’ ซอยพหลโยธิน 53

  • บนพื้นที่ประมาณ 700 ตารางวา ท้ายซอยพหลโยธิน 53 พี่อั้น ก้องเกียรติ หรือในวงการสวนผักคนเมืองจะรู้จักกันในนาม “เจ้าชายสัตว์” ได้ขอเช่าพื้นที่นี้จากเจ้าของที่ดิน เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อทำเกษตรกรรม โดยมีโจทย์สำคัญของตัวเองว่า “ถ้าเรามีพื้นที่เพียงเท่านี้ เราจะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารของตัวเองได้หรือไม่? อะไรที่เราสามารถพึ่งตัวเองได้ อะไรคือรายได้หลัก อะไรคือรายได้เสริม”มาเจอกับอาจารย์เติ้ล นักวิชาการด้านการปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพ สมาชิกโครงการฯปีที่ผ่านมา ได้กับเจอกับพี่อั้น พร้อมกับ “โครงการ Urban garden เกษตรกรรมยั่งยืน” ที่อ.เติ้ล ผลักดันลูกศิษย์ให้ได้ยกระดับขึ้นมาขอรับทุนสนับสนุนสร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในประเด็น Land sharing ‘แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต’ ทำให้ความฝัน การออกแบบ/การบริหารจัดการพื้นที่ การศึกษาวิจัย กำลังแรงงาน และการเรียนรู้ได้มาเจอกัน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 จนถึงวันนี้ พื้นที่แห่งนี้ได้พยายามพัฒนาไปสู่ความมั่นคงทางอาหารกลางกรุง ผ่านการออกแบบและจัดสรรพื้นที่ มีการใช้พื้นที่เต็มศักยภาพมากขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 – 6 ส่วนสำคัญ ดังนี้
    • 1) พื้นที่ทำปศุสัตว์ ที่จะเป็นแหล่งโปรตีน รายได้เสริม และปัจจัยการผลิตปุ๋ย ที่มีการเลี้ยงปลา ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด แพะ ควาย และม้า
    • 2) พื้นที่ปลูกผัก ที่ออกแบบแปลงผักเอาไว้ 2 ส่วน ในฤดูกาลปกติก็ปลูกผักด้านล่าง แต่ในช่วงหน้าฝนที่จะมีปัญหาน้ำท่วมขัง ก็ได้เตรียมพื้นที่ปลูกผักบนขอบบ่อน้ำเอาไว้ด้วย เพื่อจะได้ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ในช่วงน้ำท่วมได้ และในฤดูน้ำท่วม พื้นที่แปลงผักก็จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวแทน
    • 3) พื้นที่ทำปัจจัยการผลิต ที่สำคัญที่ทำเอง คือ ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ที่มีอยู่
    • 4) พื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ มีการแบ่งพื้นที่อีกเล็กน้อยสำหรับการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ด้วย
    • 5) พื้นที่กักเก็บน้ำที่มีการขุดบ่อไว้กักเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จำนวน 3 บ่อ
    • 6) พื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พักผ่อนให้กับคนและสัตว์ ให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้การเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในเมือง เพื่อให้คนในชุมชนได้มีอาหารที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดเป็นกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกัน
  • ติดต่อ อ.เติ้ล ได้ที่ 094-239-4263

 

5.โครงการ  ‘ปลูก ปัน ปลอดภัย ปะกันในสวนพุทธมณฑลสาย 2  ซอย 27 แขวงศาลาธรรมสพน์ 

  • สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบโดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเดินทางและการทำงานตามอาชีพของตน จึงไม่ได้มีเวลาในการดูแลจัดการอาหารการกินของตนเองมากนัก  เราซื้ออาหารสำเร็จรูปรูปที่พร้อมทานที่หาได้ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน ทั้งมื้อเช้าและกลางวัน ส่วนในมื้อเย็นเราก็เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานจนไม่อยากจะมานั่งทำอาหารกินเอง เมื่อรูปแบบการกินและการใช้ชีวิตแบบนี้วนไปซ้ำๆบางคนก็เริ่มจะเกิดปัญหาสุขภาพ  ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยในการกินอาหารที่เกิดขึ้น หลายคนจึงเริ่มหันมาสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชผัก ไว้บริโภคเอง เกิดแรงใจที่จะชักชวนรวมตัวกันเพื่อลงมือทำในสิ่งที่เรามีความสนใจร่วมกันที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตการกินอยู่ของตัวเราและสังคมรอบข้างได้เข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ภายใต้ข้อจำกัด เงื่อนไขชีวิตแบบคนเมือง ทำให้สนใจที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน โดยเริ่มจากตัวเราเอง และจึงค่อยเชื่อมโยงขยายเครือข่ายสู่คนรอบข้าง ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่ม Farm Friends ชื่อที่ตั้งขึ้นมาจาก ความรู้สึก ของการอยากมีเพื่อน  อยากเจอเพื่อน ที่มีความสนใจอะไรบางอย่างที่คล้ายกัน ซึ่งเราจึงอยากมีพื้นที่ที่ทำให้เราได้มาเจอกัน มาลงมือทำอะไรบางอย่างร่วมกัน มาแลกเปลี่ยน มาแบ่งปัน มาพักผ่อน มาเติมพลัง   และที่ที่เราอยากให้เพื่อนเหล่านี้มาเจอกัน ก็ คือใน สวน ที่มีพืชผักพรรณไม้อันรื่นรมย์  จึงเป็นที่มาของความหมายที่มา   เพื่อนที่เจอกันในสวน  ขนาด  2 ไร่ ที่ยังอยากเชิญชวน และรับสมัครเพื่อนๆ ที่สนใจมาทำสวนด้วยกันนะจ้ะ
  • ติดต่อ โอ 086-677-4157 ไอดีไลน์: uncle_old

 

6.โครงการ ‘สวนเกษตรอินทรีย์ ทีเอสทีรุ่งโรจน์’ ซ.รุ่งโรจน์ ต. แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

  • โครงการนี้เกิดจากการรวมกลุ่มเฉพาะกิจของสมาชิกที่อาศัยในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ที่ต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและพัฒนาพื้นที่ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยเริ่มจากการแบ่งปันพื้นที่ของคุณเจิน ผู้รับผิดชอบโครงการ ที่สนใจเรื่องการกินอาหารออร์แกนิค และอยากมีพื้นที่อาหารปลอดภัยของตนเอง แต่ด้วยยังขาดประสบการณ์ และความรู้ จึงทำให้ไม่มั่นใจนักว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ จึงเปิดพื้นที่ของตนเองขนาดมากกว่า 1 ไร่ ให้กับเพื่อนๆ พนักงานในโรงงาน คนงาน ตลอดจนคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้สมัครเป็นสมาชิกมาร่วมเรียนรู้ และสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยของทุกคนร่วมกัน  ทั้งนี้ก็เพื่อใช้พื้นที่ส่วนกลาง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยและสดใหม่ โดยผลผลิตที่ได้จะแจกจ่ายให้กับสมาชิก และคนในชุมชน ได้แก่ พนักงานในโรงงาน เพื่อนบ้าน เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ เพื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเพาะปลูกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อมสร้างความหลากหลายในการบริโภค ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือน เพิ่มคุณภาพชีวิตสมาชิกทุกคน

 

7.โครงการ ‘พาวเวอร์ทรี ดินดี ผักปลอดภัย’ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีทฤษฎีใหม่และกลุ่มคนทำดินพื้นถิ่นดั้งเดิม หมู่ 5 ต.ลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

  • เป๋นโครงการที่มีพื้นที่อยู่ชานเมือง และเป็นพื้นที่เกษตรดั้งเดิม เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แบ่งปันพื้นที่ภายในศูนย์เรียนรู้ให้กับเพื่อนบ้าน เกษตรกรในชุมชนได้มาใช้ประโยชน์สำหรับการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี  การปฏิบัติงานร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด 10 คน จะเริ่มเข้าปฏิบัติงานในแปลงแบ่งเป็นชุดสลับกันครั้งละ 5 คน ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะกล้า การปลูก และการขยายพันธุ์อย่างง่าย รวมถึงการดูแล ใส่น้ำหมัก ฉีดสารสมุนไพรไล่แมลง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลไส้เดือน  โดยทุกคนจะร่วมกันรับผิดชอบผัก 15 ชนิด ซึ่งจะเรียกว่า “ผักหลัก” และจะให้อิสระในการปลูกผักเสริมตามที่ตนต้องการควบคู่ไปด้วย เมื่อถึงช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว จะแบ่งผลผลิตหรือผลประโยชน์ 80% อีก 20% เก็บไว้เพื่อใช้เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าน้ำมันวิดน้ำหรือค่าซ่อมบำรุงระบบน้ำ