พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารกลางกรุง

หลายๆ คนคงเคยตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า “เมือง” อย่างกรุงเทพมหานครนั้น จะสามารถมีพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารได้หรือไม่  นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โครงการสวนผักคนเมืองเองก็ได้พยายามพัฒนาให้เกิดพื้นที่ต้นแบบการพึ่งตนเองด้านอาหาร พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและรูปธรรมจริงของเมืองและคนเมือง ว่าจะสามารถทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ และในปีนี้ ทางโครงการก็ได้สนับสนุนทุนโครงการขนาดเล็ก จำนวน 25 โครงการ เพื่อให้คนเมืองได้รวมกลุ่ม ลงแรงช่วยกันเพาะปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีใดๆ เพื่อเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะการเกษตร ที่จะสามารถเชื่อมโยงให้พวกเขาได้เข้าถึงอาหารที่ดี สด สะอาด ปลอดภัย และการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน  ด้วยความหลากหลายของกลุ่มคน พื้นที่ เป้าหมาย ฯลฯ ที่ขอรับทุนสนับสนุนในปีนี้  เราคาดหวังว่าจะเกิดพื้นที่ต้นแบบ/รูปธรรมการสร้างความมั่นคงทางอาหารกลางกรุง ที่จะส่งต่อโอกาส ความมั่นใจ และแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นต่อไป

และนี่ก็น่าจะเป็นอีกต้นแบบหนึ่งของการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารกลางกรุง ที่เราอยากนำเรื่องราวของพวกเขามาเล่าสู่กันฟัง บนพื้นที่ประมาณ 700 ตารางวา ท้ายซอยพหลโยธิน 53 พี่อั้น ก้องเกียรติ หรือในวงการสวนผักคนเมืองจะรู้จักกันในนาม “เจ้าชายสัตว์” ได้ขอเช่าพื้นที่นี้จากเจ้าของที่ดิน เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อทำเกษตรกรรม โดยมีโจทย์สำคัญของตัวเองว่า “ถ้าเรามีพื้นที่เพียงเท่านี้ เราจะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารของตัวเองได้หรือไม่? อะไรที่เราสามารถพึ่งตัวเองได้ อะไรคือรายได้หลัก อะไรคือรายได้เสริม”

พี่อั้นเล่าให้ฟังว่า เมื่อปีที่แล้วได้ทดลองปลูกผัก จำนวน 8 แปลง ประกอบกับมีพื้นฐานความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์อยู่แล้ว ในพื้นที่แห่งนี้จึงมีทั้งแปลงผัก ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด แพะ และเลี้ยงปลาในบ่อ ทดลองดูว่าใน 1 สัปดาห์จะพึ่งตนเองด้านอาหารได้หรือไม่ และยังต้องพึ่งอะไรจากภายนอกอีกบ้าง ผลการทดลองน่าสนใจมาก เพราะใน 1 สัปดาห์นั้น พี่อั้นมีอาหารที่ได้จากพื้นที่แห่งนี้เพียงพอ เพราะมีผักที่ปลูกเอง มีไข่ไก่ ไข่เป็ด เนื้อปลา เนื้อไก่ทาน แถมยังมีรายได้จากการรีดนมแพะขายอีกด้วย ที่เหลือก็มีเพียงข้าวเท่านั้นที่ยังต้องซื้อจากภายนอก“หากเป็นเช่นนั้น แล้วถ้าจะพึ่งตนเองด้านอาหารให้ได้ 1 เดือน 3 เดือน …1 ปี ล่ะจะเป็นไปได้ไหม? ถ้าหากบริหารจัดการพื้นที่ให้ดีขึ้น ใช้พื้นที่ให้เต็มศักยภาพมากขึ้น พร้อมกับบริหารความเสี่ยงจากฤดูกาลด้วย…”

และด้วยความโชคดีที่เหมือนจะจัดสรรอย่างลงตัว ให้อาจารย์เติ้ล นักวิชาการด้านการปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพ สมาชิกโครงการฯปีที่ผ่านมา ได้กับเจอกับพี่อั้น พร้อมกับ “โครงการ Urban garden เกษตรกรรมยั่งยืน” ที่อ.เติ้ล ผลักดันลูกศิษย์ให้ได้ยกระดับขึ้นมาขอรับทุนสนับสนุนสร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในประเด็น Land sharing ‘แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต’ ทำให้ความฝัน การออกแบบ/การบริหารจัดการพื้นที่ การศึกษาวิจัย กำลังแรงงาน และการเรียนรู้ได้มาเจอกัน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 จนถึงวันนี้ พื้นที่แห่งนี้ได้พยายามพัฒนาไปสู่ความมั่นคงทางอาหารกลางกรุงอย่างไรบ้าง

1. การออกแบบและจัดสรรพื้นที่ มีการใช้พื้นที่เต็มศักยภาพมากขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 – 6 ส่วนสำคัญ ดังนี้ 1) พื้นที่ทำปศุสัตว์ ที่จะเป็นแหล่งโปรตีน รายได้เสริม และปัจจัยการผลิตปุ๋ย ที่มีการเลี้ยงปลา ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด แพะ ควาย และม้า 2) พื้นที่ปลูกผัก ที่ออกแบบแปลงผักเอาไว้ 2 ส่วน ในฤดูกาลปกติก็ปลูกผักด้านล่าง แต่ในช่วงหน้าฝนที่จะมีปัญหาน้ำท่วมขัง ก็ได้เตรียมพื้นที่ปลูกผักบนขอบบ่อน้ำเอาไว้ด้วย เพื่อจะได้ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ในช่วงน้ำท่วมได้ และในฤดูน้ำท่วม พื้นที่แปลงผักก็จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวแทน 3) พื้นที่ทำปัจจัยการผลิต ที่สำคัญที่ทำเอง คือ ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ที่มีอยู่ 4) พื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ มีการแบ่งพื้นที่อีกเล็กน้อยสำหรับการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ด้วย 5) พื้นที่กักเก็บน้ำที่มีการขุดบ่อไว้กักเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จำนวน 3 บ่อ 6) พื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พักผ่อนให้กับคนและสัตว์

2. การพัฒนาคุณภาพ ปรับปรุงดินในเมืองให้มีความเหมาะสม มีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ความแข็งแรงสมบูรณ์ของพืชผัก โดยออกแบบร่วมกับการศึกษาวิจัยการปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพ

3. การหมุนเวียนผลผลิต วัตถุดิบในพื้นที่ มาทำปัจจัยการผลิต เช่น การนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมักสำหรับบำรุงพืชผัก ในอนาคตก็อาจจะมีฟางจากนาข้าวของตัวเองด้วย

4. การเปิดพื้นที่เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน พื้นที่แห่งนี้ได้ให้ความสำคัญและทำหน้าที่ของการเป็น Land sharing ได้อย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาของสาขาเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.พระนคร กว่า 30 คน ได้ใช้พื้นที่สำหรับการทดลอง ลงมือปฏิบัติติตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน การเตรียมตัวสำหรับการฝึกภาคปฏิบัติแล้ว ยังได้เปิดให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาทำกิจกรรม มาเรียนรู้เรื่องราวของการเกษตร การพึ่งตนเองด้านอาหารอีกด้วย ในวันหยุดเสาร์–อาทิตย์ก็มักจะมีเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรม มาเรียนรู้ รวมถึงช่วงเย็นๆ ชาวบ้านแถวนั้นก็จะเดินเข้ามาพูดคุย ขอแบ่งปันผักไปทาน

นี่คงจะเป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และความมั่นใจให้กับคนเมืองอีกหลายคน ที่มีความฝันว่าอยากจะลงมือทำเกษตร มีพื้นที่อาหารของตนเอง และเชื่อมสู่ความมั่นคงทางอาหารของเมือง

พี่อั้นได้พูดถึงหัวใจสำคัญของความคิดและความฝันของตัวเอง ที่เราอยากจะนำมาบอกต่อกับหลายๆ ท่านที่อาจจะมีความฝันแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ บางท่านอาจจะลงมือทำแล้วแต่รู้สึกท้อถอย

พี่อั้นได้พูดกับเราว่า “การสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองนั้นทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จ ต้องใช้คำว่า “สู้” อย่ายอมแพ้กับอะไรง่ายๆ เพราะการทำเกษตรมันเป็นการทำงานกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เราจึงต้องอาศัยการสังเกต การเรียนรู้ที่จะเข้าใจความเป็นไปของมัน การเติบโตของมัน อีกอย่างการปลูกผักกับการเลี้ยงสัตว์มันมีความสัมพันธ์กัน เราอาจจะไม่สามารถให้ความสำคัญเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพราะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน พอเราเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง แล้วเรียนรู้ในพื้นที่ของเราไปพร้อมๆ กัน เราจะเห็นว่าระบบนิเวศในพื้นที่รอบตัวเรามันเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างมันดีขึ้น มันฟื้นคืนกลับมา เราจะรู้สึกมีความสุข เราจะรักระบบนิเวศแบบนี้ อยากมีชีวิตอยู่ในพื้นที่แบบนี้ แล้วเราก็อยากให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาสัมผัส รับรู้ และรู้สึกรักในระบบนิเวศแบบนี้ กลับไปช่วยกันสร้าง ช่วยกันฟื้นฟูให้มันเกิดขึ้นทุกที่ในเมือง”

ขอขอบคุณเรื่องราวของความสุขบนพื้นที่แห่งนี้

พี่อั้น ก้องเกียรติ

อ.เติ้ล

และน้องๆ นักศึกษาทุกคน นะคะ ^^