พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน: พืชสมุนไพรไทย

(Ethnobotany: Thai Medicinal Plants)

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยได้สะสมความรู้และภูมิปัญญาของพืชท้องถิ่นมานานนับร้อยปี พืชท้องถิ่นหลายร้อยชนิดมีถิ่นอาศัยตามป่าธรรมชาติ พืชหลายชนิดได้ถูกใช้เป็นยารักษาโรคตามตำรับหมอพื้นบ้านซึ่งทุกหมู่บ้านมีผู้รู้เรื่องพืชพันธุ์ การนำมาใช้ทำยา ผู้รู้เหล่านี้ถูกเรียกว่า “หมอยา หรือ หมอพื้นบ้าน” ซึ่งเก็บรักษาพืชเหล่านั้นไว้ มีตำรายาสำหรับรักษาโรค ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

“พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน” (ethnobotany) เป็นศาสตร์ทางพฤกษศาสตร์หรือองค์ความรู้การใช้ประโยชน์พืชพื้นบ้านในชีวิตประจำวัน ซึ่งพืชพื้นบ้านสามารถแบ่งได้เป็น พืชอาหาร พืชให้สีแต่งอาหารและให้สีย้อม พืชมีพิษ พืชที่ใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร

“พืชสมุนไพร” คือ พืชที่ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรค เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าเขตร้อน ซึ่งเป็นเขตกระจายพันธุ์พืชจาก 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ Indo-Chinese พื้นที่ Indo-Malaya และพื้นที่ Indo-Bermese จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ประเทศไทยจะมีพืชสมุนไพรหลายร้อยชนิดและถูกนำมาใช้รักษาโรคตามหลักแพทย์แผนโบราณมาหลายร้อยปี อาทิ การนวดแผนไทย ยาต้ม เวชกรรมไทยและการใช้ยาจากพืชสมุนไพร อย่างไรก็ตามผู้ใช้สมุนไพรจำต้องรู้วิธีการใช้ เนื่องจากพืชสมุนไพรสามารถก่อให้เกิดพิษได้หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะดังนี้

  • องค์ความรู้มีความเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน
  • ภูมิปัญญาได้ผ่านการทดลองจนสะสมเป็นประสบการณ์มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
  • องค์ความรู้ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
  • ยาสมุนไพรถูกผลิตและใช้ภายในท้องถิ่นเอง
  • ยาสมุนไพรถูกผลิตภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

จากหลักแพทย์แผนไทย สมุนไพรแบ่งได้ออกเป็น 10 รส ซึ่งแต่ละรสจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดพืชและเหมาะต่อกลุ่มโรคที่ต่างกัน อีกทั้งพืชสมุนไพรบางชนิดอาจมีรสได้มากกว่า 1 รส เช่น แห้ว มีฤทธิ์เป็นรสหวานและรสมัน จากตารางด้านล่างสรุปรสของสมุนไพร การรักษาโรคและตัวอย่างพืชสมุนไพรในแต่ละรส

โดยทั่วไปแล้วผักสวนครัวที่บริโภคในครัวเรือนมีฤทธิ์เป็นยาอยู่แล้ว ซึ่งทั้งไทยและต่างประเทศก็ปรากฏการปลูกพืชสมุนไพรไว้บริโภคตามบ้านเรือน ซึ่งให้ประโยชน์ในแง่แหล่งผลิตอาหารไว้ใช้เอง สร้างสุขพลานามัยและโภชนาการที่ดี เกิดการพึ่งพาตนเอง และลดค่าใช้จ่ายทั้งในระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับชุมชน หากผลผลิตเกินความต้องการสามารถนำมาขายเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย จากภาพด้านล่างแสดงผักหรือสมุนไพรที่นิยมปลูกในสวนครัว อาทิเช่น ถั่ว เผือก ฟักทอง มันหวาน ขิง ถั่วผักยาว เป็นต้น

ที่มา FAO, 1995

ในเมืองไทย ผู้อาศัยในเมืองเช่น คนเมืองกรุงเทพ มักอาศัยตามตึกแถว คอนโด อพาร์ตเมนต์ หรือห้องเช่า จึงมักประสบปัญหาพื้นที่เพาะปลูกน้อยดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนเมืองสามารถผลิตพืชสมุนไพรไว้ใช้ในครัวเรือนเช่นสวนผักในเขตเมือง พืชสมุนไพรชนิดไม้ต้นหรือไม้พุ่ม อาจไม่เหมาะต่อการทำเกษตรในพื้นที่เมือง พืชสมุนไพรกลุ่มล้มลุกและไม้เถาจึงเหมาะสมต่อการทำสวนสมุนไพรในครัวเรือนในเมืองมากกว่า จากตารางด้านล่างแสดงตัวอย่างชนิดพืชสมุนไพรแยกตามลักษณะสัณฐานวิทยา

สืบเนื่องจากกิจกรรมอบรมในโครงการอบรมวิชาการเกษตรสำหรับประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของกทม. หัวข้อ “พืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสุขภาพไทยและโครงการสวนผักคนเมืองในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา คุณวิโรจน์   ปลอดสันเทียะ ได้แนะนำพืชสมุนไพรพร้อมสรรพคุณในครัวเรือนได้ภาพด้านล่าง

ท้ายที่สุดแล้ว การสาธารณสุขในระดับสากลได้เห็นความสำคัญหลักการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยหลายรายได้หันมาใช้บริการรักษาตามศาสตร์การแพทย์ทางเลือกควบคู่การรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สมุนไพรมาช่วยบำรุงสุขภาพและรักษาโรคกันมากขึ้น เนื่องจากยาแผนปัจจุบันบางชนิดมีผลข้างเคียงต่อร่างกายสูงและมีราคาแพง ดังนั้น “การผลิตพืชสมุนไพรไว้ใช้เองในครัวเรือนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองที่อยากรักษาสุขภาพหรือมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาตามร้านค้า เนื่องจากโรคทั่วไปสามารถรักษาให้หายขาดด้วยสมุนไพรในครัวเรือนได้” ในอนาคตสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้านจะทรงคุณค่ามากขึ้น เนื่องจากกระแสหัวใจที่เขียวที่รักธรรมชาติของประขาคมโลกจะให้การยอมรับมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

แหล่งที่มาของข้อมูล:

https://medthai.com/

http://www.qsbg.org/webBGO/about_history.html

https://herbalmedicinebuu.wordpress.com/วิวัฒนาการยาไทย/รสของยา

https://www.researchgate.net/publication/237617550_The_role_of_Thai_traditional_medicine_in_health_promotion

http://www.fao.org/tempref/docrep/fao/X0051t/X0051t02.pdf

http://www.dnp.go.th/botany/Botany_Eng/FloraofThailand/FloraMeeting_Eng/flora_Eng_meeting13._scientificPrograme1.html

https://www.researchgate.net/publication/282703886_Urban_Ethnobotany_Theoretical_and_Methodological_Contributions