ดินหมัก-ปุ๋ยหมัก-น้ำหมัก ใช้เมื่อไหร่ดี

โดย Supparit Thaweekiat ใน เมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก

ดินหมัก-ปุ๋ยหมัก-น้ำหมัก เอามาใช้เมื่อไหร่ดี? นาน 3 เดือนเลยดีไหม?

เห็นมีคนกล่าวถึงความเชื่อเรื่องหมักนานๆ 3 เดือน แล้วค่อยเอามาใช้ เหมือนหมักไวน์ ผมเลยเรียบเรียงสิ่งที่ได้ศึกษามา ผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ว่ากันไป โปรดใช้วิจารณญาณ

1. กรณีปุ๋ยหมัก/ดินหมัก โดยเน้นใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการออกซิเจนช่วยย่อยสลาย ไม่ต้องกลับกอง ไม่ต้องเติมอากาศ ระยะเวลา 3 เดือน ถือว่า เหมาะสมครับ เป็นระยะเวลาที่อินทรีย์วัตถุย่อยสลายได้ที่ เลยกว่านี้ อัตราการย่อยสลายก็ยังมีอยู่ แต่น้อยลงไปมาก ไม่คุ้มกับการรอคอย

การหมักรูปแบบนี้ ข้อดีคือ ไม่เหนื่อย ไม่ต้องกลับกอง ข้อเสียคือ รอนานมาก เหมาะสมกับการทำดินหมักในปริมาณมากๆ และเนื่องจากข้อเสียมันรอนานมาก วิธีนี้จึงไม่ค่อยนิยมทำกันครับ นิยมหมักโดยเน้นใช้จุลินทรีย์กลุ่มที่ต้องการออกซิเจนมากกว่า เพราะกลุ่มนี้ย่อยสลายได้ไวและเก่ง ทำให้ถูกต้อง ด้วยรูปแบบการหมักทีละน้อยๆ ใช้ระยะเวลาหมัก 7 วัน ก็ใช้ได้แล้ว

การหมักด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ใช้ออกซิเจนรูปแบบอื่นๆ ใช้ระยะเวลาแตกต่างกันดังนี้

  • กองปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศด้วยลมแอร์ ใช้เวลาหมัก 10-15 วัน (แนะนำที่ 15 วัน)
  • กองปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศด้วยมอเตอร์เป่าอากาศผ่านท่อ ใช้เวลาหมัก 1 เดือน
  • กองปุ๋ยหมักแบบกลับกองทุกๆ 3 วัน ใช้เวลาหมัก 2 เดือน

2. กรณีน้ำหมักเพื่อใช้กับต้นไม้ ไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลาการหมัก 3 เดือน ขึ้นไป  สามารถใช้ได้ก่อนหน้านั้นครับ ใช้ที่ระยะเวลาเท่าไหร่ ลองอ่านข้อมูลต่อไปนี้ก่อน

ว่ากันว่า มีการหมัก 2 ประเภทใหญ่ๆ

  1. หมักสกัดสาร หมักแล้วผ่านไปหลายเดือน วัสดุหมักก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนรูป สิ่งที่ได้จะเป็นสารต่างๆ ที่ออกมาแทน
  2. หมักย่อยสลาย หมักแล้วผ่านไปหลายเดือน วัสดุหมักเปลี่ยนหน้าตาไปเลย เช่น หมักปลา รกหมู

ใน 1 ถัง จึงอาจเกิดการหมักที่ว่าได้ทั้ง 2 แบบ อย่างสับปะรดที่ผมหมัก ช่วงแรกๆ ยังเป็นชิ้นๆ เลยครับ ผ่านไป 4 เดือน ก็เละหมดแล้ว ดังนั้น ช่วงแรก มันจึงเป็นการหมักแบบสกัดสารก่อน แล้วค่อยตามด้วยการย่อยสลายในภายหลัง

ผลผลิตจากน้ำหมัก เท่าที่ผมทราบ

  1. แร่ธาตุอาหาร ปริมาณของแร่ธาตุมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้หมัก แต่โดยทั่วไป ปริมาณแร่ธาตุอาหารไม่ได้มากเพียงพอ จะเข้าข่ายคำว่า “ปุ๋ย” ตามนิยามใน พ.ร.บ. ปุ๋ย ได้ ยกเว้นแต่ผู้ผลิตบางรายที่ได้ควบคุมคุณภาพของวัสดุเป็นอย่างดี ก็อาจเป็นไปได้
  2. จุลินทรีย์ เติมสมดุลให้กับวัสดุปลูก/ดิน
  3. ฮอร์โมนพืชตามธรรมชาติ เร่งการเจริญเติบโตของพืช
  4. กรดอินทรีย์ เร่งการเจริญเติบโตของพืช

ดังนั้น เราจึงสามารถแบ่งการใช้น้ำหมักแยกตามผลผลิตได้ดังนี้ (ไม่นับแร่ธาตุอาหาร ซึ่งมีน้อย อย่างไม่มีนัยยะสำคัญอะไรมากนัก)

  1. การใช้น้ำหมักโดยมุ่งเน้นจุลินทรีย์ จึงใช้ได้ตั้งแต่ 3-7 วัน เป็นต้นไป เพราะจุลินทรีย์กำลังเพิ่มจำนวนมากๆ หลังจากนี้ ปริมาณจุลินทรีย์จะเริ่มลดลงเรื่ีอยๆ
  2. การใช้น้ำหมักโดยมุ่งเน้นฮอร์โมนและกรดอินทรีย์ จึงใช้ได้หลังหมัก 1 เดือนเป็นต้นไป หรือดูว่าไม่มีฟองแล้ว (หมดกิจกรรมจุลินทรีย์) หลังจากนี้ปริมาณฮอร์โมนและกรดอินทรีย์จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน

จะเห็นว่าแม้ว่าจะเก็บน้ำหมักดีเพียงใดก็ตาม หากเลยเดือนที่ 6 ไปแล้ว ปริมาณของสิ่งที่ต้องการก็จะยิ่งลดลงมากๆ และหลัง 1 ปี ก็จะมีน้อยมาก

กลยุทธ์ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง

  1. หมักทีละน้อยๆ ทำหลายๆ ถัง ให้มีใช้ทุกๆ ครั้งๆ สลับหมุนเวียนกันไป กลยุทธ์นี้จะได้ประโยชน์ดีที่สุด เพราะปริมาณของสิ่งที่ต้องการจะสดใหม่และแข็งแรงตลอดเวลาที่ใช้ แต่ก็ค่อนข้างวุ่นวาย ต้องมีระบบการวางแผนการผลิตดีๆ นิดหน่อย
  2. หมักทีละเยอะๆ ใช้ทีเดียวยาวเลย แต่ไม่เกิน 6 เดือน ช่วงแรกก็ได้จุลินทรีย์ ช่วงหลังๆ ที่หมักจะได้ฮอร์โมนและกรดอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีจุลินทรีย์อยู่ เพียงแต่ปริมาณน้อยลง กลยุทธ์นี้ดีตรงที่ไม่ต้องวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กลยุทธ์ ควรใช้คู่กับกลยุทธ์หลักคือปรุงดินให้ดี เพราะหากปรุงดินหมักดีๆ แล้ว ไม่ใช้น้ำหมักชีวภาพเลย ก็ให้ผลผลิตดีในระดับหนึ่ง แม้ผลผลิตจะไม่ดีที่สุด แต่ก็ลดภาระความวุ่นวายลงไปได้มาก

หวังว่า ผู้อ่านที่อ่านบทความนี้แล้ว หากยังซื้อน้ำหมักชีวภาพบรรจุขวดที่ขายๆ กันอยู่ ก็ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า มีโอกาสที่ซื้อแล้ว จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรดังนี้

  1. การจัดเก็บไม่ดี ถูกแสงแดด จุลินทรีย์ตายเกลี้ยง ฮอร์โมนและกรดอินทรีย์ลดลง (แร่ธาตุอาหารลดลงน้อย แต่ของเดิมที่ไม่ถูกแสงแดดก็มีน้อยอยู่แล้ว)
  2. น้ำหมักเก่า นานเกิน 6 เดือน หรือเกิน 1 ปี ประโยชน์จะน้อยลงไปมาก ไม่ว่ามองในแง่ใด