ช่วยด้วย แมลงมา

ในปัจจุบันกระแสโลกต้องการบริโภคอาหารที่เป็นเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) ในการผลิตเราจึงต้องใช้สารป้องกันศัตรูพืชและกำจัดโรคพืชที่เป็นมิตรต่อทั้งร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาทำเป็นสารควบคุมแมลงและป้องกันโรคพืชได้มากมาย การพัฒนาเทคนิคการเตรียมสาร เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่าย ปลอดภัยและได้ผล จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถลดสารพิษตกค้างและลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงและกำจัดโรคได้ การเตรียมสารสกัดจากพืชมีรายละเอียด ดังนี้

1. การเลือกพืชสมุนไพร  ควรเป็นพืชในท้องถิ่น หาง่าย และเลือกพืชที่รับประทานได้ แต่เป็นพิษต่อแมลง ตามตัวอย่างในตาราง

                  ชนิดพืช                                     แมลงที่ควบคุม

  • สะเดา                                หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนอื่นๆ
  • ขมิ้นชัน                             หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนอื่นๆ
  • หนอนตายหยาก               หนอนหลอดหอม และหนอนอื่นๆ
  • สาบเสือ                            หนอนกระทู้ผัก เพลี้ยอ่อน
  • ตะไคร้หอม                       ใช้ไล่แมลง
  • ข่าเหลือง                          มีฤทธิ์ในการไล่แมลง
  • โล่ติ๊น                                ตั๊กแตนปาทังก้า แมลงกินใบ
  • มะกรูด                               หมัดกระโดด
  • บอระเพ็ด                          เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจั๊กจั่น หนอนกง โรคข้าวตายพราย โรคข้าวลีบ
  • ว่านน้ำ                              แมลงวันแดง แมลงวันทอง ด้วงหยักผัก หนอนกระทู้ผัก ด้างเจาะเมล็ดถั่ว มอดข้าวเปลือก
  • ยาสูบ                                สารฆ่าแมลง ขับไล่แมลง ฆ่าไร

2. วิธีสกัด  เนื่องจากพืชมีองค์ประกอบทางเคมีต่างกัน การสกัดจะต้องมีความแตกต่างกัน เช่น เลือกใช้วิธีการสกัดต่างกัน คือ การหมัก การกลั่นด้วยไอน้ำ การสกัดด้วยตัวทำละลายการเลือกใช้เอทิลแอลกอฮอล์เป็นตัวหมักเพื่อสกัดและนำไปใช้ได้ผล มีดังนี้

2.1) สมุนไพรป้องกันแมลง หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผักและหนอนอื่นๆ
สูตร 1 ผลิตจากขมิ้นชัน + เอทิลแอลกอฮอล์
สูตร 2 ผลิตจากข่า + เอทิลแอลกอฮอล์
สูตร 3 ผลิตจากไพล + เอทิลแอลกอฮอล์
สัดส่วน 1 : 1 โดยปริมาตร หมัก 72 ชั่วโมง
วิธีใช้: ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 100 ฉีดพ่นเวลาเช้า- เย็น

2.2) สมุนไพรป้องกันมด เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ด้วงปีกแข็ง
ผลิตจากพริก + เอทิลแอลกอฮอล์
สัดส่วน 1 : 1 โดยปริมาตร หมัก 72 ชั่วโมง
วิธีใช้: ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 100 ฉีดพ่นเวลาเช้า- เย็น

2.3) สมุนไพรป้องกันหมัดกระโดด
ผลิตจากมะกรูด + เอทิลแอลกอฮอล์
สัดส่วน 1 : 1 โดยปริมาตร หมัก 72 ชั่วโมง
วิธีใช้: ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 100 ฉีดพ่นเวลาเช้า- เย็น

2.4) สมุนไพรป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจั๊กจั่น หนอนกอ โรคยอดเหี่ยว โรคข้าวตายพราย โรคข้าวลีบ
ผลิตจากบอระเพ็ด + เอทิลแอลกอฮอล์
สัดส่วน 1 : 1 โดยปริมาตร หมัก 72 ชั่วโมง
วิธีใช้: ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 100 ฉีดพ่นเวลาเช้า- เย็น

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณวิวิช กลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านโป่ง ราชบุรี