เรียนรู้และเข้าใจการย่อส่วนธรรมชาติในการหมักดิน

โดย ครูฤทธิ์ Supparit Thaweekiat

ก่อนจะย่อส่วนธรรมชาติ ก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเกิดดินเสียก่อน

บทความนี้เป็นการสรุปสาระที่ได้ไปโม้สั้นๆ ในงานกินข้าว…ในสวน ครั้งที่ 2 วันที่ 10 มี.ค. 2555 ทั้งนี้สาระในบทความนี้ หากจะมีคุณงามความดีอะไร ขอยกให้ คุณชูเกียรติ โกแมน อาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้ผมครับ แต่บางหัวข้อก็เป็นความเชื่อของผมเอง คุณชูเกียรติไม่ได้สอน โปรดใช้วิจารณญาณครับ

ดินเกิดมาได้อย่างไร?

ในทางวิชาการหาได้ในอินเตอร์เน็ต ในที่นี้พูดง่ายๆ แบบชาวเมือง (พวกเดียวกันกับชาวบ้านนั่นแหละ) ดินเกิดมาจากหินและเศษอินทรียวัตถุ ที่ผ่านกระบวนการเสื่อมสภาพมาแล้ว โดยทั่วไปแล้ว ดินแบบไหนพืชชอบอย่างที่รู้ๆ กันครับ ก็ดินที่มีอินทรียวัตถุมากๆ นั่นแหละ หมักดินไปทำไม? พืชผักชอบดินที่มีอินทรียวัตถุมาก แต่เราคนเมืองหาดินธรรมชาติมาปลูกผักคงยาก และถึงมีก็มีไม่มากเพียงพอกับความต้องการ ครั้นจะไปซื้อดินถุงที่ขายกันทั่วไป ก็มักจะมีส่วนผสมของขุยมะพร้าวและขี้เถ้าแกลบมากเสียจนปลูกผักไปก็ไม่ค่อยขึ้น เราจึงต้องเติมอินทรียวัตถุให้มากขึ้น เพื่อให้มีอินทรียวัตถุเพียงพอให้ย่อยสลายปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืช (พืชไม่ได้กินอินทรียวัตถุโดยตรง แต่ได้รับสารอาหารที่เป็นผลจากจุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรียวัตถุ)

การย่อส่วนธรรมชาติในการหมักดิน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ดินป่าตามธรรมชาติที่พืชชอบขึ้น ผ่านกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุและกระบวนการผุพังของหินมานานต่อเนื่องกันหลายปี มีผู้ย่อยสลายหลากหลาย เช่น ไส้เดือน เห็ด จุลินทรีย์ หอย แมลงต่างๆ ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้มีอนุภาคเล็กลง ดังนั้นในการหมักดินเราจึงย่อส่วนธรรมชาติให้เอื้อประโยชน์กับการปลูกผัก โดยที่ไม่ต้องเตรียมดินนานเหมือนในธรรมชาตินั่นเอง ในสายตาผมแล้ว มี 5 เรื่องที่อยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นครับ

1) การเน่า เคยเห็นผักเน่าไหมครับ? คงเคยเห็นกันทุกคนนะ แต่เคยสังเกตและตั้งคำถามกันไหมครับว่า ทำไมผักเน่าถึงไม่เน่าไปเลยทีเดียวทั้งชิ้น? แต่ผักกลับค่อยๆ เน่า โดยจะเริ่มจากส่วนที่อ่อนแอก่อน เช่น ส่วนที่ช้ำ ส่วนที่เป็นรอยตัด ส่วนที่สัมผัสกับผักอื่ีนๆ ที่กำลังเน่า แล้วสภาพเน่าก็จะค่อยๆ ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ขยายวงจากส่วนที่อ่อนแอส่วนนั้น นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงควรสับอินทรียวัตถุให้มีขนาดเล็กมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดสภาพพื้นผิวที่มากขึ้น จะได้เน่าอย่างถ้วนทั่วกันไงครับ

2) การย่อยสลาย ในธรรมชาติจะมีผู้ย่อยสลายอยู่หลายกลุ่มด้วยกันตามที่ได้บอกไป แต่เราจะโฟกัสกันที่จุลินทรีย์เท่านั้น เพราะว่าการใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายทำได้ง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ เหมาะสมกับทุกพื้นที่ ดังนั้นเราจึงใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยในการหมักดินจุลินทรีย์ที่แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มที่ใช้ออกซิเจน” กับ “กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน” ประเด็นที่คนเมืองควรทราบก็คือ

2.1) ความสามารถในการย่อยสลาย กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่เก่งในการย่อยสลายมาก ย่อยสลายได้เร็ว กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจนเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ไม่เก่งในการย่อยสลายมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก แต่ก็ย่อยสลายได้

2.2) พวกมากข่มพวกน้อย หลักการพื้นฐานของจุลินทรีย์ จุลินทรีย์พวกไหนมีมาก เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ จะเติบโตจนแย่งพื้นที่เติบโตจากจุลินทรีย์อีกพวกหนึ่งเสมอๆ (แต่ไม่ได้กำจัดอีกพวกนั้นไป) เปรียบเสมือนจอกแหนในบ่อน้ำแหละครับ พวกไหนมากจะชิงพื้นที่จนพวกน้อยขยายตัวไม่ได้

2.3) ธรรมชาติของการย่อยสลายก็มีจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนั่นแหละ ดังนั้นโดยธรรมชาติของการย่อยสลายแล้ว จึงมีจุลินทรีย์กำลังย่อยสลายอยู่โดยที่ตาเรามองไม่เห็นทั้ง 2 กลุ่มนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมเป็นแบบไหน ในถังน้ำหมัก จุลินทรีย์ที่อยู่ใต้ผิวน้ำก็จะมีสัดส่วนของจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนมากกว่าพื้นที่เหนือผิวน้ำ ในกองดินหมักบนลานโล่ง หากพื้นที่กองดินลึกๆ ออกซิเจนไม่สามารถไหลผ่านหมุนเวียนได้ดี จุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจนก็จะโตได้ดีเช่นเดียวกัน

3) บ้านของจุลินทรีย์ ดังนั้นหากต้องการให้เกิดการย่อยสลายได้เร็ว ก็ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่สำหรับจุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนนั่นเอง สภาพแวดล้อมที่ว่ามีหลายอย่างด้วยกัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

3.1) กลุ่มที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์สัมผัสได้ ความชื้น อุณหภูมิ และอากาศ

  • “ความชื้น” จุลินทรีย์ก็ต้องการน้ำเหมือนมนุษย์แหละครับ
  • “อุณหภูมิ” ถ้าจุลินทรีย์ถูกแดดจัด ส่วนผิวกองวัสดุที่ถูกแดด จุลินทรีย์ก็ตายครับ ดังนั้นจึงควรหมักดินในที่ร่ม
  • “อากาศ” จุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนโตได้ดีถ้ามีออกซิเจนไหลผ่านกองวัสดุ หรือใช้ส่วนผสมของวัสดุที่มีรูพรุนอยู่ในตัว อย่างขี้เถ้าแกลบ ทำให้เก็บกักออกซิเจนได้ดีขึ้น

3.2) กลุ่มที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์สัมผัสได้บางส่วน ความเป็นกรดด่างของวัสดุ

3.3) กลุ่มที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์สัมผัสไม่ได้ แต่สังเกตเห็นได้ค่า C/N ratio อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน ฟังดูวิชาการ แต่จะขอกล่าวถึงอย่างง่ายๆ ในหัวข้อถัดๆ ไปเลย

4) หาอะไรมาโด๊ปจุลินทรีย์เสียหน่อย และเพื่อให้จุลินทรีย์ขยายตัวได้ในปริมาณมากๆ ในเวลาอันสั้น เราจึงโด๊ปจุลินทรีย์ด้วยน้ำตาล กากน้ำตาล น้ำหวาน หรืออะไรทำนองนี้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารดีๆ กินง่าย ให้พลังงานสูงสำหรับจุลินทรีย์ ทำให้ขยายตัวได้มาก เมื่อจุลินทรีย์ขยายจำนวนแล้วกินน้ำตาลจนหมด ก็จะหันไปกินอินทรียวัตถุในวัสดุหมักต่อ

5) หลักการคัดเลือกวัสดุและปริมาณส่วนผสมอย่างง่ายๆ จาก ข้อ 3 จะเห็นได้ว่า เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้จุลินทรีย์ได้ง่ายๆ ในกลุ่ม 3.1 แต่ข้อ 3.2 และ 3.3 ล่ะทำยังไงดี? ผมเสนอดังนี้ครับ

5.1) ใส่อินทรีย์วัตถุหลากหลายเท่าที่พอหาได้ ข้อนี้จะช่วยเรื่องปรับค่าความเป็นกรดด่าง โดยที่ไม่ต้องมานั่งวัดให้ปวดหัว

5.2) ใส่ (อินทรียวัตถุใดๆ) ที่เน่าง่ายๆ ให้มากกว่า (อินทรียวัตถุ) ที่เน่ายาก อะไรที่เน่าง่ายๆ ให้ดูว่า ถ้าวางกองวัสดุนั้นๆ ไว้เฉยๆ แล้วเน่าได้เร็ว จัดว่าเน่าง่ายครับ อะไรที่กองไปแล้ว ผ่านไปเป็นเดือนๆ กว่าจะเน่า จัดว่าเน่ายาก เช่น พวกใบไม้แห้ง กิ่งไม้ ฟางข้าว

5.3) ไม่ควรใส่แต่วัสดุเน่าง่ายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะวัสดุเน่าง่ายบางจำพวกมักจะมีค่าเป็นกรด ใส่วัสดุที่เน่ายากๆ ลงไปด้วย จะช่วยปรับค่าความเป็นกรดด่างให้สมดุลเอง นอกจากนี้ พวกอินทรียวัตถุที่เน่ายากมักจะทำให้เกิดโพรงอากาศในดิน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้แก่แมลงเมื่อนำไปใช้กับพืชผักในอนาคตอีกด้วย

5.4) ใส่อะไรที่เป็นไนโตรเจนสูงๆ อย่างน้อย 1/3-1/2 ของกองวัสดุ “ไนโตรเจน” หรือ “โปรตีน” นั่นแหละครับ เช่น มูลสัตว์ กากถั่วเหลือง รำ เศษรากถั่วงอก อันที่จริงในหญ้าใบเขียวหลายชนิดก็มักจะมีโปรตีนอยู่แล้วเหมือนกัน แต่มีในปริมาณค่อนข้างน้อย เราจึงโฟกัสที่วัสดุอื่นๆ มากกว่า ข้อนี้ใช้เพื่อปรับค่า C/N ratio ให้มีสภาพเหมาะสมในการย่อยสลาย

5.5) ของเน่าง่าย ที่เน่ามากๆ ชนิดน้ำเยิ้มเละเทะเลย เอามาใส่ในดินหมักได้หรือไม่? คำตอบคือ “ได้” แต่ผมไม่แนะนำครับ เป็นความเชื่อส่วนตัวของผมครับว่า เราน่าจะเลือกใช้พลังชีวิต พลังแห่งความสดใหม่สำหรับกลุ่มของเน่าง่าย

นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว มีประเด็นอื่นๆ ที่ได้พูดคุยกันอีกหน่อยในวันนั้น ดังนี้

1) กลิ่น เท่าที่ผมได้หมักดินมา กลิ่นมีบ้าง แต่ไม่มาก ไม่ถึงกับเหม็นรุนแรง ถ้าอากาศนิ่งๆ ใช้สัดส่วนวัสดุและปริมาณเหมาะสม มีกลิ่นจางๆ ในระยะ 1-2 เมตร หากบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถว กังวลว่าเพื่อนบ้านจะรังเกียจ ให้ทดลองทำสัก 2-3 ถุงก่อนก็พอ ค่อยๆ ทำไปทีละนิดๆ นอกจากจะไม่เหนื่อยแล้ว ยังทำให้ไม่ส่งกลิ่นมากด้วย

2) หนอน เท่าที่หมักมา มีหนอนบ้างอยู่เหมือนกัน แม้ว่าอุณหภูมิในกองดินหมักจะสูงมาก แต่หนอนก็มาอยู่ได้ หนอนก็เลือกอยู่เหมือนกัน อยู่แถวๆ ผิวๆ รอบๆ นอกกองดินหมักนี่แหละ ไม่ไปอยู่ตรงกลางๆ ที่อุณหภูมิสูงๆ หรอก เรื่องหนอนนี่คนเมืองที่ทำดินหมักต้องทำใจนะครับ ถ้ากลัวหนอนมาก ชนิดเห็นตัวเดียวสองตัวก็ทนไม่ได้ อย่าทำดินหมักเลยครับ มองในแง่ดี ถ้าหนอนตายในกองดินหมัก เราก็ได้โปรตีนไนโตรเจนเพิ่มนะ

3) ระหว่างการหมักดิน ให้หมั่นกลับกอง หรือทำอย่างไรก็ได้ให้อากาศไหลผ่านกองดินหมักบ้างทุกๆ 3 วัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ให้แก่จุลินทรีย์

4) ดินหมักใช้ได้เมื่อไหร่ ไม่มีสูตรจำนวนวันตายตัว เพราะสัดส่วนวัสดุมักจะผันแปรไปตามที่หาได้ หลักการเดียวที่ควรยึดคือ “เมื่อกองดินหมักหายร้อน ก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้”

 

ส่วนวิธีการทำดินหมักนั้นมีขั้นตอนอย่างไร ลองย้อนกลับไปดูที่หัวข้อ การหมักดิน ทำอย่างไร กันดูนะคะ