ทำไมปลูกผักหลากหลายถึงดี?

การปลูกผักแบบผสมผสานนั้นมีความสำคัญต่อการทำเกษตรแบบวิถีอินทรีย์อย่างมาก ถึงแม้ว่าแปลงผักของเราจะเป็นการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์แล้วก็ตาม

…แต่ถ้าหากเราเลือกปลูกผักชนิดเดียวหรือการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว เราจะพบว่า เราจะต้องจัดการกับปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแมลงศัตรูพืช ปัญหาโรคพืช ปัญหาการไม่เจริญเติบโตของพืช และสุดท้ายเราก็อาจสรุปเอาเองว่าการปลูกผักแบบวิถีอินทรีย์นั้นมันยากหรือเป็นไปไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วเราอาจจะยังเข้าใจการปลูกผักแบบวิถีอินทรีย์ไม่ครบถ้วนมากพอ

เราลองมาดู 6 ปัญหาที่เราจะต้องพบเจอหากว่า “เราเลือกปลูกพืชเพียงชนิดเดียว”

1. การควบคุมระบบโดยธรรมชาติจะถูกทำลาย

หมายความว่า จะไม่มีแมลงหลากหลายที่จะคอยควบคุมไม่ให้จำนวนประชากรของแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งมีมากหรือขนาดใหญ่จนเกินไปและมารุมทำลายผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ดินจะขาดแคลนธาตุอาหารที่ควรได้จากพืชที่หลากหลาย จุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในดินก็จะมีจำนวนและชนิดน้อยลงเนื่องจากดินมีธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน และความอุดมสมบูรณ์ของดินก็จะลดน้อยลงเพราะขาดแคลนความหลากหลายของพืชที่มีความยาวของรากแตกต่างกันออกไป

2. ความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีมากขึ้น

เนื่องด้วยระบบธรรมชาติที่จะช่วยควบคุมดูแลแปลงเกษตรของเราได้ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต่อจากนี้เราจึงจำเป็นต้องหาสิ่งป้องกันไม่ให้ผักของเราถูกทำลายมาทดแทน และเพื่อป้องกันวัชพืช แมลงและแบคทีเรีย และทำให้ดินมีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช เราจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่างๆ ที่นอกจากจะตกค้างในผัก ในร่างกายเราโดยไม่จำเป็นต้องรับประทาน ยังรั่วไหลและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างไม่ใช่เพียงแค่ในแปลงของเรา ไม่เพียงเท่านั้น สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้ทำลายแค่ศัตรูพืชที่เราต้องการให้หมดไปจากแปลง แต่มันทำลายทั้งสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อแปลงของเรา พืชพรรณท้องถิ่น รูปแบบการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า และความหลากหลายของระบบนิเวศแวดล้อมจดหมดสิ้น

3. ศัตรูพืชดื้อสารเคมี

เพราะโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตมักจะวิวัฒนาการตัวเองเพื่อความอยู่รอด พอเหล่าวัชพืชและแมลงศัตรูพืชได้รับสารเคมีมากๆ เข้า พวกมันก็ปรับตัวให้ทนทานต่อสารเคมีเหล่านี้ เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาสารเคมีปราบศัตรูพืชตัวใหม่ๆ ออกมาและใช้มากขึ้นกับแปลงของเรา

4. คุณภาพของดินเสื่อมโทรมลง

แน่นอนว่าดินในแปลงของเราย่อมเสียคุณภาพ นอกจากเป็นเพราะเราใส่สารเคมีในแปลงมากเกินไป ลมและฝนยังชะล้างหน้าดินและกัดเซาะดินเพราะเราไม่มีพืชคลุมดิน และเพราะว่าเราไม่มีใบไม้จากต้นไม้ต้นพืชเพียงพอที่จะร่วงหล่นมาทับถมเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับหน้าดิน ท้ายที่สุดดินของเราก็จะเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกได้ นั่นอาจหมายถึงการถางพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเพื่อทำแปลงเพาะปลูกขึ้นใหม่

5. ปริมาณน้ำที่ต้องใช้

เพราะดินของเราของถูกทำลายเรียบร้อย ทำให้มันไม่สามารถมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้อีกต่อไป เท่ากับว่าเราจำเป็นต้องใช้น้ำในการรดผลผลิตทางการเกษตรของเรามากขึ้น ส่งผลถึงทรัพยากรน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในแหล่งน้ำเหล่านั้น

6. ปัญหาการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

ปัญหานี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง แต่มันเกี่ยวข้องกับโลกของเราอย่างมาก และแน่นอนว่าในฐานะผู้อาศัยบนโลกใบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกย่อมมีผลต่อการดำรงชีวิตของเราเสมอ การทำเกษตรเชิงเดี่ยวมักจะเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ หมายความว่า เครื่องจักรและโรงงานคือองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งในกระบวนการ สิ่งเหล่านี้ใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างมาก ยังไม่นับว่าผลผลิตจากแปลงเกษตรเชิงเดี่ยวเหล่านี้ จะต้องขึ้นรถ เรือ หรือเครื่องบิน เพื่อนำไปจำหน่ายทั่วประเทศและส่งออก มีการคำนวณว่าในระบบการผลิตแบบเชิงเดี่ยวนี้ เพื่อผลิตอาหารปริมาณเพียง 1 แคลอรี กลับต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงถึงประมาณ 10 แคลอรี เลยทีเดียว

ไม่อยากจะเชื่อว่า ปัญหาทั้งหมดนี้จะล้วนเกิดจากเพียงเราเลือกที่จะเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว นี่จึงเป็นที่มาและเหตุผลว่าทำไมในโครงการขนาดเล็กของเราจึงกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีการปลูกผักมากกว่า 15 ชนิดขึ้นไป เพราะแน่นอนว่า หนึ่ง คุณย่อมไม่บริโภคผักเพียงชนิดเดียว สอง เพื่อลดการเกิดปัญหาทั้ง 6 ข้อดังที่ได้กล่าวไป และสาม รู้หรือไม่ว่า พืชบางชนิดเมื่อปลูกร่วมกันแล้วจะยิ่งเกื้อกูลและส่งเสริมการเจริญเติบโตซึ่งกันและกันอีกต่างหาก และถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากการปลูกผักแบบผสมผสานแล้ว แปลงผักของเราควรจะมีการปลูกพืชแบบหมุนเวียน คือการไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือตระกูลเดียวกันติดต่อกันซ้ำบนพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการดูดซึมแร่ธาตุของพืชแต่ละชนิดในดินหมุนเวียนแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในทางการปรับปรุงดิน และช่วยหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคและแมลงอีกด้วย และทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คุณไม่ต้องทำงานหนัก และทำให้การปลูกแบบวิถีอินทรีย์เป็นไปได้ง่ายขึ้น

ถ้าเราเข้าใจว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกที่ไม่ใช่สารเคมี แต่คือการทำเกษตรที่เข้าใจดิน เข้าใจธรรมชาติ เน้นการปรับปรุงดินให้มีพลังต่อการเพาะปลูกเสมือนกับดินที่อยู่ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ “เกษตรอินทรีย์ คือ เกษตรธรรมชาติ” ป่าไม่จำเป็นต้องมีใครให้ปุ๋ย ป่าไม่จำเป็นต้องมีการรดน้ำทุกวัน แต่ป่าก็ยังมีความสมบูรณ์ และพืชพรรณในป่าก็สามารถเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง เพราะป่ามีความหลากหลาย และความหลากหลายเหล่านั้นก็ช่วยสร้างสมดุลซึ่งกันและกัน ถ้าเราทำแปลงได้อย่างในป่า แปลงเราก็จะสามารถสมบูรณ์ได้อย่างในป่าเช่นกัน

ที่มาข้อมูล: https://www.regenerative.com/magazine/six-problems-monoculture-farming