Living Lots NYC : คืนชีวิตให้กับพื้นที่รกร้างในนครนิวยอร์ก

เชื่อว่าในหลายๆ เมืองใหญ่ ย่อมมีพื้นที่ที่เรามองไม่เห็น หรืออาจจะเห็นอยู่ทนโท่ว่าถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะ ที่พักนอนชั่วคราวของคนจร หรืออย่างแย่เลยคือกลายเป็นแหล่งมั่วสุม จะดีกว่าไหม ถ้าเรามาเปลี่ยนพื้นที่ว่างเหล่านี้ ให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยที่ชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์และดูแลรักษาร่วมกันได้

(Source: 596 Acres/Facebook)

นครนิวยอร์ก ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเยอะมาก ที่สำคัญคือ ไม่มีใครรู้ว่าพื้นที่รกร้างว่างเปล่าหลายแห่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถเข้าไปจัดการใช้สอยได้ ในปี 2010 คุณ Paula Segal ได้สังเกตเห็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าแห่งหนึ่งใกล้ละแวกบ้านเธอในย่าน Brooklyn ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานมนานหลายปีจนมีแต่ขยะกองสุม เธอจึงเริ่มค้นหาข้อมูลว่าพื้นที่ที่มีรั้วล้อมแห่งนี้เป็นของใคร แล้วตั้งใจจะสร้างเป็นอะไร แล้วเธอก็ค้นพบว่า พื้นที่แปลงนี้จริงๆ แล้วเป็นพื้นที่สาธารณะ และเดิมเคยมีแผนว่าจะสร้างเป็นสวนสาธารณะ แต่ว่าก็ไม่เคยเกิดขึ้น เธอจึงนำพื้นที่แห่งนี้ไปหารือกับคนในชุมชนและเทศบาลหลายต่อหลายครั้ง และในที่สุด พื้นที่เคยรกร้างว่างเปล่าแปลงนี้ก็ได้กลายเป็น ‘พื้นที่ส่วนกลางชุมชน’ ที่มีชื่อว่า Myrtle Village Green ที่เป็นทั้งแปลงเกษตรวิจัยและผลิตผลผลิตให้กับชุมชน เป็นที่พบปะสังสรรค์ของคนในชุมชน และยังเป็นที่ดูหนังกลางแปลงของชุมชนอีกด้วย

(Source: Myrtle Village Green/Facebook)

จากความสำเร็จของ Myrtle Village Green คุณ Paula จึงเกิดความคิดที่จะรวบรวมพื้นที่ว่างสาธารณะทั้งหมดในนครนิวยอร์ก ที่ไม่ได้มีการใช้สอยประโยชน์ใดๆ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชน และจำนวนขนาดพื้นที่ว่างเปล่าที่คุณ Paula และทีมผู้ร่วมอุดมการณ์ค้นพบเมื่อปี 2011 ก็คือ “596 เอเคอร์” หรือ 1,500 ไร่!!! โอ้ มาย ก้อด! มันช่างเยอะมากเสียจริงๆ และตัวเลขนี้เองจึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ 596 Acres ที่นำโดยคุณ Paula เพื่อรวบรวมพื้นที่ว่างไร้การใช้ประโยชน์ใช้สอยในนครนิวยอร์ก และรวบรวมจัดทำเป็นแผนที่เปิดออนไลน์ “Living Lots NYC” เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ และเผื่อว่าจะมีชุมชนใดอยากเข้าไปจัดการกับพื้นที่ว่างใกล้เคียงให้เกิดประโยชน์ บนแผนที่ Living Lots NYC นี้จะเห็นเลยว่า มีพื้นที่ว่างสาธารณะอยู่ตรงไหนบ้าง อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนบุคคลที่เจ้าของอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ใช้สอย พื้นที่ที่คนสามารถเข้าไปใช้ได้แล้ว และพื้นที่ที่มีกลุ่มหรือชุมชนกำลังจัดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้น

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ 596 Acres ได้หาข้อมูลพื้นที่ว่าง ได้ขออนุญาตสิทธิ์การใช้พื้นที่ และได้รวบรวมและเผยแพร่ที่ดินว่างทั้งหมดที่พวกเขาพบเจอลงใน Living Lots NYC และยังเป็นตัวกลางที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นในการจัดการกับพื้นที่ว่างเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชนแถวนั้นถึงการริเริ่มจัดการกับพื้นที่ การคุยกับหน่วยงานเทศกาลนครนิวยอร์ก เรื่องกฎหมายการขอใช้พื้นที่หรือการจัดตั้งกลุ่ม หรือแม้แต่การติดต่อกับหน่วยงานทำความสะอาดของนครนิวยอร์กเพื่อให้ช่วยจัดการเคลียร์พื้นที่รกร้างแห่งนั้น ความพยายามทั้งหมดนี้ทำให้นครนิวยอร์กมีสวนชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 32 แห่ง โดยส่วนมากเกิดขึ้นย่านที่ขาดแคลนสวนสาธารณะและสวัสดิการส่วนกลางชุมชน คุณ Carlor Martinez ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Green Thumb โครงการของนิวยอร์กที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือชุมชนในการพัฒนาพื้นที่รกร้างของเมืองที่เกิดจากวิกฤติการเงินในปี 1970s ให้กลายเป็นสวนชุมชน ได้บอกกับเราว่า “มีผู้สนใจทำสวนรายใหม่ๆ มากมาย ติดต่อเข้ามาหาเรา เพราะพวกเขาเห็นพื้นที่ว่างเปล่าของเมืองที่พวกเขาน่าจะสามารถเปลี่ยนเป็นสวนของชุมชนได้จากแผนที่ Living LotsNYC” แต่จุดแข็งสำคัญของ 596 Acres ไม่ได้มีเฉพาะแผนที่ออนไลน์ Living Lots NYC เท่านั้น พวกเขายังมีป้ายที่ไปติดที่พื้นที่ว่างเพื่อเชิญชวนให้ชุมชนในละแวกมาจับจองพื้นที่ว่างนี้เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน ด้วยการร่วมมือทำงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทีม 596 Acres หน่วยงานเทศบาล และองค์กรท้องถิ่น ทำให้พวกเขาสามารถเจอแกนนำชุมชนในแต่ละแห่งที่มีความสนใจ และจะมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเปลี่ยนพื้นที่ว่างบนแผนที่เหล่านี้ให้กลายเป็นสวนผักเพื่อประโยชน์ใช้สอยของชุมชนได้ และตัวเลขพื้นที่ว่างในนครนิวยอร์ก ณ ปัจจุบัน คือ 1,026 เอเคอร์ บนทำเล 1,369 แห่ง โดยแบ่งเป็นพื้นที่อยู่ในระหว่างดำเนินการเปลี่ยนแปลงอยู่ 231 เอเคอร์ บนทำเล 226 แห่ง แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ขณะนี้มีโครงการชุมชนที่เกิดขึ้นบนพื้นที่เคยรกร้างว่างเปล่าและใครๆ ก็สามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมได้อยู่เป็นจำนวน 1,483 เอเคอร์ บนทำเล 607 แห่ง นับเป็นตัวเลขที่สร้างความชื่นใจและน่าแสดงความยินดีให้กับ 596 Acres และผู้มีส่วนร่วม และมหาชนชาวนิวยอร์กทุกคนจริงๆ ค่ะ

(Source: 596 Acres/Facebook)

พอมองย้อนกลับมาที่กรุงเทพฯ บ้านเรา ถึงเราอาจจะยังไม่เห็นตัวเลขที่น่ายินดีแบบในนครนิวยอร์ก แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีพื้นที่สวนชุมชนแบบนี้ ลองมองในแง่บวก อาจจะแค่ยังไม่มีรวบรวมข้อมูลให้เห็นชัดแบบนี้ก็ได้ค่ะ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถึงแม้เราจะยังไม่มีแผนที่ออนไลน์แบบนี้ แต่ถ้าหากคุณเดินผ่านพื้นที่แถวบ้าน และเห็นมันรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ใช้สอยมานานหลายปี ลองถามคนละแวกนั้นดูสักนิดก็ได้นะคะ เผื่อว่าอยู่ดีๆ อาจจะมีสวนผักชุมชนเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนั้น โดยมีคุณเป็นผู้ริเริ่มก็ได้ อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับได้ลองลงมือทำค่ะ ^^

ที่มาข้อมูลและรูปภาพ: