เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับก่อร่างสร้างสวนผักดาดฟ้า

เวลานั่งรถไฟฟ้า หรือนั่งรถข้ามสะพานสูงๆ มองลงไป มักจะเห็นภาพดาดฟ้าของตึก ไม่ว่าจะเป็นตึกแถว หรือตึกสูง ต่างถูกทิ้งว่างไว้อย่างไร้ประโยชน์ ในบางตึกอาจจะแทบไม่เคยมีใครย่างกายขึ้นไปเบื้องบนเลย ทั้งๆ ที่บางที บนดาดฟ้าของหลายตึกอาจจะเป็นจุดชมทัศนียภาพชั้นเยี่ยม ดีกว่าเสียสตางค์ขึ้นไปชมวิวโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่าจะชวนให้ขึ้นไปชมวิวอย่างเดียว แต่ทราบหรือไม่คะว่าเราสามารถที่จะพัฒนา ปรับเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าที่ทิ้งร้างไว้นี้ ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารด้วยการปลูกพืชผักปลอดภัยไร้สารพิษ หรือแม้แต่เป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ใครที่เริ่มสนใจและคิดอยากจะลงมือทำ ลองมาฟังเคล็ดลับและข้อแนะนำในการวางแผนทำแปลงปลูกผักจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การทำสวนเกษตรดาดฟ้ามานานอย่างสำนักงานเขตหลักสี่กันทางนี้ค่ะ

1. เตรียมความพร้อมของพื้นที่ดาดฟ้า 

  • ดาดฟ้าที่จะทำแปลงผัก ควรลงน้ำยากันซึมก่อน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของตึกได้
  • ควรทำพื้นดาดฟ้าให้มีความลาดเอียงออกด้านข้างทั้งสองข้าง อย่างน้อย 0.05 เพื่อป้องกันปัญหาน้ำขัง ทั้งเวลาฝนตก และเวลารดน้ำต้นไม้
  • ควรมีท่อระบายน้ำด้านข้าง อย่างน้อยข้างละ 4 จุด เพื่อให้น้ำระบายออกได้ และถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้ท่อขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อป้องกันปัญหาการอุดตัน
  • การรองรับน้ำหนักของดาดฟ้า หากเป็นโครงสร้างตึกตามมาตรฐานทั่วไป พื้นที่ 1 ตารางเมตร จะรับน้ำหนักได้ 200 กิโลกรัม ส่วนบนพื้นที่บนคาน จะสามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 400-600 กิโลกรัม ดังนั้นจึงต้องออกแบบแปลงผักให้เหมาะสม ที่สำคัญหากตึกเก่ามาก ก็ควรปรึกษาสถาปนิกก่อน เพื่อความปลอดภัย

2. การออกเเบบ วางผังสวนเกษตรดาดฟ้า 

องค์ประกอบสำคัญของสวนเกษตรดาดฟ้าที่ควรมี ได้แก่ เสาปูน ตาข่ายพรางแสง ซุ้มผักหรือต้นไม้กันลม แปลงปลูก เรือนอนุบาลต้นกล้า แปลงเพาะกล้า ก๊อกน้ำและถังสำหรับรองน้ำ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เสาปูน: ทำง่ายๆจากล้อยาง และนำเสาปูนมาใส่ แล้วเทปูนลงไป คล้ายเสาตะกร้อ ใช้สำหรับเป็นหลักยึดตาข่ายพรางแสง โดยอาจจะทำข้างละ 2 เสา ทั้งนี้ดูตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่

ตาข่ายพรางแสง: เนื่องจากบนดาดฟ้าจะมีแสงแดดค่อนข้างแรง อาจส่งผลกระทบต่อผักได้ ดังนั้นจึงควรถึงเชือกเป็นตาข่ายขึงไว้ด้านบน โดยใช้ท่อพีวีซี และเหล็กสลิงช่วยยึด เพื่อสร้างความแข็งแรง ทนทานต่อลมฝน หากใช้เชือกอย่างเดียวอาจเกิดความเสียหายง่าย และเมื่อทำตาข่ายแล้ว ก็ปลูกพืชที่เลื้อยได้ด้านข้าง วางแผนให้พืชเลื้อยมาตามตาข่ายที่ถักไว้ด้านบน เพื่อช่วยพรางแสงให้กับแปลงผักด้านล่าง

ซุ้มผักหรือต้นไม้กันลม: ปัญหาอีกประการของการปลูกผักบนดาดฟ้าคือเรื่องของลมแรง ซึ่งอาจทำให้ดินแห้งเร็วเกินไปและส่งผลกระทบต่อผักที่ปลูก ดังนั้นจึงควรทำซุ้มผัก เพื่อช่วยกันลม โดยซุ้มผักสามารถทำจากท่อพีวีซี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรใช้ไม้ไผ่คาดเป็นโครงด้านข้างด้วย เพื่อความแข็งแรง หากใช้ท่อพีวีซีทั้งหมด หากลมพัดแรงซุ้มผักอาจพังได้ โดยพืชที่เลือกมาปลูกในซุ้มก็คือพืชเถาเลื้อย อย่างพวกบวบ ฟัก น้ำเต้า ซึ่งใบจะไม่ทึบมากนั้น ทำให้ลมบางส่วนสามารถผ่านลอดใบมาได้ หากปลูกพืชที่ใบหนาทึบจนเกินไป อาจเกิดปัญหาเรื่องลมปะทะแรงเกิน ก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้

สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกต้นไม้กันลม โดยไม่ต้องทำซุ้มผัก ก็อาจเลือกปลูกพวกเสาวรส องุ่น สับปะรด หรือปลูกต้นกล้วยพันธุ์เตี้ยก็ได้ ถ้าเป็นต้นกล้วยพันธุ์สูง ก็ควรจะตัดแต่งต้นอยู่เสมอ

แปลงปลูก: หลักสำคัญของการทำแปลงปลูกคือควรกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อให้สะดวกในการทำงาน สามารถเอื้อมมือได้ถึง สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนความยาวดูตามความเหมาะสม  ที่สำคัญควรเว้นระยะห่างระหว่างแปลงเพื่อให้สามารถขนดิน ขนปุ๋ย รดน้ำ รวมถึงปลูกลงแปลงได้สะดวก

เรือนอนุบาลต้นกล้า: เนื่องจากบนดาดฟ้า นอกจากจะมีปัญหาเรื่องแดดแรงแล้ว ยังมักมีปัญหาเรื่องนก ซึ่งจะมาสร้างความเสียหายให้กับต้นกล้า ดังนั้นแนะนำว่าควรทำเรือนอนุบาลต้นกล้า 1 เรือน เพื่อช่วยพรางแสงและช่วยกันนก โดยเมื่อเพาะกล้าเสร็จ ก็จะนำเข้ามาไว้ในเรือนอนุบาล 2-3 วัน

แปลงเพาะกล้า: หลังจากต้นกล้าอยู่ในเรือนอนุบาล 2-3 วันแล้ว ให้ย้ายออกมาไว้ที่แปลงเพาะ โดยด้านบนควรทำตัวช่วยพรางแสงไว้ และควรมีผ้าใบพลาสติกไว้สำหรับคลุมตอนฝนตกอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้าเสียหาย เมื่อต้นกล้าเติบโตจนอายุประมาณ 10-15 วัน ก็จะแข็งแรงขึ้น สามารถย้ายออกมาด้านนอก เตรียมพร้อมปลูกลงแปลงใหญ่ได้

ก๊อกน้ำ และถังรองน้ำ: ระบบน้ำสำหรับรดผักก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นหากใช้น้ำประปาก็ต้องมีการต่อท่อขึ้นไป และควรมีถังรองพักน้ำไว้ก่อนรดน้ำผัก เพราะในน้ำประปาจะมีคลอรีนมาก ทำให้ผักเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

3. วางแผนการปลูก

ก่อนจะไปถึงการวางแผนปลูก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ “วัสดุปลูกที่ใช้ในแปลง” เนื่องจากพื้นปูนมีความร้อนสูง ประกอบกับความสามารถในการรองรับน้ำหนักของตึกมีไม่มากนัก ดังนั้นวัสดุปลูกควรมีส่วนผสมของกาบมะพร้าวมากๆ คือ อัตราส่วนของกาบมะพร้าว 2 ส่วน  และดิน 1 ส่วน เพื่อให้กาบมะพร้าวช่วยกรองความร้อนจากพื้นปูน และช่วยดูดซับความชื้นไว้ ที่สำคัญช่วยทำให้แปลงมีน้ำหนักเบาขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างตึกนั่นเอง

ส่วนเรื่องการวางแผนการปลูก หลักสำคัญคือ “การปลูกพืชหมุนเวียนและการปลูกพืชต่างชนิดกันในแปลงใกล้กัน” เพื่อป้องกันปัญหาแมลงและโรคพืช เช่น หากปลูกคะน้าไปแล้ว ก็จะต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นอย่างน้อย 2 รอบ จึงจะกลับมาปลูกคะน้าได้อีก และแปลงที่อยู่ข้างๆ แปลงคะน้า ก็ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่คะน้าด้วยเช่นกัน และเพื่อให้การปลูกดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อนำต้นกล้าปลูกลงแปลงแล้ว ต้องเพาะกล้าใหม่ไว้ทันที ห้ามผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อได้เวลาเก็บเกี่ยว ต้นกล้าก็จะโตพอที่จะปลูกลงแปลงได้ต่อพอดี

หากมีพื้นที่น้อย มีแปลงผักน้อย แนะนำว่าให้ปลูกผสมผสานลงไปในแปลงเดียวกันเลย โดยควรเลือกผักที่มีอายุใกล้เคียงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการแปลง

สำหรับพืชล้มลุกอายุยืน อย่างกะเพรา โหระพา แมงลัก ควรปลูกแยกต่างหาก  และควรปลูกห่างกัน เพื่อให้สะดวกในการดูแลรักษา และป้องกันการผสมพันธุ์กัน โดยควรหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอ เพราะพืชชนิดนี้หากตัดแล้วจะแตกใหม่ สามารถใช้ได้ตลอด ที่สำคัญไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนมีดอกแก่ เพราะอาจจะทำให้มีแมลงวันทองมารบกวน และแพร่กระจายไปยังต้นอื่น ยกเว้นแต่ว่าตั้งใจจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ

คราวนี้ใครที่คิดอยากจะปลูกเเต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ก็คงจะมีข้อมูลเเละพร้อมลุยเต็มที่กันแล้วนะ ^^