อาหารการกิน กับ ฝุ่น PM2.5

PM2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรหรือน้อยกว่า เป็นมลพิษทางอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเมืองเป็นวงกว้าง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เมืองเชียงใหม่และกรุงเทพติด 10 อันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่ที่สุดในโลก เมื่อพูดถึงการบริโภคอาหาร การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวสามารถส่งผล PM2.5 รุนแรงขึ้นในทางอ้อมในหลายรูปแบบ ดังนี้

  • การตัดไม้ทำลายป่าและแผวถางพื้นที่ทำการเกษตร การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมักต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าหรือกำจัดพืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าสู่เขตป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบัน อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในเมืองไทยจะลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน
  • การเสื่อมโทรมของดิน การปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ ทำให้ดินขาดสารอาหารและมีความสามารถในการอุ้มน้ำลดลง ส่งผลให้ดินแห้งและเสี่ยงต่อการถูกพัดพาโดยลม ทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ PM2.5
  • การใช้เครื่องจักรหนัก เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลหนักสำหรับการไถ หว่าน เก็บเกี่ยว และเตรียมดิน ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้ปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  • การเผาตอซังพืช: ในบางพื้นที่ เกษตรกรใช้วิธีเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในรอบต่อไป วิธีนี้ปล่อยฝุ่น PM2.5 และมลพิษอื่นๆ ในปริมาณมากสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งพืชไร่ที่พบว่ามีการเผาตอซังมาก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ อ้อย ซึ่งหลายภาคส่วนต้องการลดปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการเผาตอซังนี้มากที่สุด

ฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลต่อความปลอดภัยของอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และความมั่นคงทางอาหารในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

  • การสังเคราะห์แสงลดลง ระดับ PM2.5 ที่สูงสามารถบดบังแสงแดด ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงของพืชลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง
  • การสะสมของสารพิษ อนุภาค PM2.5 อาจตกค้างบนพืชผลและนำสารเคมีอันตรายหรือโลหะหนักเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
  • สุขภาพสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่สัมผัสกับ PM2.5 อาจประสบปัญหาทางเดินหายใจ อัตราการเจริญเติบโตลดลง และประสิทธิภาพการผลิตลดลง ส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ นม และไข่
  • การปนเปื้อนของอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ที่ปลูกในพื้นที่ที่มีมลพิษ อาจนำสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านผลิตภัณฑ์จากสัตว์
  • ผลผลิตที่ปนเปื้อน ผลไม้ ผัก และธัญพืชที่สัมผัสกับระดับ PM2.5 สูง อาจสะสมมลพิษและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

เพื่อลดผลกระทบของ PM2.5 และเกษตรเชิงเดี่ยว สามารถนำกลยุทธ์ต่อไปนี้มาใช้ได้

  • วนเกษตรและเกษตรนิเวศ ที่ส่งเสริมการปลูกพืชที่หลากหลาย ซึ่งการปลูกพืชหลายชนิดร่วมกับการปลูกต้นไม้สามารถช่วยลดการพังทลายของดิน ปรับปรุงคุณภาพอากาศ และเพิ่มความทนทานต่อมลพิษ
  • เกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์ การใช้วิธีการเกษตรที่ช่วยรักษาคุณภาพดิน เช่น การไม่ไถพรวน (no-till farming) การปลูกพืชคลุมดิน (cover cropping) และการหมุนเวียนพืชผล (crop rotation) สามารถช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
  • ลดการเผาตอซังพืช การส่งเสริมวิธีจัดการตอซังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำปุ๋ยหมักหรือการใช้เป็นพลังงานชีวภาพ สามารถช่วยลดการปล่อย PM2.5
  • การควบคุมคุณภาพอากาศ การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรม ยานพาหนะ และภาคการเกษตร สามารถช่วยลดระดับ PM2.5
  • สนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืน การให้ความรู้และสนับสนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ หรือการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อาหารการกินกับการลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ

เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า คนเมืองอาจต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเวลาอีกนาน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าปัญหานี้จะหมดไปในระยะเวลาหลายปี นอกจากมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยและงดการออกไปในที่โล่งแจ้งแล้ว อาหารการกินก็มีส่วนในการลดผลกระทบของทางเดินหายใจไปได้บ้าง

  • การเลือกทานผักและผลไม้หลากสี ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบของเซลล์ และการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อาทิ ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศ มันหวาน มะม่วง สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ กะหล่ำปลี เป็นต้น
  • การเลือกทานสมุนไพรบำรุงสุขภาพ อาทิ มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน หรือรางจืด เป็นต้น

References

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/91180

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/356706

https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/academic-articles/download?id=40747&mid=31947&mkey=m_document&lang=th&did=14456

https://spo.moph.go.th/index.php/health-calendar-general-knowledge12132023?view=article&id=831&catid=64