“สวนดินแลไม้” เป็นหนึ่งในศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองของชุมชนเมืองมหาสารคาม ภายใต้โครงการสวนผักคนเมือง ดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ที่มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุน ส่วนคนที่สร้างสวนแห่งนี้ขึ้นมา เขามีชื่อว่า “ชัยสิทธิ์ แนวน้อย”
เจ้าของสวนดินแลไม้เล่าว่า สวนแห่งนี้เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่ทำงานสายนักพัฒนาชุมชน และมีโอกาสได้ร่วมงานกับกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน ผ่านโครงการวิจัยเรื่องเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)



ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เขาได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อหาทางเชื่อมร้อยเครือข่าย และมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือชุมชนปลูกผักที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่สามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายได้ ชัยสิทธิ์เผยว่า นั่นเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาสนใจเรื่องการปลูกผักนอกเหนือจากงานพัฒนาชุมชนที่ทำอยู่
“มีชุมชนทำเรื่องการปลูกผักสร้างเศรษฐกิจของเขา คือบ้านหนองโจด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม เขาทำกลุ่มปลูกผักมาขายที่ตลาดเขียว สามารถเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงชีวิตของคนในกลุ่ม-ในชุมชนของเขาได้อย่างต่อเนื่อง ช่วงกลาง ๆ ของการทำงานวิจัย เจอโควิด-19 งดไม่ให้ออกไปทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ก็เป็นปัญหา เราตามกลุ่มนี้มาที่ตลาดเขียว ตลาดก็ปิด เป็นปัญหา แล้วจัดการยังไง เลยถือโอกาสใช้งานวิจัยช่วงนั้นสร้างเครือข่ายผู้ผลิตผัก และหาระบบส่งผักเข้าครัวเรือน เพื่อที่จะเชื่อมผลผลิตไปหาครัวเรือน และช่วยจัดการผลผลิตของพี่น้องที่ทำอยู่ให้ออกได้ ทำอย่างทุกลักทุเล กลัวด้วย ยากด้วย เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจเรื่องการปลูกผัก”
การศึกษาเชิงลึกในแบบงานวิจัย ยังมีส่วนทำให้ชัยสิทธิ์ตกผลึกถึงปัญหาสำคัญของคนปลูกผัก คือ หน้าฝนไม่สามารถทำการผลิตได้ ชัยสิทธื์จึงเสนอชุมชนบ้านหนองโจดทดลองทำโต๊ะปลูกผัก ซึ่งผลที่ออกมาไม่เพียงแก้ปัญหาได้ แต่ยังส่งผลดีตามมาอีก นั่นคือ สามารถปลูกผักเหลื่อมฤดูได้ ทำให้มีผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี
“หน้าฝนทำการผลิตไม่ได้ อาจจะมีเห็ดบ้าง มีของป่าบ้าง แต่สวนกลายเป็นสวนร้าง หรือแปลงเป็นสวนกล้วย สวนข้าวโพดไป มันจะหาอะไรแก้ได้ เลยทดลองทำโต๊ะปลูกผัก ยกแปลงขึ้น ขนดินขนอะไรขึ้นปลูก เป็นไอเดียตั้งต้นเรื่องของการปลูกผัก ทดลองกับกลุ่มบ้านหนองโจด 1 โต๊ะ 2 โต๊ะ ลองดูแล้วมันได้ผล เขามีผลผลิตขาย พอถึงต้นช่วงฤดูปลูกผัก เขาเอาโต๊ะตัวนั้นไปเป็นแปลงเพาะกล้า ทำให้สามารถปลูกผักได้ก่อนเพื่อน เรียกว่าเหลื่อมฤดูได้ โต๊ะนั้นก็ทำเงินให้เขา ขายต้นกล้า ขายผลผลิตด้วย …ตลอดทั้งปี”
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชัยสิทธิ์ตัดสินใจทำสวนดินแลไม้ เพราะต้องการเรียนรู้และเข้าถึงเรื่องของการปลูกผักด้วยตัวเอง
“เราเห็นเขาทำแล้วมันเข้าไม่ถึง เข้าถึงระดับหนึ่งในมุมของทักษะ เราไปเห็นแล้ว เอาไปคุยต่อก็ไม่ชัดเจน มันได้ไม่สุด เพราะเราไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตของเขาตลอด เจอโรค เจอปัญหาเขาจัดการยังไง เตรียมดินปรุงดินให้ดีขึ้นยังไง ก็เลือกตัดสินใจทำอยู่ที่สวนของตัวเอง ทำแปลงปลูกผักอยู่กับดิน แปลงมะเขือเทศ และผัก ทั้งปลูกขายต้นสด และเก็บเมล็ดพันธุ์ขายด้วย เก็บไว้ใช้เองด้วย เลยลงลึกในรายละเอียด ในเชิงเทคนิคชัดเจนขึ้น ได้มากขึ้น”
ชัยสิทธิ์ ในบทบาทของวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ มองว่า อนาคตการเกษตรแบบอินทรีย์ ยังมีที่ว่างสำหรับสร้างเศรษฐกิจให้กับตัวเองอีกด้วย เนื่องจากกระแสความต้องการสูง แต่ความสามารถทางการผลิตมีน้อยมาก ขณะที่ทักษะด้านการผลิตแบบอินทรีย์สำหรับผู้คนที่หลากหลายถูกเลือนหายไปมาก รวมทั้งความสามารถทางการผลิตของตลาดเขียวในช่วงหน้าฝนและร้อนจัดด้วย
“ทั้งคนที่เป็นเกษตรกรตามหมู่บ้าน หรืออยู่ในเขตพื้นที่เมืองที่ทำอยู่ด้วย ออกชื่อพริกกับมะเขือ ยังบอกผิดเลย จำไม่ถูกเลย เวลาดูโต๊ะปลูก ถามคำถามแบบเรื่องพวกที่ไม่น่าถาม เช่น ผักชีต้องกินตอนออกดอกสีเหลือง หรือว่ากินตั้งแต่เขายังเป็นต้นเล็กๆ ก็ได้ แสดงว่าในสังคมยังมีที่ว่างของเรื่องพวกนี้ และความสามารถทางการผลิตของเครือข่ายตลาดเขียวช่วงหน้าฝนยังมีที่ว่างมาก ผักจะแพงมากช่วงหน้าฝนและในช่วงร้อนจัด
“การปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับเรื่องพวกนี้ยังไม่ถูกทำให้เปลี่ยน กระตุ้นให้เปลี่ยน จำเป็นต้องปรับปรุงตัวเอง แล้วทดลองทำ แล้วขายไอเดียเรื่องพวกนี้ให้กับกลุ่มเครือข่ายตลาดเขียว กลุ่มผู้บริโภคที่มาซื้อ หรือว่าคนสนใจทั่วไป ชวนให้เขารู้จักผ้าพลาสติกคลุมโรงเรือน ชวนให้เขานำวัสดุเหลือใช้ หรือสิ่งของต่าง ๆ มาทำโต๊ะปลูก ปรับไม้ไผ่แทนการผลิตปรับเป็นโครงโรงเรือน ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ควบคุมหรือจัดการน้ำ จุดเดิมที่ผมทำงานกับมหาสารคามจะเป็นพื้นเพแบบนี้”
ปัจจุบันผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสวนดินแลไม้ ส่วนของพืชผักมีตั้งแต่ สลัด ขึ้นฉ่าย คะน้า และต้นหอม ทั้งยังมีพวกวัสดุโครงสร้างต่าง ๆ สำหรับปลูกผักด้วย อาทิ ดินปลูก ขี้วัว รวมถึงงโรงเรือนส่งเสริมเรื่องการปลูก นั่นคือ โต๊ะปลูก อย่างไรก็ตาม ชัยสิทธิ์ยอมรับว่า เหล่านี้ยังทำรายได้ให้กับเขาไม่มาก เพราะส่วนตัวไม่เก่งเรื่องงานขาย
“ชีวิตงานพัฒนาก็ส่วนหนึ่ง ต้องดูแลและจัดการคนเดียว เราทำได้ไม่เต็มที่ อันที่สอง ผมเป็นคนไม่เก่งเรื่องการขายของ เราฝากเขาขาย มีเพื่อนสั่งค่อยตัดไปส่ง บางทีทำเยอะ ๆ จัดการไม่ได้ก็เป็นอาหารของไก่ของปลาไป ความสุขอยู่ที่ได้ทำมากกว่า ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการเก็บขายผลผลิต เป็นข้อเสียของผมเลย ขายไม่เก่ง บางทีเวลาเราขาย ถ้าเป็นนักขายเขาจะมีความรู้สึกว่าให้เท่านี้นะ ราคาเท่านี้ แต่เราเป็นสายนักพัฒนาด้วย ขายขาดทุนไม่ว่า ขายหน้าไม่ได้ แถม ๆ บางทีไม่ขายก็แบ่งให้เลย นิสัยแบบนี้มากกว่า เวลาลงไปชุมชนที ผมจะหิ้วเมล็ดพันธุ์ที่ผมเก็บเองไปแจก สะพายกระเป๋าไปแล้วแจก ไม่เคยขาย มีแตงกวาขาว หนามดำ มะเขือเทศส้มตำ ผักเสี้ยน ปีที่แล้วผมเก็บสลัด 4-5 สายพันธุ์ได้ถึง 2-3 ขีด”




ในส่วนของบทบาทการเป็นผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนเมืองมหาสารคาม ชัยสิทธิ์นำประสบการณ์ความรู้เรื่องการทำโต๊ะปลูกผัก ถ่ายทอดให้กับศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองกับ 3 ชุมชนเมืองมหาสารคามอีกด้วย ได้แก่ ชุมชนเครือวัลย์ 2 ชุมชนตักสิลา 1 และชุมชนบ้านแมด รวมทั้งชุมชนโพธิ์ศรี 1 ที่แม้ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ แต่สนใจและแสดงเจตจำนงจะเข้าร่วมโครงการฯ ในอนาคต
สำหรับเคล็ดลับฝากถึงนักปลูกหน้าใหม่ ชัยสิทธิ์แนะนำว่า หลักใหญ่คือ การดื่มด่ำความสุขของการปลูกผัก ไม่ได้อยู่ที่รสชาติของผัก แต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการเฝ้าดูผักที่ปลูกตั้งแต่เล็ก ๆ เฝ้าเพียรบำรุงจนถึงการเก็บเกี่ยวต้นมากิน เก็บเกี่ยวเมล็ดไว้ขยายพันธุ์ต่อ
“อย่าลวก ๆ ทำให้เห็นลึก ๆ แล้วเราจะมีความสุขกับมัน” คือคำแนะนำของหนุ่มนักพัฒนาและคนปลูกผักคนนี้
“คุณได้กินผักที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เต็มไปด้วยความอร่อยของรสชาติ เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของตัวเองในการบ่มเพาะดูแลเขาจนเป็นผลผลิตให้ อันนี้คือความสุขที่คุณดื่มด่ำ เราต้องดื่มด่ำไปถึงขั้นนี้ครับ สำหรับหน้าใหม่ความสุขมันอยู่ตรงนี้ ไม่ต่างกันกับการกินมะเขือเทศสดด้วยปากของตนเอง ด้วยฝีมือที่เราปลูก และเฝ้าเพียรดูแลเอง เราถึงเข้าใจและเราจึงจะเข้าถึงความสุขของพืชผักเหล่านั้น
“ผมไม่รู้ว่าจะเป็นความสุขของคนอื่นไหม แต่อันนี้เป็นเรื่องราวของผม ว่า ผมไม่เคยกินมะเขือเทศสดเลย แม้กระทั่งใส่ส้มตำก็เขี่ยออก ไม่กินเข้าปาก แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เราได้ลงมือปลูกเอง ชิมต้นนี้ที ให้รสชาติดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ชิม เราถึงรับรู้ว่า นั่นคือความสุขของคนปลูกผัก สลัดไม่เคยกินเลย ก็ได้มาปลูกเอง ถึงได้รู้ว่า พันธุ์นี้อร่อย พันธุ์นี้ไม่อร่อยนะ อร่อยเกิดขึ้นต่อเมื่อมันพอดีพองามสำหรับการกิน ทั้งเรื่องเวลา ทั้งเรื่องของช่วงอายุ ทั้งช่วงของการเก็บเกี่ยว นี่คือรายละเอียดเชิงลึก”
ส่วนคนที่ลงมือปลูกผักแล้ว รู้สึกว่ายาก ท้อ และถอยดีกว่า กลับไปซื้อกินเหมือนเดิม ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมืองมีข้อแนะนำว่า ลงมือทำครั้งเดียวไม่มีทางสำเร็จ ต้องทำมันซ้ำ ๆ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยน อย่าท้อ
“ผมลองผิดลองถูก เพียรทำอยู่ 3-4 ปี เราถึงเข้าใจ เราถึงเข้าถึง รู้ซึ้งถึงเรื่องของผัก ถ้าคุณลงมือทำครั้งเดียว ผิดแล้วเลิกไปเลย ก็ไม่ต่างกันหรอก ถ้าคุณไปทำอย่างอื่น โอกาสของความผิดพลาดมันก็เยอะ แล้วคุณเลิกไป ไม่มีทางที่จะสำเร็จ ลงมือ 10 ครั้ง สำเร็จซักครั้งสองครั้ง ลงไปอีกซัก 20 ครั้งก็สำเร็จเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือการเรียนรู้ของเรา ล้มแล้วไม่ลุก พลาดแล้วไม่เริ่ม มันก็จบ”
ทิ้งท้ายสำหรับคุณสมบัติของนักปลูกที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ในทัศนะของชัยสิทธิ์คือ
หนึ่ง เดินเข้าสวนบ่อยๆ อย่ารอคอยให้มันเติบโตเอง
สอง รู้ผ่านการปฏิบัติและเรียนให้ลึก ๆ เปรียบเทียบได้ว่า ให้รู้ตั้งแต่ปลายรากจนถึงปลายใบและดอก
และสาม ความชอบไม่ใช่จุดเริ่มต้น ความชอบอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่การลงมือทำ เพียรทำซ้ำ ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน นี่จึงถือเป็นทักษะพื้นฐานที่คนปลูกผักจะต้องมี
แม้ผักปลูกแบบเดียวกัน บริบทเดียวกัน การให้ข้อมูลเข้าไปแบบเดียวกัน แต่ว่าช่วงฤดูเปลี่ยน เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมเปลี่ยนก็ให้ผลที่แตกต่างกันมาก การเฝ้าดูแลผักและดูความเชื่อมโยงของตนเองกับผัก กับสภาพแวดล้อมของแสง ความชื้นของฝน เราจะเห็นแง่มุมที่ละเอียดขึ้น ถ้าลึกเข้าไปอีกแบบดื่มด่ำ คือ ได้กินผลผลิตที่ดี และมีคุณภาพด้วยน้ำมือเรา
สำหรับชัยสิทธิ์ เขายืนยันว่า นั่นคือสุนทรียภาพของคนปลูกผัก ถ้าจะให้ลึกเข้าไปอีก พืชผักเหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตเรา สร้างรายได้ให้กับเรา และเติมเต็มความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ได้กิน ได้แบ่งปัน
“อันนี้คือการดื่มด่ำของความสุขที่ลึกสุด ๆ” หนุ่มนักพัฒนาและคนปลูกผักนาม “ชัยสิทธิ์ นวลน้อย” กล่าว